ความเป็นอยู่ของพนักงานในองค์กรเป็นเรื่องสำคัญ นอกจากเรื่องสุขภาพกายของพนักงานแล้ว ยังมีเรื่องของสุขภาพจิตที่กำลังได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน หลากหลายองค์กรได้ริเริ่มจัดการสวัสดิการและวางแผนนโยบายที่มีความเกี่ยวข้องกับด้านสุขภาพจิตของพนักงานมากขึ้น วันนี้เรานำตัวอย่างจาก 5 องค์กรในต่างประเทศ ที่หันมาใส่ใจสุขภาพจิตของพนักงานในองค์กรมากขึ้น โดยการวางรากฐานสวัสดิการและนโยบายต่าง ๆ เพื่อให้พนักงานมีสุขภาวะในการทำงานที่เหมาะสมที่สุด
เนื้อหาสำคัญ
- องค์กรที่มีการสนับสนุนด้านสุขภาวะจิตที่ดีจะทำให้มีอัตราการลาออกต่ำ และช่วยดึงดูดให้มีพนักงานสนใจอยากร่วมงานมากขึ้น
- ภาวะเครียด (Stress) ภาวะวิตกกังวล (Anxiety) ภาวะหมดไฟ (Burnout Syndrome) ภาวะความพึงพอใจในตนเองต่ำ (Low Self-Esteem) เป็นหนึ่งในผลกระทบหลักที่เกิดจากการทำงาน
- โรคซึมเศร้า (Major Depressive Disorder : MDD) เป็นโรคทางจิตเวชที่พบได้ทั่วไปในกลุ่มคนวัยทำงาน
- ทั้งองค์กรในประเทศและต่างประเทศต่างหันมาใส่ใจสุขภาพจิตมากขึ้น และมีการใช้วิธีการต่าง ๆ ในการตรวจสอบและดูแลสุขภาพจิต
ความสำคัญของสุขภาพจิตของพนักงานในองค์กร
โดยปกติแล้ว หากมีความเครียดจากการทำงานเกิดขึ้น ย่อมทำให้พนักงานหลาย ๆ คนเกิดความเหนื่อยล้าจากการทำงานมากขึ้น เป็นความเหนื่อยล้าทางกายและความเหนื่อยล้าทางใจ จนทำให้เกิดภาวะทางใจต่าง ๆ ซึ่งสามารถพัฒนาเป็นโรคทางจิตเวชได้ ซึ่งอาจส่งผลให้ประสิทธิภาพในการทำงานไม่คงที่ ส่งผลเสียต่อตัวพนักงานเอง เพื่อนร่วมงาน ทีม ไปจนถึงองค์กรได้
จากงานวิจัยและการสำรวจของหลาย ๆ หน่วยงานทั่วโลกเกี่ยวกับสุขภาพจิตในที่ทำงาน โดยส่วนใหญ่แล้ว ผลลัพธ์ที่ได้จากงานวิจัยมักออกมาในทิศทางเดียวกัน อย่างการสำรวจของประเทศนิวซีแลนด์พบว่า 1 ใน 5 ของคนวัยทำงานมีความเครียดที่เกิดจากการทำงาน ที่สหราชอาณาจักรพบว่า กว่า 76% ของชาวอังกฤษในวัยทำงานประสบกับปัญหาด้านสุขภาพจิตจากการทำงาน และอีก 60% มีความรู้สึกวิตกกังวลที่เกิดจากงาน และจากการสำรวจพบว่า มีเพียง 35% ของกลุ่มตัวอย่างที่สามารถจัดการกับความเครียดที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งนับว่าคนที่สามารถจัดการกับความเครียดในที่ทำงานได้นั้นมีไม่ถึงครึ่งของกลุ่มตัวอย่างด้วยซ้ำ
นอกจากคนวัยทำงานจะประสบความเครียดที่เกิดจากการทำงานแล้ว สถานการณ์โลกก็มีผลต่อคนวัยทำงานเช่นกัน หลาย ๆ งานวิจัยพบว่า หลังวิกฤตการณ์โควิด-19 เกิดขึ้น ผลกระทบต่าง ๆ จากเหตุการณ์ดังกล่าวมีอิทธิพลส่งผลต่อสุขภาพจิตของคนวัยทำงานเป็นอย่างมาก เนื่องด้วยความเปลี่ยนแปลงในหลาย ๆ ด้าน เช่น การโดนเลย์ออฟ (Layoff) การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงาน สภาพแวดล้อมในการทำงานเปลี่ยนแปลงไป เป็นต้น นอกจากนี้ ทั่วโลกยังต้องเผชิญหน้ากับภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) บวกกับภาวะสงครามที่ส่งผลให้กำลังการผลิตในบางอุตสาหกรรมถดถอยไปอีก แน่นอนว่ามันส่งผลกระทบต่อราคาของสิ่งของเครื่องใช้ไปจนถึงอาหารให้มีราคาที่สูงขึ้น ของขึ้นราคาแต่เศรษฐกิจไม่เติบโต รายรับไม่สัมพันธ์กับรายจ่าย ส่งผลให้เกิดความเครียดทางด้านการเงินเกิดขึ้นด้วยเช่นกัน
