Oversharing เมื่อการแชร์เรื่องส่วนตัวมากเกินไป อาจส่งผลต่อสุขภาพจิตของเราได้

เมื่อชีวิตถูกถาโถมเข้ามาด้วยปัญหา คงไม่ใช่เรื่องแปลกนัก ถ้าเราจะรู้สึกเครียดและรู้สึกกดดันจนอยากเล่าความอัดอั้นภายในใจให้ใครสักคนฟัง ไม่ว่าจะในชีวิตจริงหรือบนโลกออนไลน์ก็ตาม แต่บางครั้งบางที การได้เล่าเพื่อระบายออกไปสักเรื่องแล้ว ย่อมนำมาซึ่งความเครียดและความกังวลในเรื่องอื่น ๆ ตามมา และมันดันทำให้เราเผลอแชร์เรื่องที่ไม่จำเป็นไปมากกว่าที่ควร พฤติกรรมการแชร์มากเกินไปนี้เองเรียกว่า Oversharing หรือการแชร์เรื่องราวของเราเองมากเกิน การได้ระบายความในใจเป็นสิ่งที่ดีต่อสุขภาพจิตก็จริง แต่ก็ควรจะระมัดระวังขอบเขตของเรื่องราวที่เราจะเล่าด้วย ซึ่งวันนี้เราจะไปทำความรู้จักกับพฤติกรรมนี้ให้มากขึ้นกัน


สุขภาพจิต หรือ Mental Health คืออะไร?

สุขภาพจิต Mental Health คือภาวะของจิตใจเราที่เกิดขึ้น ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากตัวเราเอง เช่น ตัวตนของเรา ความคิดของเรา ความรู้สึกที่มีต่อตัวเองและผู้อื่น การมองโล การมีความเข้าใจและรู้เท่าทันต่ออารมณ์และความรู้สึกของตนเอง รวมไปถึงมีการตระหนักรู้ว่าอารมณ์เชิงลบเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นได้สำหรับทุกคน รู้ว่าควรรับมือกับอารมณ์เชิงลบอย่างไรให้เหมาะสมกับตนเอง รวมถึงสิ่งรอบตัวต่าง ๆ  ตั้งแต่อาหารการกิน การอยู่อาศัย ไปจนถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน ครอบครัว เพื่อน คนรัก เพื่อนที่ทำงาน เป็นต้น 

เช็กปัญหาสุขภาพจิตเบื้องต้นได้ที่นี่


Oversharing คืออะไร?

Oversharing คือพฤติกรรมที่มีการแชร์หรือบอกเล่าเรื่องราวของตัวเราเองให้ผู้อื่นรับรู้ผ่านการพูดคุยระหว่างกัน หรือเป็นการโพสต์เรื่องราวต่าง ๆ บนโลกออนไลน์ก็ด้วยเช่นกัน โดยความต้องการที่แสดงความคิดเห็น ระบายความกังวลและความเครียดภายในใจ หรืออาจเพื่อเป็นการเล่าเรื่องราวในบทสนทนาทั่วไปด้วยก็ได้ 

ง่าย ๆ เลย Oversharing ก็คือการบ่นตามปกติทั่วไปอย่างที่เราคุ้นเคยกัน แต่มันจะเป็นการบ่นที่อยู่ในระดับที่มากกว่าปกติ รวมถึงมีการบ่นซ้ำ ๆ และบ่นเหมือนเดิม ซึ่งอาจเกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ เช่น ปัญหาที่อยู่ในบทสนทนายังไม่ได้รับการแก้ไข หรืออีกอย่างหนึ่ง ผู้พูดอาจจะยังรู้สึกมีความกังวลเกี่ยวกับเรื่องนั้นอยู่ พูดง่าย ๆ ก็คือยังไม่มูฟออนนั่นเอง ยกตัวอย่างเหตุการณ์ เพื่อนเพิ่งเลิกกับแฟนมา เพื่อนเสียใจมากจึงขอคุยกับเราทุกวันเลย เพื่อบ่นในเรื่องเดิมซ้ำ ๆ เป็นต้น ซึ่งในโลกแห่งความเป็นจริง ถ้าผู้พูดและผู้ฟังรู้จักกันเป็นอย่างดี จะทำให้ไม่มีอคติหรือมุมมองแย่ ๆ ต่อกัน 

แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ Oversharing เป็นเรื่องที่เราทำได้อย่างสบายใจได้เสียทีเดียว ในโลกแห่งความเป็นจริง Oversharing อาจไม่ได้สร้างปัญหาอะไรมากให้กับผู้พูด แต่ในขณะเดียวกัน Oversharing ในโลกออนไลน์อาจนำมาซึ่งปัญหาให้กับผู้พูดตามมาได้ เช่น เราโพสต์เรื่องของตัวเองในทุก ๆ เรื่องลงไปในโซเชียลมีเดีย ซึ่งรวมถึงเรืองส่วนตัวด้วย ยิ่งถ้าหากเป็นโซเชียลมีเดียที่มีคนไม่รู้จักมาติดตามเราด้วย อาจทำให้เราโดนตัดสิน ใส่ร้ายป้ายสี นำไปนินทา ซึ่งนำมาซึ่งความวิตกกังวลและความเครียดมาให้กับเราในอีกทางหนึ่งด้วยก็ได้ 

