“ห้องนอนสะท้อนจิตใจ” ว่าด้วยเรื่อง “สุขภาพจิต” และการปล่อยให้ “ห้องรก”

ช่วงนี้เพื่อน ๆ เป็นอย่างไรกันบ้าง ยุ่งกันอยู่หรือเปล่า? อาจจะยุ่งเรื่องที่ทำงาน มีภาระงานที่ต้องรับผิดชอบมากขึ้น เรื่องที่บ้าน พี่น้องทะเลาะกัน เรื่องแฟน เกิดความเข้าใจผิดกัน หรือเรื่องอะไรก็ตามที่ทำให้เราต้องใช้เวลากับมันมากจนไม่ได้สนใจเรื่องอื่น อาจทำให้ดูแลตัวเองได้ไม่ดีพอ ลืมกินข้าว กินข้าวไม่ตรงเวลา ลืมทำเรื่องสำคัญอื่น ๆ หรือแม้กระทั่งลืมจัดห้อง

แค่ยุ่งจนลืมจัดห้องเอง… อาจฟังดูเป็นเรื่องธรรมดา แต่รู้ไหมว่า ห้องนอนหรือพื้นที่ส่วนตัวของเราสามารถสะท้อนถึงตัวตนของเราได้ ซึ่งเกิดจากการที่เรารู้สึกสบายใจและปลอดภัยในการอยู่ในพื้นที่นั้น ๆ จนรู้สึกผูกพัน และนำมันมาผูกติดกับตัวตนของเรานั่นเอง ไม่ว่าจะเป็น ห้องนอน บ้าน หรือแม้แต่สวนสาธารณะที่ไปเป็นประจำ โดยเจ้าความผูกพันนี้มีชื่อเรียกว่า ความผูกพันทางสถานที่ (Place Attachment)

กลับมาที่เรื่องจัดห้อง เพราะว่าตัวตนของเราและพื้นที่ของเรานั้นส่งผลต่อกันและสะท้อนตัวตนของกันและกันอยู่เสมอ ฉะนั้น เวลาที่เราปล่อยให้ห้องรก นั่นแปลว่าภายในใจของเรากำลังยุ่งเหยิงเช่นเดียวกัน จากงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับผลของสภาพจิตใจจากบ้านและห้องที่ไม่เป็นระเบียบได้ข้อสรุปที่ว่า บ้านหรือห้องนอนที่ไม่เป็นระเบียบนั้น มีความเกี่ยวข้องกับโรคซึมเศร้า แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า เราสามารถสรุปความได้เลยว่าทุกคนที่มีห้องรกนั้นเป็นโรคซึมเศร้า เพราะแต่ละคนต่างมีเงื่อนไขชีวิตแตกต่างกันออกไป แต่ถ้าหากรู้สึกไม่สบายใจ การไปปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาก็เป็นทางเลือกที่อยากให้ทุกคนลองพิจารณา

นอกจากนี้ ห้องที่ไม่เป็นระเบียบยังส่งผลต่อความเครียด โดยมีการกระตุ้นระดับของฮอร์โมนความเครียด หรือฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) เพิ่มขึ้น อีกทั้งห้องที่รกยังสามารถส่งผลต่อความสามารถในการจดจ่อได้อีกด้วย กล่าวคือ ห้องรกทำให้เราไม่มีสมาธิในการทำงานนั่นเอง! และยังมีงานวิจัยกล่าวเพิ่มเติมในประเด็นด้านเพศอีกว่า ผู้หญิงมีความคาดหวังจากสังคมในการเป็นผู้รับผิดชอบด้านความสะอาดมากกว่าผู้ชาย หากห้องรกขึ้นมา ผู้หญิงจะรู้สึกผิดมากกว่าผู้ชายนั่นเอง แต่ถ้าในอนาคต ความคาดหวังทางสังคมเปลี่ยนไป ผลของงานวิจัยอาจเปลี่ยนไปก็ได้

อีกประการหนึ่ง การปล่อยให้ห้องรกยังเป็นสัญญาณของโรคจิตเวชโรคหนึ่ง ซึ่งก็คือโรค Hoarding Disorder ซึ่งเป็นโรคที่ผู้ป่วยชอบเก็บของไว้ในบ้านจนทำให้ใช้ชีวิตในบ้านตามปกติไม่ได้ จะปัดใจทิ้งก็ไม่ได้เช่นกันเพราะมีความรู้สึกผูกพันกับสิ่งของไปด้วย

เพื่อน ๆ อาจจะคิดว่า โห แค่ปล่อยให้ห้องรกเองเนี่ยนะ!? จริง ๆ มันเป็นเรื่องปกติที่เราจะยุ่งจนลืมจัดห้องบ้าง แค่อย่าปล่อยให้ห้องรกจนติดเป็นนิสัย เพราะนอกจากจะส่งผลต่อสภาพจิตใจของเราแล้ว ยังส่งผลต่อด้านสุขภาพโดยตรง เช่น มีฝุ่นเยอะเกินไป อากาศไม่ถ่ายเท รวมถึงอาจเกิดอุบัติเหตุได้จากการวางของทิ้งไว้อย่างไม่เป็นระเบียบได้ด้วยนะ ฉะนั้นแล้ว กันไว้ดีกว่าแก้กันดีกว่าเนอะ ว่าแล้วก็มาจัดห้องกันดีกว่า

อ้างอิง

APA Dictionary of Psychology. (n.d.).

Blog: Psychological effects of clutter. (n.d.).

Evans, G. W. (2006, January 1). Child Development and the Physical Environment. Annual Review of Psychology.

Marsh, S., Dobson, R., & Maddison, R. (2020, April 22). The relationship between household chaos and child, parent, and family outcomes: a systematic scoping review. BMC Public Health.

Roster, C. A., Ferrari, J. R., & Jurkat, M. P. (2016, June 1). The dark side of home: Assessing possession ‘clutter’ on subjective well-being. Journal of Environmental Psychology.

Ruppanner, L. (2019, July 2). Men do see the mess – they just aren’t judged for it the way women are.