ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า โซเชียลมีเดียและสื่อสังคมออนไลน์ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของเราในฐานะพื้นที่รับข้อมูลข่าวสารและแสดงออกถึงตัวตนบนโลกออนไลน์ไปแล้วเรียบร้อย ซึ่งมันมีมีอิทธิพลต่อตัวเราไม่ต่างจากโลกจริงเลย เพราะมันมีความเป็นกลุ่ม ความเป็นสังคม อย่างเช่น เราจะเป็นเพื่อนและติดตามคนที่เรารู้จักบนโซเชียลมีเดียเท่านั้น หรือคนที่มีความชอบ ความคิดต่าง ๆ คล้ายกัน ทำให้สิ่งที่ปรากฏบนฟีดหน้าจอนั้นปรากฎไปด้วยสิ่งที่มีความสอดคล้องกับตัวตนของเรา เพราะมันเป็นสิ่งที่เราเลือกติดตาม และที่สำคัญมันสามารถส่งอิทธิพลต่อเราได้
โดยเฉพาะกลุ่ม Gen Z ที่เติบโตมากับอิทธิพลของเทคโนโลยีและโซเชียลมีเดียอย่างเต็มรูปแบบ ถึงแม้ว่าโซเชียลมีเดียสมัยนี้มีความหลากหลายสูงมากก็ตาม แต่ในขณะเดียวกัน สังคมของเราก็มีอิสระสูง เราจะติดตามใครก็ได้ที่เราสนใจ ซึ่งหนึ่งในนั้นรวมถึงเหล่าอินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) ผู้ซึ่งมีอิทธิพลต่อโลกออนไลน์ที่มีความโดดเด่นบางอย่างจนทำให้มีผู้ติดตามเป็นจำนวนมาก โดยอินฟลูเอนเซอร์นี้ก็มีหลากหลายรูปแบบ หนึ่งในอินฟลูฯ ที่เป็นที่รู้จักและได้รับความสนใจในปัจจุบันนั้นเป็นคนหน้าตาดี คนที่มีสัดส่วนร่างกายตามค่านิยม หรือตามมาตรฐานความงาม (Beauty Standard) ของคนยุคนี้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เองที่มีอิทธิพลต่อการรับรู้ทางด้านร่างกายของเรา (Body Image)
Body Image หรือการรับรู้ทางด้านร่างกาย คือความคิดของเราที่มีต่อร่างกาย หากมีการปลูกฝังแนวคิดทางด้านร่างกายไม่ดี ก็อาจส่งผลให้เรามีร่างกายที่ผอมหรืออ้วนเกินไป ในที่นี้หมายถึงในเกณฑ์ที่ส่งผลร้ายต่อร่างกายและสุขภาพจริง ๆ ไม่ใช่ในเกณฑ์ที่คนในสังคมชื่นชอบ ทั้งนี้ มาตรฐานความงามมีอิทธิพลอย่างมากต่อการรับรู้ทางด้านร่างกายของเรา ยกตัวอย่างมาตรฐานความงามของไทยสมัยก่อน (หรืออาจรวมถึงสมัยนี้) ผู้หญิงไทยนิยมมีรูปร่างผอมและมีผิวขาว ซึ่งทำให้กลุ่มคนที่ไม่ตรงตามมาตรฐานความงามนี้รู้สึกไม่มั่นใจ ไม่พึงพอใจในร่างกายของตน ส่งผลให้ขาดความมั่นใจ ในบางกรณี บางคนถึงกับยอมทาสารปรอทเพื่อทำให้มีผิวขาวเพื่อให้ตนเองสามารถอยู่ภายใต้มาตรฐานความงามนี้ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเศร้ามากที่คนเราต้องเปลี่ยนแปลงร่างกายตัวเองเพื่อให้เป็นที่ยอมรับของสังคมขนาดนี้