ดังนั้น พนักงานหลาย ๆ คนในตอนนี้กำลังแบกรับหน้าที่การงานไปพร้อม ๆ กับความกังวลหลาย ๆ ด้าน ในฐานะองค์กร นอกจากจะควรให้ความช่วยเหลือและจัดสรรสวัสดิการที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางด้านการงานและรายได้ให้กับพนักงานแล้ว สุขภาวะจิตที่ดีในที่ทำงานก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่พนักงานให้ความสำคัญเช่นกัน จากบทความ CEO Required Reading: 2023 Workplace Mental Health Resolutions ของ Forbes (2023) ได้ระบุไว้ว่า ปัจจัยด้านสุขภาพจิตในที่ทำงานได้กลายมาเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้พนักงานลาออกจากการทำงาน ในขณะเดียวกัน หากองค์กรใดมีการส่งเสริมสุขภาพจิตของพนักงานที่เป็นรูปธรรมก็สามารถดึงดูดพนักงานที่มีศักยภาพเข้ามาทำงานที่องค์กรได้อย่างง่ายดายเช่นกัน นอกจากนี้ จาก 8 ใน 10 ของคนวัยทำงาน ได้กล่าวกับ American Psychologist Association (APA) ไว้ว่า หากองค์กรใดมีการสนับสนุนสุขภาวะจิตที่ดีในที่ทำงาน นั่นเป็นสิ่งที่สามารถดึงดูดให้พวกเขารู้สึกอยากร่วมงานกับองค์กรนั้นมากขึ้น ซึ่งทำให้เห็นได้ชัดว่า หากองค์กรหันมาใส่ใจสุขภาพจิตของพนักงานอย่างแท้จริงนั้นจะเป็นผลบวกต่อทางองค์กรมากกว่า
ตัวอย่างปัญหาสุขภาพจิต
หนึ่งในภาวะที่คนวัยทำงานมักจะเจอและหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยคือ ภาวะเครียด (Stress) ที่เกิดจากปัจจัยทั้งคนสภาพแวดล้อม และเนื้องานที่ต้องรับผิดชอบ อาจมีภาระงานมากเกินไป Work-Life Balance ไม่เหมาะสม ไม่มีความสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัว สภาพแวดล้อมการทำงานมีแต่เพื่อนร่วมงานเอาเปรียบ หรืออาจเกิดความเครียดจากปัจจัยภายนอกที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับงาน เช่น ปัญหาครอบครัว ก็ทำให้คนวัยทำงานเกิดความเครียดได้เช่นกัน ภาวะวิตกกังวล (Anxiety) กังวลเรื่องของอนาคต หน้าที่การงาน Career Path หรือความกังวลที่เจอจากสภาพแวดล้อมรอบนอก เช่น มลพิษ สภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน ก็อาจทำให้เกิดความกังวลจนส่งผลต่อการทำงานได้เช่นกัน ภาวะหมดไฟ หรือ ภาวะ Burnout (Burnout Syndrome) ที่คนทำงานในยุคนี้มักประสบกันเป็นประจำ เมื่อเกิดภาวะนี้ขึ้นแล้ว จะทำให้รู้สึกไม่อยากทำงาน ไม่มีแรงจูงใจในการไปทำงาน ซึ่งความหมดไฟเหล่านี้เอง สามารถกลายเป็นปัญหาที่ส่งผลต่อการทำงานในอนาคตได้ ปิดท้ายด้วยอีกหนึ่งภาวะที่วัยทำงานหลายคนน่าจะเป็นเยอะไม่แพ้กัน นั่นก็คือ ภาวะความพึงพอใจในตนเองต่ำ (Low Self-Esteem) ที่ทำให้ใครหลาย ๆ คนมองว่าตัวเองไม่เก่ง กลายมาเป็นคนที่กังวลกับศักยภาพที่ตัวเองมี ถึงแม้ว่าจะมีความสามารถและความรับผิดชอบในการทำงานที่เหมาะสมอยู่แล้วก็ตาม ทำให้หลาย ๆ คนเผลอทำงานหนักเกินลิมิตของตัวเองไป
หากปล่อยให้ภาวะเหล่านั้นเกิดขึ้นนาน ๆ เข้า สิ่งที่อาจเกิดขึ้นตามมาคือการป่วยเป็นโรคทางจิตเวชที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาทางการแพทย์ เช่น โรคซึมเศร้า (Major Depressive Disorder : MDD) ซึ่งเป็นหนึ่งในโรคทางจิตเวชที่คนไทย รวมถึงคนวัยทำงานเป็นกันมาก โรคซึมเศร้าเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งด้านพันธุกรรม ผู้ป่วยบางคนอาจมียีนที่เอื้อต่อการเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่า มีสภาพร่างกายและสภาพจิตใจที่มีความอ่อนไหวต่อสิ่งต่าง ๆ รอบตัวมากกว่า หรือปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมในปัจจุบันที่มีความไม่แน่นอนเนื่องจากสถานการณ์โลก และอีกหลากหลายปัญหา ทำให้หลาย ๆ คนประสบกับภาวะปัญหาเหล่านี้จนมีความกังวลต่ออนาคต ทำให้มีความเครียดเกิดขึ้นอยู่เป็นประจำ รวมถึงปัจจัยใกล้ตัวอย่างผู้คนรอบข้าง ทั้งที่บ้านและที่ทำงาน เช่น ครอบครัวไม่เข้าใจ เพื่อนร่วมงานไม่ดี ก็เป็นเหตุผลที่ทำให้เกิดโรคซึมเศร้าได้เช่นกัน ซึ่งส่งผลกระทบได้ทั้งต่อตัวพนักงาน รวมถึงองค์กรที่อาจขาดแคลนพนักงานที่มีศักยภาพด้วย
