“สมองจำ ร่างกายทำ” ว่าด้วยการทำอะไรสักอย่างโดยไม่ต้องคิดของ Muscle Memory

ในการดำเนินชีวิตในแต่ละวัน เคยสงสัยไหมว่า ทำไมบางครั้งร่างกายเราถึงทำอะไรบางอย่างไปโดยอัตโนมัติโดยที่ไม่ต้องผ่านการคิด เช่น เสียงนาฬิกาปลุกดังขึ้นทีไร เราจะเด้งตัวลุกขึ้นมาทุกครั้ง หรือเวลาทำกิจกรรมบางอย่าง เช่น การขับรถยนต์ การปั่นจักรยาน เราสามารถทำได้โดยไม่ต้องนึกว่ารถขับยังไง จักรยานปั่นยังไง แต่ร่างกายมันจำได้ไปแล้ว หรือสำหรับบางคนอาจรวมไปถึงการทำงานที่ใช้ทักษะ เช่น การพิมพ์ดีด การเต้น การร้องเพลง การเล่นดนตรี การเล่นกีฬา ที่สามารถทำได้โดยอัตโนมัติเมื่อถึงเวลาที่ต้องลงสนาม

วันนี้เราจะชวนมาทำความรู้จักกับ Muscle Memory ซึ่งเป็นทักษะอย่างหนึ่งที่เกิดจากการที่ร่างกายเราทำกิจกรรมซ้ำ ๆ จนจำได้ และเมื่อใดก็ตามหากเราจำเป็นต้องทำกิจกรรมนั้น ร่างกายจะสามารถทำกิจกรรมได้อัตโนมัติโดยที่ไม่ต้องผ่านการคิดนั่นเอง แต่ร่างกายและกล้ามเนื้อของเราสามารถจดจำได้เหมือนสมองด้วยเหรอ? คำตอบก็คือ จริง ๆ แล้วมันก็คือการที่สมองของเราจดจำการทำงานของกล้ามเนื้อนั่นแหละ จำได้ว่าต้องใช้กล้ามเนื้อมัดไหน และต้องออกแรงเท่าไหร่ถึงจะสามารถทำกิจกรรมนั้นได้สำเร็จ ลองสังเกตดูนะ เวลาที่เราทำกิจวัตรประจำวันอย่างการแปรงฟัน ร่างกายของเราก็จะมีการออกแรงที่พอเหมาะพอดี ไม่งั้นถ้าออกแรงมากเกินไปก็อาจทำให้ช่องปากเป็นแผลได้ หรือสังเกตเวลาเราดูไอดอลหรือศิลปินเต้นและร้องเพลง การที่พวกเขาสามารถล็อกท่าเต้นได้เป๊ะ และร้องเพลงได้ตรงคีย์ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นการจดจำของ Muscle Memory และผลผลิตที่เกิดจากการฝึกฝนซ้ำ ๆ จนร่างกายจำได้โดยอัตโนมัตินั่นเอง

แต่สำหรับคนที่มีปัญหาด้านความทรงจำ อย่างกลุ่มผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อม (Dementia) ซึ่งเป็นภาวะที่เกิดจากการทำงานของสมองแย่ลง มีอาการหลงลืม ใช้ชีวิตประจำวันไม่ได้เพราะจำอะไรไม่ค่อยได้ และมีปัญหากับความทรงจำ มีประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจระหว่างผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมและ Muscle Memory นั่นก็คือ ถึงแม้ว่าพวกเขาจะลืมว่าตัวเองเป็นใคร หรือลืมว่าคนรอบข้างเป็นใครไปแล้ว แต่ยังพบว่า ผู้ป่วยบางรายสามารถจดจำเพลงที่พวกเขาชอบในสมัยวัยรุ่นได้ ยังสามารถร้องได้ และขยับตัวไปกับเพลงได้ ซึ่งความจำในส่วนนี้แหละ เป็นการทำงานของ Muscle Memory และนอกเหนือจากการร้องเพลงแล้ว ร่างกายของผู้ป่วยบางคนยังสามารถจดจำการทำกิจกรรมอื่น ๆ ได้ เช่น ตีกอล์ฟ ถักไหมพรม ซึ่งคนดูแลผู้ป่วยสามารถใช้ความทรงจำในส่วนนี้เป็นตัวกระตุ้นการทำงานของสมองของผู้ป่วยได้อีกด้วย   

นอกจากนี้ สำหรับคนทั่วไปที่ไม่มีภาวะสมองเสื่อม การทำงานของ Muscle Memory ยังสามารถปรับใช้ได้กับการเริ่มต้นทำอะไรใหม่ ๆ ในชีวิตได้ เช่น การตั้งเป้าหมายอ่านหนังสือ 10 เล่ม/เดือน การฝึกภาษาใหม่ ๆ หรือการเริ่มต้นดูแลตัวเอง อย่างการออกกำลังกาย การนั่งสมาธิ เป็นต้น แต่การเริ่มต้นทำอะไรใหม่ ๆ นั้นจะมีความท้าทายในช่วงแรก ๆ นั่นก็คือ มันจะมีความยังไม่คุ้นชิน ไม่ถนัด ร่างกายยังไม่คุ้น จะต้องใช้ความพยายามมากหน่อย และจะเหนื่อยง่ายสักหน่อย แต่ถ้าหาเราทำกิจกรรมซ้ำ ๆ เป็นระยะเวลาหนึ่ง สุดท้ายแล้วร่างกายและสมองของเราจะเริ่มจดจำได้ ทำให้เราทำได้ทุกวัน จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของกิจวัตรประจำวันไปโดยปริยาย