ในปัจจุบัน ความรู้ความเข้าใจทางด้านจิตวิทยา และจิตเวชได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้น ถึงแม้ว่าจะน้อยกว่าด้านสุขภาพกายไปบ้าง แต่การทำความเข้าใจสุขภาพใจก็มีแนวโน้มที่จะได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ต่อไป ทำให้ทุกวันนี้ ผู้คนต่างหันมาสังเกตและสำรวจสภาพจิตใจของตัวเองมากขึ้น เช่น อาการของโรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล เป็นต้น
สำหรับในวันนี้เราจะมาพูดถึงหนึ่งในอาการเด่นของโรคไบโพล่าร์ ซึ่งก็คือภาวะอารมณ์ดีผิดปกติ หรือ ภาวะอาการ Mania ซึ่งพบได้ในโรคไบโพล่าร์ประเภทที่ 1 (Bipolar Disorder I) ไบโพล่าร์เป็นโรคที่เกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ National Institute of Mental Health ได้ระบุสาเหตุเบื้องต้นของโรคไว้ว่า สามารถเกิดได้จากการทำงานของสมอง โดยพบว่าการทำงานของผู้ที่เป็นโรคไบโพล่าร์มีความแตกต่างจากทั้งคนที่ป่วยเป็นโรคทางจิตเวชอื่น ๆ และคนที่ไม่ป่วย อีกสาเหตุหนึ่งคือพันธุกรรม โดยยีน (Gene) บางตัวจะมีความเสี่ยงที่ทำให้เป็นโรคไบโพล่าร์มากว่าคนอื่น ทั้งนี้ ทั้งสองสาเหตุจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสริมอย่างเรื่องสิ่งแวดล้อม การเลี้ยงดู และประสบการณ์ต่าง ๆ ซึ่งต้องได้รับการวินิจฉัยจากจิตแพทย์เพิ่มเติม
โรคไบโพล่าร์มีทั้งอาการซึมเศร้า (Depression) พลังงานลด สิ้นหวัง รู้สึกไม่อยากทำอะไร หงุดหงิดง่าย ควบคุมตัวเองไม่ได้ และภาวะอารมณ์ดีผิดปกติ (Mania) ที่เป็นขั้วตรงข้ามของซึมเศร้า ก็คือจะเป็นช่วงที่มีพลังงานล้น รู้สึกมั่นใจในตัวเอง อยากทำนู่นทำนี่ ไม่อยากนอน คิดไว พูดไว ตื่นเต้น เสียสมาธิง่าย และมีแนวโน้มจะทำพฤติกรรมที่มีความเสี่ยงและมีความตื่นเต้น เช่น เล่นการพนัน หรือมีเพศสัมพันธ์ นอกจากนี้ ยังมีความต้องการทางเพศสูงกว่าปกติ รวมถึงมีอาการหลงผิด (Delusion) อีกด้วย
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัด ๆ คนที่เป็นโรคไบโพล่าร์ประเภทที่ 1 จะมีทั้งอาการซึมเศร้า และภาวะอารมณ์ดีผิดปกติสลับกันไปในแต่ละช่วง ช่วงนึงเราอาจจะเห็นเขาเป็นคนที่ร่าเริงสุด ๆ พลังงานล้นเหลือ ทำงานหามรุ่งหามค่ำไม่หลับไม่นอน แต่อีก 7 วันต่อมา เราอาจพบว่าเขาเศร้าซึม ไม่พูดไม่จา หลีกเลี่ยงการพบปะผู้คน ไม่สุงสิงกับใครเลยก็ได้
สำหรับใครที่กำลังเผชิญกับภาวะอารมณ์ดีผิดปกติ หรือ ภาวะอาการ Mania อยู่ เราขอจับมือแน่น ๆ และเป็นกำลังใจให้นะ ❤️🩹