วิกฤตวัยกลางคน “Midlife Crisis”

หากช่วงวัย 20-30 เป็นวัยที่เรากำลังว้าวุ่นกับการค้นหาตัวเอง กังวลในความสัมพันธ์ กังวลในการหางาน ในวัยกลางคนอายุ 40-60 เองก็เป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนที่ทำให้หลายคนเกิดความกังวลในชีวิตขึ้นมาอีกครั้ง กังวลในความสามารถของตัวเอง ไม่รู้ว่างานที่ทำอยู่คือสิ่งที่อยากทำจริงๆ หรือเปล่า เริ่มท้อแท้กับการใช้ชีวิต เพราะหลายๆ อย่างไม่ได้เป็นไปตามที่คาดหวัง และเกิดความรู้สึกหมดหวังเมื่อเริ่มรู้สึกว่าความตายใกล้ตัวเข้ามาทุกที

อาการที่คนในวัยกลางคนเหล่านี้กำลังเผชิญ เรียกกันว่า “Midlife Crisis” หรือ “วิกฤตวัยกลางคน” ช่วงอายุ 40-60 อาจเป็นจุดเปลี่ยนของความสัมพันธ์ในครอบครัวสำหรับบางคน หลายคนเริ่มตั้งคำถามกับชีวิตว่า ตอนนี้ประสบความสำเร็จอะไรบ้างหรือยัง บางคนกังวลเกี่ยวกับความเจ็บป่วย บางคนคิดถึงแต่เรื่องในอดีต อยากย้อนเวลากลับไปแก้ไข และเสียดายโอกาสที่เคยทิ้งไป

ความเครียดที่เกิดขึ้นนี้ ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทั้งทางกาย และจิตใจ เช่น มีอาการวิตกกังวล ซึมเศร้า ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย อารมณ์ฉุนเฉียวง่าย เริ่มใช้แอลกอฮอล์ หรือสารเสพติดเพื่อคลายความกังวล น้ำหนักเพิ่ม หรือลดผิดปกติ รวมไปถึงหมดความสนใจในกิจกรรมที่เคยทำ ถึงแม้ว่า Midlife Crisis จะไม่ใช่โรค และไม่ได้เกิดทุกคน แต่ด้วยสภาวะการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในสังคมปัจจุบัน ทำให้มีแนวโน้มว่าคนจะเกิด Midlife Crisis มากขึ้น และอาจพัฒนาไปถึงความเจ็บป่วยที่ร้ายแรงมากกว่านี้หากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเหมาะสม 

ไม่ว่าจะช่วงอายุไหนก็สามารถเกิดการเปลี่ยนของชีวิตได้ทั้งนั้น เราควรใช้ประสบการณ์ในชีวิตมาเป็นบทเรียนให้กับตัวเอง โฟกัสกับชีวิตในปัจจุบันมากกว่าจมอยู่กับอดีตที่แก้ไขไม่ได้ เรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตอย่างมั่นคง และมีความสุขกับชีวิตที่เหลืออยู่