โรคหลงตัวเอง (Narcissistic Personality Disorder) ทำไมการหลงตัวเองถึงเป็นโรค?

เราอาจจะคุ้นเคยกับคนที่มีนิสัยหลงตัวเองว่าเป็นคนที่ยกยอปอปั้นตัวเอง เข้าข้างตัวเอง ไม่ได้มองโลกตามความเป็นจริงเท่าไรนัก และมักมีความคิดที่ว่า “ไม่มีใครดีเท่าฉันแล้ว” หากมองอย่างผิวเผินการเป็นคนหลงตัวเองไม่ได้น่าเป็นปัญหาเท่าไรนัก ยกเว้นเจ้าตัวจะโดนมองด้วยสายตาไม่ดีจากรอบข้างมากกว่า และอาจทำให้คนรอบข้างรับมือกับคนนิสัยแบบนี้ยากหน่อย แต่มันถึงกับเป็นโรคทางจิตเวชเลยเหรอ?  

โรคหลงตัวเอง Narcissistic Personality Disorder คืออะไร?

โรคหลงตัวเอง หรือเรียกย่อ ๆ ในภาษาอังกฤษ ได้ว่า NPD เป็นโรคทางจิตเวชกลุ่มภาวะที่มีความผิดปกติทางบุคลิกภาพ (Personality Disorder) ตามที่ DSM-V หรือ คู่มือวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิตฉบับที่ 5 ได้ระบุไว้ ซึ่งแน่นอนว่า เมื่อโรคนี้จัดอยู่ในกลุ่มภาวะที่มีความผิดปกติทางบุคลิกภาพ นั่นแปลว่า โรคนี้จะมีอาการเด่น ๆ อยู่ที่บุคลิกภาพของผู้ป่วย โดยผู้ป่วยโรคหลงตัวเองนี้จะมีความคิดว่าตัวเองเป็นศูนย์กลาง รวมไปถึงความคิดเข้าข้างตัวเองว่า ไม่มีใครดีเท่าฉัน อย่างที่เราได้พูดถึงกันข้างต้น มีความหมกมุ่นอยู่กับตัวเอง ต้องการการชื่นชมและการยอมรับจากคนอื่น ขาดความเห็นใจต่อผู้อื่น ไม่สามารถรับมือกับคำวิพากษ์วิจารณ์ได้ดีนัก นอกจากนี้ ผู้ป่วยยังมีการรับรู้ตัวตนที่ผิดแปลกไปจากความเป็นจริง เช่น มีการรับรู้ว่าตนเองมีความพิเศษมากกว่าคนอื่น และมีการพยายามแสดงพฤติกรรมให้เหมาะสมกับความพิเศษนั้น เช่น เรียกร้องการดูแลที่ดี ต้องการผูกมิตรกับคนที่พิเศษในระดับเดียวกันเท่านั้น มีความรู้สึกอิจฉากับคนที่มีความพิเศษเหมือนกัน ไม่สามารถทำสิ่งต่าง ๆ เหมือนกับคนทั่วไปได้ เป็นต้น

ผู้ป่วยโรคหลงตัวเองก็มีลักษณะบุคลิกไม่ต่างจากคนหลงตัวเองเท่าไรนัก แต่การที่มันถูกวินิจฉัยเป็นโรคได้ เกิดจากการที่ตัวโรคหรือบุคลิกภาพเกิดขึ้นเป็นระยะเวลานานและส่งผลต่อการใช้ชีวิตในหลาย ๆ มิติจนแก้ไขได้ยาก เช่น อยู่ร่วมกันในสังคมไม่ได้ มีปัญหากับครอบครัว ความสัมพันธ์ในชีวิตไม่ราบรื่น ต้องการความสมบูรณ์แบบจากชีวิตการทำงาน เป็นต้น 

โรคหลงตัวเองแบ่งเป็นประเภทแยกย่อยได้อีก 2 ประเภท ได้แก่

1. การหลงตัวเองแบบเปิดเผย (Overt Narcissism) 

