ควันหลงจากโอลิมปิก ชวนมาดูความสำคัญของ “จิตวิทยา” ในวงการกีฬา

cr. Andrew Medichini – AP Photo

หากพูดถึงไฮไลต์ของปี 2024 หนึ่งในนั้นต้องมีการพูดถึงมหกรรมกีฬาของมวลมนุษยชาติอย่าง “โอลิมปิก” เป็นอย่างแน่ นอกจากโอลิมปิกจะทำให้เราได้เห็นความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของมนุษยชาติในฐานะประชาคมโลกแล้ว ยังทำให้เราได้เห็นความเข้มแข็งของแต่ละชาติในการส่งแรงใจเชียร์คนจากชาติของตน และแน่นอนว่า เราได้เห็นการสู้ยิบตาของนักกีฬาและความพยายามฝึกซ้อมของพวกเขาที่บ่มเพาะมาตลอดระยะ 4 ปี   

ระหว่างทางกว่าพวกเขาแต่ละคนจะถูกคัดเลือกเข้ามาแข่งโอลิมปิกในแต่ละครั้งนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายดาย นอกจากจะต้องเตรียมพร้อมร่างกายให้แข็งแรงในกรพร้อมรับมือกับคู่ต่อสู้ในทุกสถานการณ์แล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่พวกเขาต้องเตรียมพร้อมมาอย่างเข้มข้นไม่แพ้กัน นั่นก็คือ “ความพร้อมทางด้านจิตใจ” การแข่งขันกีฬาเป็นกิจกรรมที่มีความกดดันในตัวมันเองอยู่แล้ว แต่นักกีฬาระดับโอลิมปิกนี้ต้องเจอความท้าทายทางด้านจิตใจอะไรบ้าง ลองมาอ่านในบทความนี้กัน

ตัวอย่าง 3 ความท้าทายทางด้านจิตใจที่นักกีฬาต้องเผชิญ

  • ความกดดัน

จุดมุ่งหมายสูงสุดขอการแข่งกีฬาคือเพื่อ “ชัยชนะ” แน่นอนว่า ความอยากชนะนี่แหละเป็นปัจจัยแรก ๆ ที่ทำให้นักกีฬาเกิดความกดดัน ทั้งเป็นความกดดันที่เกิดจากตัวพวกเขาเอง และความกดดันจากคนรอบข้าง หากความกดดันที่เกิดขึ้นอยู่ในระดับที่พอดีและตัวนักกีฬาเองสามารถจัดการกับมันได้อย่างเหมาะสม ความกดดันที่เกิดขึ้นนี้ย่อมเป็นผลบวกและเป็นประโยชน์ในการผลักดันให้พวกเขาฝึกซ้อมอย่างหนักมากขึ้น แต่ถ้าหากความกดดันนี้มากเกินไปและนักกีฬาไม่สามารถรับมือได้อย่างเหมาะสม แน่นอนว่า มันจะส่งผลที่แย่ต่อตัวนักกีฬาและส่งผลให้ผลลัพธ์ในสนามออกมาน่าผิดหวังตามไปด้วย ทำให้การมีทักษะในการรับมือกับความกดดันและการจัดการอารมณ์เป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับนักกีฬาอย่างมาก

Michael Phelps นักกีฬาว่ายน้ำชาวอเมริกัน เจ้าของเหรียญโอลิมปิกกว่า 28 เหรียญเป็นหนึ่งในนักกีฬาที่ได้รับผลกระทบจากความกดดัน โดยเขาได้เปิดเผยว่า จากความกดดันในการแข่งขันส่งผลให้เขาเป็นโรควิตกกังวลเรื้อรัง รวมถึงเป็นโรคซึมเศร้าอีกด้วย 

  • ความเข้มงวดในการใช้ชีวิต

หากนักดนตรีเก่ง ๆ ถูกมองว่าขายวิญญาณให้กับซาตานในการแลกมาด้วยฝีมือการเล่นดนตรีที่น่าจดจำแล้ว การเป็นนักกีฬาที่เก่งก็ย่อมแลกมาด้วยวิถีชีวิตที่เข้มงวดขัดกับคนธรรมดาเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการคุมน้ำหนัก คุมอาหาร ตารางการฝึกซ้อมตลอดทั้งวันที่อัดแน่น คำติชมจากการฝึกซ้อม ทำให้พวกเขาอาจไม่ได้มีช่วงเวลาที่ได้ออกไปใช้ชีวิตตามต้องการเสียเท่าไหร่ ซึ่งในบางครั้งอาจทำให้นักกีฬาหลาย ๆ คนรู้สึกท้อ หมดไฟ หมดกำลังใจ ไร้เรี่ยวแรง จนทำให้เลิกเล่นกีฬาไปเลยก็ได้เช่นกัน 

ซึ่งเหตุผลนี้ทำให้นักกีฬาหลาย ๆ คนตั้งเป้าหมายที่จะเก็บเกี่ยวประสบการณ์ด้านกีฬาในช่วงวัยหนึ่งให้เต็มที่ ก่อนจะตัดสินใจเลิกเล่นกีฬาในเวลาต่อมา เช่นเดียวกับ เทนนิส – พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ ที่ตัดสินใจลาวงการเทควันโดเนื่องจากปัญหาด้านสุขภาพที่เกิดจากความเข้มงวดของกฏการแข่งขันที่ต้องควบคุมน้ำหนักและความพึงพอใจส่วนตัวนั่นเอง 

