รู้หรือไม่?
จริง ๆ แล้วประเทศไทยเข้าสู่ภาวะสังคมผู้สูงวัยตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2561 โดยในปีดังกล่าวมีจำนวนประชากรผู้สูงวัยในอัตราที่สูงกว่าจำนวนประชากรเกิดใหม่ ว่าง่าย ๆ ก็คือ ในปีนั้นเป็นปีแรกที่จำนวนผู้สูงวัยมีมากกว่าเด็กเกิดใหม่ นั่นเอง ในโลกยุคใหม่ที่มนุษย์จะมีอายุขัยเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีการแพทย์ที่มีการพัฒนาและดีมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน ผู้คนต่างก็เลือกที่จะมีลูกกันน้อยลง เนื่องด้วยปัญหาต่าง ๆ ทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ และการอยู่อาศัยที่เราต้องพึ่งพาการเงินในการแลกกับคุณภาพชีวิตที่ดี ด้วยเหตุผลเหล่านี้เอง ทำให้จำนวนผู้สูงอายุมีมากขึ้นกว่าเดิมเป็นเท่าตัว และทำให้เหล่าเยาวชน คนหนุ่มสาว และวัยทำงาน ต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวในการอยู่ร่วมกันในสังคมกับผู้สูงวัย
นอกจากจะต้องทำความเข้าใจและศึกษาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายที่ไม่สามารถทำงานได้คล่องแคล่วเป็นปกติเหมือนเดิมแล้ว เช่น เคลื่อนไหวร่างกายได้ไม่ดีเหมือนแต่ก่อน เดินเหินได้ช้าลง ข้อเข่าเสื่อมสภาพ หยิบจับอะไรได้ไม่ถนัดเหมือนเดิม สายตาไม่ดี การได้ยินก็ไม่ดี อีกทั้งผู้สูงวัยแต่ละคนต่างมีปัญหาร่างกายหรือโรคประจำตัวที่แตกต่างยิบย่อยกันไปอีก ในฐานะที่คนรุ่นหลังหรือผู้ดูแลผู้สูงวัยจะต้องมาเป็นกำลังสำคัญที่จะมาดูแลพวกเขาในอนาคตต เราจำเป็นต้องเข้าใจธรรมชาติของโรคและเข้าใจความเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของผู้สูงวัยให้ดีอีกด้วย และรวมไปถึงความเปลี่ยนแปลงทางด้านสภาพจิตใจด้วย
คนส่วนใหญ่น่าจะคุ้นเคยกับปัญหาทางกายของผู้สูงวัยโดยทั่วไป เนื่องจากปัญหาทางสุขภาพร่างกายภายนอกเป็นสิ่งที่เห็นและสังเกตได้ชัดเจนกว่า ในขณะที่ปัญหาสุขภาพจิตกลับถูกละเลยเสียเป็นส่วนใหญ่ จริง ๆ ผู้สูงวัยต่างประสบกับปัญหาสุขภาพจิตไม่ต่างจากเราเลย เราจะพาไปเปิดมุมมองผ่าน 3 ปัญหาสุขภาพจิตที่ผู้สูงวัยมักประสบพบเจอ ดังนี้
ปัญหาสุขภาพจิต Mental Health ที่ผู้สูงวัยมักเจอ
1. ความเหงา การเสพติด โรคซึมเศร้า
ยิ่งอายุมากขึ้น ยิ่งพบเจอกับความเหงา เศร้า และโดดเดี่ยว พออายุมากขึ้น อะไร ๆ ก็เปลี่ยนไป รวมถึงคนที่อยู่ในชีวิตเราด้วย ยิ่งอายุมากขึ้น ยิ่งโดดเดี่ยว เพราะคนรอบตัวเราต่างต้องเดินไปตามเส้นทางชีวิตที่พวกเขาเป็นผู้กำหนด ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน ครอบครัว หรือคนรู้จักก็ตาม ไหนจะเรื่องความตายและการสิ้นอายุขัยที่ทำให้คนรอบตัวค่อย ๆ ล้มหายตายจากไปอีก ยิ่งทำให้ผู้สูงวัยมีเพื่อนน้อยลง มีความเหงาเกิดขึ้นได้ง่ายขึ้น ในบางรายอาจมีการแก้เหงาด้วยการใช้แอลกอฮอล์หรือสารเสพติด ซึ่งจะทำให้พวกเขาเกิดการเสพติดสิ่งเหล่านั้นจนขาดไม่ได้ในอนาคต และอาจนำไปสู่ปัญหาทางด้านสุขภาพกายอื่น ๆ ได้อีก เช่น ดื่มเหล้ามากไปส่งผลให้ตับเสื่อม หรือการเสพสารเสพติดส่งผลให้สมองเสื่อม เป็นต้น