โดยผู้ป่วยมักมีการแสดงออกถึงความโอ้อวด มีความมั่นใจในตัวเองสูง ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง เรียกร้องความสนใจ รวมไปถึงแสดงพฤติกรรมที่เป็นประโยชน์แก่ตัวเองอย่างเปิดเผย 

2. การหลงตัวเองแบบปกปิด (Covert Narcissism)

คล้าย ๆ กับเป็นด้านตรงข้ามของการหลงตัวเองแบบเปิดเผย แต่การหลงตัวเองแบบปกปิดยังคงมีแนวคิดหรือพฤติกรรมที่แสดงถึงความยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง แต่มีรายละเอียดที่แตกต่างเล็กน้อยตรงที่ การหลงตัวเองแบบปกปิดจะแสดงออกถึงความไม่มั่นใจในตนเอง อ่อนไหวง่าย มีความต้องการที่จะปกป้องตัวเองสูง  

สาเหตุของโรคหลงตัวเอง

การเลี้ยงดู สิ่งแวดล้อม และประสบการณ์ในวัยเด็กเป็นสาเหตุลำดับต้น ๆ ที่ทำให้เกิดโรคหลงตัวเอง เช่น

  • การได้รับความอบอุ่นจากผู้ปกครองไม่เพียงพอ ไม่ให้ความสนใจในตัวเด็ก มีการละเลย 
  • ขาดที่พึ่งทางใจในวัยเด็ก
  • ได้รับความใส่ใจหรือมีการตามใจในวัยเด็กมากเกินไป
  • อยู่ในสภาพแวดล้อมทื่ไม่มีการสนับสนุน 

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยทางด้านพันธุกรรมจากครอบครัวและคนรอบข้าง ถ้าหากมีการวินิจฉัยว่าเป็นโรคหลงตัวเอง อาจทำให้เครือญาติมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคดังกล่าวได้

การรักษาโรคหลงตัวเอง

ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยทางการแพทย์เป็นอันดับแรก หลังจากนั้นจะมีการวางแผนการรักษาที่จะดำเนินการร่วมกับบุคลากรทางการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นนักจิตวิทยา นักจิตบำบัด หรือจิตแพทย์ ต่อไป ในส่วนของวิธีการรักษาจะขึ้นอยู่กับแต่ละเคสของผู้ป่วยแต่ละคน บางรายอาจจำเป็นต้องทำจิตบำบัด บางรายอาจต้องทำจิตบำบัดควบคู่ไปกับการทานยา ทั้งนี้ เนื่องจากอาการของผู้ป่วยโรคหลงตัวเองมีการแสดงอาการคล้ายกับโรคทางจิตเวชอื่น ๆ เช่น โรคซึมเศร้าและโรคไบโพลาร์ จึงอาจจำเป็นต้องทานยาเพื่อให้สารสื่อประสาทในสมองทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นด้วย 

ในส่วนของการทำจิตบำบัดอาจมีการเรียนรู้และตระหนักถึงอาการของโรคหลงตัวเองที่เกิดขึ้น มีการปรับเปลี่ยนความคิด ทัศนคติ และมุมมองต่อตัวตนและผู้อื่นในสังคม เพื่อให้เข้าใจว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของสังคมเช่นเดียวกับคนอื่น ๆ และคนในสังคมต่างมีความพิเศษที่แตกต่างกันไป รวมถึงมีการส่งเสริมให้เกิดการเรียรู้ เข้าใจ และยอมรับตัวเองและผู้อื่น รวมถึงความไม่สมบูรณ์แบบของตัวเองอีกด้วย ซึ่งรายละเอียดในส่วนนี้จะแตกต่างกันไปแล้วแต่เคสเช่นกัน

อ้างอิง

Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders Fifth Edition. (n.d.).

MSEd, K. C. (2022, August 24). What Is Narcissistic Personality Disorder (NPD)? Verywell Mind.

เข้าใจโรคหลงตัวเอง อาการแบบไหนเรียกป่วย. (2020, October 16). Pobpad.

บุคลิกภาพแบบหลงตนเอง – Narcissism. (2022, June 24). คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.