  • ระยะห่างในความสัมพันธ์และสังคม

เนื่องจากเวลาของชีวิตส่วนใหญ่ใช้ไปกับการฝึกซ้อมแและการแข่งขัน ทำให้หลาย ๆ ครั้งนักกีฬาอาจไม่ได้มีเวลามากพอในการรักษาความสัมพันธ์และวงสังคมอื่น ๆ จนทำให้ความสัมพันธ์อันดีขาดหายไป และอาจทำให้กำลังใจหายไปตาม ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาในความสัมพันธ์ ส่งผลให้เกิดความเครียดตามมาได้ ดังนั้น การรักษาสมดุลชีวิตให้เหมาะสมจึงเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับพวกเขา 

ว่าด้วยเรื่องของ จิตวิทยาการกีฬา

เพื่อให้นักกีฬามีชีวิตความเป็นอยู่ทางด้านร่างกายและจิตใจอย่างเหมาะสมไปพร้อมเพรียงกัน ตรงนี้คือส่วนที่ “จิตวิทยาการกีฬา” ได้เข้ามามีบทบาท 

จิตวิทยาการกีฬา (Sport Psychology) คืออะไร? จิตวิทยาการกีฬาเป็นแขนงของจิตวิทยาประยุกต์รูปแบบหนึ่งที่ในการช่วยผลักดันขีดศักยภาพความสามารถทางการกีฬาของนักกีฬา และช่วยในการดูแลความเป็นอยู่ทางด้านร่างกายและจิตใจของนักกีฬานั่นเอง 

ตัวอย่างของจิตวิทยาในวงการกีฬา

  • ผลักดันศักยภาพ

เทคนิคและวิธีการในการผลักดันศักยภาพของนักกีฬามีหลากหลายรูปแบบมาก อาทิ การจัดการความเครียด การรับมือกับความกดดัน การศึกษานักกีฬาคนอื่น ๆ การรักษาจุดโฟกัส การจัดการกับสิ่งรบกวนต่าง ๆ รวมไปถึงการสร้างความมั่นใจให้กับนักกีฬา สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นแรงสำคัญในการทำให้นักกีฬาสามารถแสดงศักยภาพได้อย่างเต็มที่

  • ดูแลสภาพจิตใจ

นอกเหนือจากความกดดันที่เกิดขึ้นกับสภาพจิตใจของนักกีฬาได้โดยตรงแล้ว นักกีฬายังประสบกับภาวะอาการที่รบกวนพวกเขาโดยไม่รู้ตัว เช่น การเกิดความเครียดและความกดดันจนส่งผลต่อการทานอาหารที่ผิดปกติ การจัดการความเครียดที่ไม่เหมาะสม เช่น การใช้สารเสพติด รวมไปถึงการหมดกำลังใจในระหว่างการแข่งขัน จึงเป็นหน้าที่ของโค้ชหรือนักจิตวิทยาการกีฬาที่จะช่วยดึงพวกเขากลับมาโฟกัสกับสิ่งที่ควรจะทำ และช่วยในการดูแลสุขภาพกายควบคู่ไปกับสุขภาพจิตด้วย

  • ให้คำปรึกษาต่าง ๆ

ความเครียดและความกดดันไม่เลือกเวลาเกิดและไม่เลือกที่เกิด บางครั้งมันเกิดขึ้นในช่วงที่นักกีฬากำลังอยู่ในการแข่งขันหรือช่วงทัวร์นาเมนต์ ซึ่งความเครียดเหล่านี้เองสามารถส่งผลต่อศักยภาพและสภาวะจิตใจของนักกีฬาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงเป็นหน้าที่ของโค้ชหรือนักจิตวิทยาการกีฬาในการช่วยซัพพอร์ตและให้คำปรึกษาเบื้องต้นเพื่อให้พวกเขาโฟกัสกับการแข่งขันก่อนเป็นอย่างแรก 

เพราะกว่าจะเดินทางไปเก็บเหรียญรางวัลแต่ละเหรียญไม่ใช่เรื่องง่าย นักกีฬาต้องเผชิญหน้ากับความกดดันทางด้านร่างกายและด้านจิตใจมาเป็นระยะเวลานาน ในฐานะผู้ชม สิ่งที่เราทำได้คือการชื่นชมกับความพยายามของพวกเขาทุกคน แม้ว่าอาจได้รางวัลมาบ้างหรือไม่ได้อะไรติดตัวมาเลยบ้างก็ตาม แต่พวกเขาก็ทำหน้าที่ในการเป็นนักกีฬาได้ดีที่สุด ณ ตอนนั้นแล้ว ไว้มาส่งแรงเชียร์พวกเขาอีกครั้งใน LA 2028 กันนะ

อ้างอิง

Sport Psychology. (n.d.). https://www.apa.org.

Abrams, Z. (2024, July 31). How sport psychologists are helping Olympians in Paris. https://www.apa.org.