ถือว่าปัญหาการรับรู้ทางด้านร่างกายนี้เป็นปัญหาทั่วโลก เพราะใคร ๆ ก็ต้องการการยอมรับจากส้งคม ไม่ว่าจะเป็นสังคมโลกจริงหรือจากสังคมโลกออนไลน์ จนทำให้ผู้วิจัยจากสมาคมจิตวิทยาอเมริกัน (American Psychological Association : APA) ได้ทำวิจัยเพื่อศึกษาว่า หากใช้เวลาในสังคมออนไลน์น้อยลง ผู้คนจะมีการรับรู้ทางด้านร่างกายดีขึ้นไหม? จนได้ออกมาเป็นงานวิจัย Reducing social media use significantly improves body image in teens, young adults หรือ การใช้โซเชียลมีเดียที่ลดลงส่งผลต่อการรับรู้ทางด้านร่างกายต่อวัยรุ่นและผู้ใหญ่ตอนต้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งผู้เข้าร่วมการทดลองในครั้งนี้ มีจำนวน 220 คน เป็นเพศหญิงจำนวน 76% เพศชาย 23% และเพศอื่น ๆ อีก 1% โดยมีอายุตั้งแต่ 17-25 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มคน Gen Z นั่นเอง
จากการเก็บข้อมูล ผู้ทำวิจัยพบว่า ผู้ที่มีอัตราการใช้โซเชียลมีเดียสูง มักมีการรับรู้ทางด้านร่างกายของตนเองต่ำ ซึ่งมีความเสี่ยงทำให้เกิดโรคที่มีความผิดปกติด้านการกินได้ (Eating Disorders) เช่น โรคอะนอเร็กเซียหรือโรคคลั่งผอม (Anorexia) และโรคบูลิเมียหรือโรคกินแล้วล้วงคอ (Bulimia Nervosa) โดยเฉพาะในช่วงวัยรุ่น การรับรู้ทางด้านร่างกายกายของตนเองนั้นมีความเปราะบางมาก เพราะเป็นวัยที่เริ่มเข้าสังคมอย่างจริงจัง ถ้าหากมีการรับรู้ทางด้านร่างกายไม่ดีก็อาจเกิดความเข้าใจที่ผิดไป เช่น มองว่าผอมแปลว่าสุขภาพดีและเป็นที่รักของคนในสังคม หรือมองว่าผิวขาวคือส่ิงที่คนส่วนใหญ่ยอมรับ เป็นต้น ซึ่งถ้าหากนำความคิดเหล่านี้ไปเปรียบเทียบกับสิ่งที่ตนเองเป็น คนที่ตรงตามมาตรฐานก็จะรู้สึกดี แต่ถ้าคนที่ไม่ตรงตามมาตรฐาน ก็จะยิ่งทำให้รู้สึกแย่กับร่างกายตัวเองมากขึ้น ดังนั้น สังคมมีผลต่อการรับรู้ทางด้านร่างกายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นในสังคมจริงหรือสังคมออนไลน์ก็ตาม
ทีมวิจัยได้ให้ผู้เข้าร่วมการทดลองใช้โซเชียลมีเดียให้น้อยลง เหลือเพียง 2 ชั่วโมงต่อวันเท่านั้น และสัปดาห์ต่อมาก็ลดให้เหลือเพียง 1 ชั่วโมง ผลปรากฏว่า ผู้เข้าร่วมการทดลองรู้สึกดีขึ้นกับร่างกายตัวเอง และรู้สึกว่าสุขภาพจิตของตนเองดีขึ้น อีก 3 สัปดาห์ต่อมา พบว่า ผู้เข้าร่วมวิจัยมีพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์โดยเฉลี่ยเพียง 1 ชั่วโมง 18 นาทีเท่านั้น ทั้งนี้ ทีมผู้วิจัยกล่าวว่า การทดลองนี้ควรมีการศึกษาเพิ่มเติมโดยใช้เวลาที่นานกว่านี้เพื่อทดสอบว่าการเล่นโซเชียลมีเดียลดลงนี้สามารถส่งผลบวกต่อสุขภาพจิตได้อย่างแท้จริงหรือไม่
สำหรับใครที่กำลังคิดว่า “หรือฉันจะลองเล่นโซเชียลให้น้อยลงดี” ลองดูเลย! เพราะนอกจากจะช่วยให้เราไม่เปรียบเทียบต้วเองกับใครแล้ว ยังทำให้เรามีเวลาไปทำอย่างอื่นมากขึ้น และได้อยู่กับตัวเองมากขึ้นด้วย
อ้างอิง: https://extension.usu.edu/nutrition/research/body-image-in-adolescence