ด้วยผลกระทบเหล่านี้ ทำให้การหันมาดูแลใส่ใจและส่งเสริมสุขภาพจิตในที่ทำงานจึงเป็นสิ่งที่คนวัยทำงานและองค์กรสมัยนี้ต้องให้ความสนใจมากขึ้น
5 ตัวอย่างองค์กรต่างประเทศที่หันมาสนับสนุนสุขภาพจิตของพนักงานในองค์กร
- Barclays
Barclays ให้ความสำคัญกับสุขภาพจิตของพนักงาน ผ่านแคมเปญ This is Me ที่ให้พนักงานในองค์กรมาร่วมแชร์เรื่องราวและประสบการณ์เกี่ยวกับสุขภาพจิต เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมในการทำงานที่เป็นการตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพจิตอย่างแท้จริง ซึ่งมีทั้งเรื่องราวจากพนักงานทั่วไป พนักงานพิการ รวมถึงพนักงานกลุ่ม Neurodiversity (ความหลากหลายทางระบบประสาท) อีกด้วย นอกจากนี้ ภายในเว็บไซต์ให้บริการของ Barclays ยังมีเว็บเพจที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพจิตและข้อมูลติดต่อองค์กรที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิตให้กับผู้ที่เข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์อีกด้วย
- Microsoft
ที่ Microsoft มีโปรแกรมในการดูแลสุขภาพจิตที่ชื่อว่า Microsoft Cares ในการให้การดูแลสุขภาพจิตของพนักงานผ่านบริการการให้คำปรึกษา ทั้งในรูปแบบตัวต่อตัวที่เจอหน้ากัน แบบดิจิทัลคุยกันผ่านโปรแกรมต่าง ๆ รวมไปถึงผ่านทางสายโทรศัพท์อีกด้วย นอกจากนี้ ที่ Microsoft ยังมี Support Group หรือกลุ่มที่พนักงานจะมาพูดคุยกัน ให้คำแนะนำในการทำงาน และให้กำลังใจกัน และมีเวิร์กชอปต่าง ๆ ให้พนักงานเข้าร่วมอีกด้วย
- Palo Alto Network
บริษัทฯ ได้จัดสรรสวัสดิการทางด้านสุขภาพให้แก่พนักงาน โดยรวมทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตอยู่ภายในสวัสดิการดังกล่าว โดยทางบริษัทฯ มีการพาร์ตเนอร์กับองค์กรผู้ให้บริการทางด้านสุขภาพจิต ซึ่งมีบริการอย่างเช่น การให้คำปรึกษากับนักจิตวิทยาแบบตัวต่อตัว การให้คำปรึกษาทางด้านการเงินและด้านอาชีพกับผู้เชี่ยวชาญ การฝึกนั่งสติ พนักงานสามารถเลือกได้ว่าจะเข้าร่วมกิจกรรมแบบเดี่ยวหรือแบบกลุ่มก็ได้ อีกทั้งสวัสดิการนี้ยังครอบคลุมถึงครอบครัวของพนักงานอีกด้วย
ที่ Pinterest มีพนักงานภายในองค์กรได้รวมกันจัดตั้งกลุ่ม Community ภายในองค์กรว่า Pinside Out โดยจุดประสงค์ในการตั้งกลุ่มในครั้งนี้ คือการที่ทางกลุ่มต้องการจัดงานอีเวนท์เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพจิตในที่ทำงาน มีการเชิญศาสตราจารย์ ผู้เชี่ยวชาญ และสปีกเกอร์ด้านสุขภาพจิตมาพูดคุยเรื่องราวมากมาย นอกจากนี้ ยังมีการจัดคลาสออนไลน์ต่าง ๆ เช่น กิจกรรมนั่งสมาธิออนไลน์ ให้กับพนักงานอีกด้วย
- Unilever
มีการจัดการเวิร์กชอปด้านการฝึกสติ (Mindfulness) ให้แก่พนักงาน รวมถึงมีการอบรมผู้อำนวยการแผนกต่าง ๆ ในการรับมือกับปัญหาทางด้านสุขภาพจิตในที่ทำงาน นอกจากนี้ ยังมีการสร้างแอปพลิเคชันด้านสุขภาพให้กับพนักงาน ซึ่งมีบริการให้ความช่วยเหลือเร่งด่วนที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพกายและสุขภาพใจให้แก่พนักงานอยู่ภายในแอปพลิเคชั่นอีกด้วย
อ้างอิง