นอกจากนี้ ในส่วนของสาเหตุการที่เรา Oversharing นักจิตวิทยายังมองว่า การ Oversharing อาจเกิดได้จากปัญหาสุขภาพจิตบางอย่าง เช่น ขาดการควบคุมตนเองที่ดี หรืออาจต้องการความสบายใจที่มาจากผู้อื่น เนื่องจากตัวเราเองไม่มั่นคงพอ เราจึงบอกเรื่องของเราให้คนอื่นฟังเพื่อให้คนอื่นช่วยปลอบเรา หรือในอีกแง่หนึ่ง คนที่ชอบแชร์อะไรมาก ๆ อาจมีลักษณะนิสัยของคนหลงตัวเอง (Narcissism) ก็เป็นได้ เพราะคนกลุ่มนี้ต้องการให้คนอื่นมาสนใจ ซึ่งการ Oversharing สามารถทำให้พวกเขากลายเป็นจุดสนใจของคนหมู่มากได้  

ข้อควรระวังในการ Oversharing 

ถึงแม้ว่าหลาย ๆ คนจะมีภูมิคุ้มกันในเรื่องของการใช้โซเชียลมีเดีย และไม่ได้แคร์ แยแส หรือใส่ใจว่าใครจะพูดอะไรเกี่ยวกับตัวเองมากนัก เพราะการโดนนินทาหรือโดนบูลลี่บนโลกออนไลน์ได้กลายเป็นความจริงรูปแบบหนึ่งที่ทุกคนอาจจะต้องพบเจออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้แต่ดาราหรือเซเลบริตี้ต่าง ๆ ยังไม่วายได้รับการโจมตีจากคนทั่วไปเลย ในขณะที่เราเป็นตาสีตาสา จะเจอเรื่องแบบนี้บ้างก็ไม่แปลกอะไรนัก (ถึงแม้ว่ามันจะไม่ควรเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นปกติก็ตาม แต่เราห้ามให้มันเกิดก็ไม่ได้เช่นกัน) 

แต่สิ่งหนึ่งที่ควรคำนึงไว้ในการเล่าหรือแชร์อะไรให้ใครฟัง นั่นก็คือ “ขอบเขต” หรือ Boundaries ของตัวเรา เรื่องนี้เล่าให้ใครฟังได้บ้าง คนอื่นรู้ได้ลึกขนาดไหน และเราอยากบอกเรื่องนี้ให้คนอื่นรับรู้หรือไม่ เราเป็นผู้ที่สามารถกำหนดขอบเขตและบริบทของเรื่องเล่าที่ออกมาจากตัวเราได้ เพื่อปกป้องตัวเราเองและเพื่อให้ไม่มีคนนำข้อมูลที่ออกจากเราไปใช้ต่ออย่างเสีย ๆ หาย ๆ อีกด้วย 

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ขอบเขตในชีวิต หรือ Boundaries

นอกจากนี้ สำหรับบางอาชีพ Oversharing บนโลกออนไลน์อาจส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ได้เช่นเดียวกัน หากคุณเป็นคนที่ทำงานที่เกี่ยวข้องกับมวลชน ไม่ว่าจะเป็นอินฟลูเอนเซอร์ ดารา ศิลปิน นักวิชาการ คุณครู นักจิตวิทยา หรืออาชีพใดก็ตามที่มีผู้ติดตามและให้ความเคารพแก่คุณ การจะแชร์อะไรบนโลกออนไลน์อาจจะต้องคิดมากกว่าคนอื่นเสียหน่อย เพราะมันอาจกระทบต่อภาพลักษณ์ ความน่าเชื่อถือ รวมถึงความเป็นมืออาชีพในการทำงานได้ด้วย

เพราะเรื่องราวส่วนตัวไม่ใข่เรื่องที่เราจะเล่าให้ทุกคนฟังได้อย่างสบายใจ เราต้องจัดการขอบเขตในชีวิตเราให้ดีและแน่นหนา รวมถึงเคารพความเป็นส่วนตัวของตัวเราเองและผู้อื่นด้วย ไม่งั้น Oversharing ที่อาจทำให้สบายใจเพียงชั่วครู่ อาจวกกลับมาทำร้ายเราและส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตเป็นระยะเวลานานได้ 

อ้างอิง

Therapy, N. U. (2023, August 8). How To Break Your Oversharing Habit. New U Therapy Center & Family Services.

Travers, M. (2023, October 31). 3 Reasons Why You Overshare Online, According To A Psychologist. Forbes.  

Love, S. (2024, January 25). When we can share everything online, what counts as oversharing? The Guardian.