“How to be Alone but not Lonely?” อยู่คนเดียวแบบไหน ถึงจะดีต่อสุขภาพใจ

คนที่ใช้ชีวิตคนเดียวคือคนเหงาหรือคนรักสันโดษ?

เมื่อถึงจุดหนึ่งของชีวิต หลาย ๆ คนน่าจะเคยสัมพันธ์ช่วงเวลาที่ต้องอยู่คนเดียวและเผชิญหน้ากับความโดดเดี่ยว ไร้เงาคนใกล้ตัว ไร้เพื่อน ไร้ความรักจากคนในครอบครัว อาจจะด้วยเหตุผลหลายอย่างที่เราต้องเผชิญหน้าในชีวิต เช่น ย้ายมาอยู่ต่างจังหวัดครั้งแรก ย้ายมาอยู่ไกลบ้าน อยู่ต่างประเทศ พบเจอกับความสัมพันธ์ที่ไม่น่ารัก เข้ากับกลุ่มเพื่อนยังไม่ได้ ไม่มีเพื่อนในที่ทำงาน รู้สึกว่าไม่มีที่ไหนเป็นที่ของเรา หรือสำหรับบางคน การอยู่คนเดียวอาจจะเป็นเพราะว่าเรารักความสันโดษเท่านั้นเอง

ว่าแต่ ความเหงา กับ ความสันโดษ แตกต่างกันอย่างไร? 

จริง ๆ แล้ว สองอย่างนี้แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง มีจุดที่เหมือนกันเพียงแค่เป็นช่วงเวลาที่เราอยู่ตัวคนเดียว หากแต่ความเหงาเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นเมื่อเราถูกบังคับให้เผชิญหน้าทุกอย่างด้วยตัวคนเดียว จริง ๆ แล้วเราไม่อยากเผชิญกับเรื่องนี้ด้วยตัวคนเดียว แต่สถานการณ์และบริบทต่าง ๆ ล้วนส่งผลให้เราต้องอยู่คนเดียว เช่น โดนแฟนบอกเลิก แต่เพื่อนไม่ว่างมาหา โดนคนในครอบครัวโกรธ หรือโดนกลุ่มเพื่อนแบน และอีกหนึ่งจุดสังเกตนั่นก็คือ ความเหงามักเกิดขึ้นได้เมื่อเราได้รับอิทธิพลจากภายนอก เช่น คนรอบข้าง หรือสถานการณ์โดยรอบ เช่น ช่วงโควิดเราต้องทำการกักตัวอยู่ในห้องด้วยตัวคนเดียว ทั้ง ๆ ที่อยากออกไปใช้ชีวิตตามปกติก็ตาม 

ในขณะที่ความโดดเดี่ยวคือความรู้สึกที่เราเลือกด้วยตัวเอง เราเลือกที่จะอยู่ตัวคนเดียวด้วยตัวเอง เป็นการตัดสินใจจากความต้องการของเราโดยความสมัครใจ โดยอาจมีสาเหตุมาจากปัจจัยภายในตัวเราหรือปัจจัยภายนอกก็ได้ เช่น เราต้องการเวลาฟื้นฟูพลังงานตัวเองด้วยการอยู่คนเดียว เราต้องการเวลาทบทวนตัวเอง หรือต้องการพักจากการเข้าสังคมเป็นเวลานาน ๆ การเลือกที่จะอยู่อย่างสันโดษด้วยความสมัครใจ นอกจากจะเป็นการตอบสนองความต้องการของเราแล้ว การอยู่อย่างสันโดษจะช่วยให้เราได้ใช้เวลากับตัวเองอย่างเต็มที่ ได้โฟกัสกับตัวเองมากขึ้น ใส่ใจความรู้สึกของตัวเองมากขึ้น เป็นวิธีหนึ่งที่จะทำให้เราได้ฟังเสียงตัวเองว่าเราต้องการอะไร เพราะบางทีการอยู่ติดกับคนอื่นมากไปอาจทำให้เราฟังแต่เสียงของพวกเขา จนทำให้เราลืมฟังเสียงและความต้องการของตัวเราเองไปก็ได้

อยากฝึกให้ตัวเองรักความสันโดษได้บ้าง ต้องทำอย่างไร?

1. สันโดษ ≠ ไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม

อย่างแรกที่ควรทำความเข้าใจคือความสันโดษไม่ใช่การปลีกตัวออกมาจากสังคมไปเลย แต่คือการให้เวลากับตัวเอง เป็นการเคารพพื้นที่และเวลาที่ตัวเองมีอยู่ เป็นการให้ความสำคัญกับตัวเองเป็นหลัก เราอยากให้มีความเข้าใจต่อความสันโดษกันว่าเป็นสิ่งที่ทำได้ทั่วไปเป็นปกติ และไม่ใช่เป็นสิ่งที่ไม่ดีแต่อย่างใด หากมองว่าการหาเวลาสันโดษให้ตัวเองเป็นการดูแลตัวเองอย่างหนึ่งแล้ว อาจช่วยให้เรามีแนวโน้มที่จะอยากทำมันได้มากขึ้น เนื่องจากมันคือสิ่งที่เราทำเพื่อตัวเราเองนั่นเอง

2. ลองทำทุกอย่างด้วยตัวคนเดียว

ลองทำกิจกรรมที่ทำด้วยตัวคนเดียวได้ เช่น กินข้าว ดูหนัง ฟังเพลงนั่งสมาธิ ออกกำลังกาย เดินเล่น ไปเที่ยวต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ เป็นต้น โดยลองเริ่มทำจากสิ่งที่เรามองว่าทำได้ง่ายที่สุด แล้วจึงค่อย ๆ ขยับไปทำสิ่งที่มีความท้าทายกับตัวเองขึ้น เช่น แรก ๆ ก็เริ่มจากการไปดูหนังคนเดียวหรือการไปเดินเล่นตามที่ต่าง ๆ ด้วยตัวคนเดียว จากนั้นค่อยขยับไปที่การไปเที่ยวด้วยตัวคนเดียว เป็นต้น

3. ถามตัวเอง

เมื่ออยู่กับความสันโดษและเริ่มอยู่กับตัวเองเป็นแล้ว เราอยากชวนมารีเฟล็กสิ่งที่อยู่ในใจกัน เริ่มจากการถามตัวเองด้วยคำถามง่าย ๆ เช่น ตอนนี้เราทำอะไรอยู่ ตอนนี้เรารู้สึกอะไรอยู่ เราต้องการอะไร เราภูมิใจในตัวเองเรื่องไหนบ้าง มีเรื่องไหนที่เราทำไม่ได้ไหม มีเรื่องไหนที่เราอยากทำให้ได้ไหม เป็นต้น เราไม่จำเป็นต้องถามคำถามพวกนี้กับตัวเองภายในทีเดียว แต่ลองถามมา 1 คำถาม และค่อย ๆ หาคำตอบไปในขณะที่เราใช้เวลากับความสันโดษนั้นอย่างละเมียดละไม

การอยู่ตัวคนเดียวไม่ใช่เรื่องแย่เสียทีเดียว แต่ถ้าอยู่กับตัวเองนานมากเกินไปก็อาจเป็นเรื่องแย่มากกว่าเรื่องที่ดี เช่น เสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าได้ ดังนั้นแล้ว เราควรบาลานซ์เวลาของตัวเองกับเวลาที่เราใช้กับคนอื่นให้ดี ไม่ให้มากเกินไปหรือน้อยเกินไป เพื่อรักษาสมดุลภายในใจและความสงบสุขของตัวเราเอง