ในผู้สูงวัยบางราย เมื่อต้องพบเจอความเหงาและความโดดเดี่ยวที่เกิดขึ้นนานเข้าและบ่อยเข้า และกลายเป็นว่าผู้สูงวัยไม่ได้เข้าสังคมเหมือนแต่ก่อน แต่กลายเป็นคนที่ใช้ชีวิตด้วยตัวคนเดียว และกลายเป็นคนเก็บตัว ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจทำให้เกิดความเสี่ยงในการเป็นโรคซึมเศร้าในเวลาต่อมาได้
2. โรคสมองเสื่อม (Dementia)
เมื่อแก่ตัวลง ร่างกายของเราก็ทำงานได้ไม่ดีนัก อวัยวะหลาย ๆ ชิ้นก็เริ่มทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพมากขึ้น เช่นเดียวกับสมอง จนอาจทำให้เกิดเป็นโรคสมองเสื่อมที่เกิดจากการทำงานของสมองแย่ลง ส่งผลกระทบต่อความทรงจำและการใช้ชีวิตประจำวันขึ้นมาได้ เมื่อใช้ชีวิตได้ไม่เหมือนเดิม แน่นอนว่ามันส่งผลให้คนในครอบครัวจำเป็นต้องให้การดูแลที่มากขึ้น แต่การดูแลผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมนั้นเป็นสิ่งที่มีความยากและท้าทายมาก เนื่องจากการดูแลคนที่จำอะไรไม่ได้เลยนั้นทำให้ทุก ๆ อย่างยากขึ้น เรียกได้ว่าเหนื่อยทั้งผู้ป่วยทั้งคนดูแลเลยทีเดียว
3. การโดนกีดกันทางอายุ (Ageism)
ข้อนี้อาจเป็นปัญหาที่ฟังดูแปลกหูสักหน่อย แต่ปัญหานี้เป็นสิ่งที่ WHO หรือ องค์กรอนามัยโลกได้พูดถึงว่าเป็นหนึ่งในปัญหาสุขภาพจิตที่ผู้สูงวัยจะต้องพบเจอ เนื่องด้วยอายุที่แตกต่างกัน การเติบโตมาในสภาพแวดล้อมและสังคมที่แตกต่างกัน ความคิดและมุมมองที่แตกต่างกัน อาจทำให้ผู้คนที่อายุน้อยกว่า (หรือบางคนที่เป็นคนที่แย่เฉย ๆ) ไม่ให้ความเคารพผู้สูงวัยในฐานะมนุษย์เท่าไรนัก เช่น มีการกลั่นแกล้ง การด่าทอ ไปจนถึงการทำร้ายร่างกาย ซึ่งสิ่งเหล่านี้เองสามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของผู้สูงวัยได้โดยตรง และส่งผลให้พวกเขารู้สึกว่าโดนกีดกันออกจากสังคม
การที่ผู้สูงวัยมีอายุ วุฒิภาวะ และสถานภาพต่าง ๆ ที่มั่นคงกว่า ไม่ได้แปลว่าพวกเขาจะห่างไกลจากปัญหาสุขภาพกายและสุขภาพใจ ปัญหาเหล่านี้สามารถมาถึงตัวพวกเขาได้ทุกเมื่อ ดังนั้นแล้ว ในฐานะที่เราเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่พวกเขาอาศัยอยู่ รวมถึงอาจเป็นกลุ่มคนที่ต้องดูแลพวกเขาอยู่ เราควรทำความเข้าใจผู้สูงวัยและปฏิบัติต่อพวกเขาเยี่ยงมนุษย์คนหนึ่งเช่นกัน เพื่อให้เราสร้างสังคมที่น่าอยู่สำหรับคนทุกวัยไปด้วยกัน
อ้างอิง