Joy Of Missing Out — JOMO บางที… การพลาดบ้างก็ดีเหมือนกันนะ


สุขภาพจิต Mental Health คือภาวะของจิตใจเราที่เกิดขึ้น ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากตัวเราเอง เช่น ตัวตนของเรา ความคิดของเรา ความรู้สึกที่มีต่อตัวเองและผู้อื่น การมองโล การมีความเข้าใจและรู้เท่าทันต่ออารมณ์และความรู้สึกของตนเอง รวมไปถึงมีการตระหนักรู้ว่าอารมณ์เชิงลบเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นได้สำหรับทุกคน รู้ว่าควรรับมือกับอารมณ์เชิงลบอย่างไรให้เหมาะสมกับตนเอง รวมถึงสิ่งรอบตัวต่าง ๆ  ตั้งแต่อาหารการกิน การอยู่อาศัย ไปจนถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน ครอบครัว เพื่อน คนรัก เพื่อนที่ทำงาน เป็นต้น 

เช็กปัญหาสุขภาพจิตเบื้องต้นได้ที่นี่


โลกในยุคปัจจุบันของเราเต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสาร ทุก ๆ วันมีสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่อยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ เทคโนโลยีสุดล้ำ ข่าวสารความเป็นไปของโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา หรืออาจจะเป็นข่าวคราวที่น่ากังวล อาทิ ข่าวสงคราม การฆาตกรรม การทำร้ายร่างกายกัน ปัญหาสุขภาพจิต โรคอุบัติใหม่ ภัยธรรมชาติ หรือเรื่องราวของคนในชีวิตเรา เช่น เรื่องซุบซิบของพี่ที่ทำงาน ปัญหาส่วนตัวของเพื่อนที่ไม่ได้สนิทกัน หรือเรื่องป้าข้างบ้านที่เราบังเอิญไปรู้มา 

ซึ่งบางครั้งบางที การที่เราต้องรับรู้เรื่องราวเหล่านี้อยู่ตลอดเวลาก็ทำให้เรารู้สึก “เอ่อล้น” หรือ Overwhelmed หรือบางคนอาจเกิด Information Overload ขึ้นมาได้ง่าย ๆ เนื่องจากมีการรับข้อมูลในจำนวนที่เยอะเกินไป และเยอะเกินความจำเป็น จนส่งผลต่อความสบายใจและสุขภาพจิตของเราแต่ละคนได้

อะไรที่มากไปมักไม่ดีทั้งนั้น จนทำให้หลาย ๆ คนเลือกที่จะไม่รับรู้อะไรบ้างจะดีกว่า เพื่อให้สมองได้พัก มีสุขภาพจิตเป็นสุข และได้อยู่อย่างสงบสุขบ้าง และนั่นเป็นที่มาของเทรนด์ JOMO หรือ Joy Of Missing Out ที่เรากำลังจะพูดถึงกันในวันนี้นั่นเอง

JOMO คืออะไร?

JOMO ย่อมาจาก Joy Of Missing Out ที่อยู่ด้านตรงกันข้ามกับ FOMO หรือ Fear Of Missing Out หาก FOMO คือความรู้สึกที่เราอยากรู้ไปหมด ไม่อยากพลาดอะไรเลย JOMO จะเป็นความรู้สึกที่เราเลือกเบนความสนใจจากโลกภายนอกมายังโลกภายใน โดยโลกภายในในที่นี้คือตัวเราเอง เป็นการเปลี่ยนจุดโฟกัสจากภายนอกและหันมาใส่ใจตัวเองให้มากขึ้น ดูแลความรู้สึกตัวเองมากขึ้น โดยไม่รู้สึกผิดที่จะต้องปฏิเสธอะไรบางอย่าง หรือไม่รู้สึกเสียดายที่จะต้องพลาดอะไรสักอย่าง เพื่อแลกกับการดูแลสุขภาพกายและสุขภาพจิตของตัวเอง เช่น เพื่อนชวนไปดื่มเหล้าหลังเลิกงาน แต่เราไม่อยากดื่มเพราะล้าจากการทำงาน เราจึงยอมแลกเวลาที่ได้ใช้เวลากับเพื่อน ไปใช้กับการดูแลตัวเองหลังเลิกงานแทน เป็นต้น

Susan Albers นักจิตวิทยาชาวอเมริกันได้พูดถึง JOMO ไว้ว่า “JOMO ช่วยสร้างพื้นที่ให้เราได้เป็นตัวของตัวเอง และได้ทำในสิ่งที่ตัวเราให้คุณค่า และด้วยความที่ JOMO เป็นแนวคิดที่ให้ความสำคัญกับคุณภาพมากกว่าปริมาณ นั่นแปลว่า มันจะช่วยให้เราเลือกกิจกรรมที่มีคุณค่าและอยากทำมากที่สุด ไม่ใช่เลือกทำไปหมดทุกอย่าง”

เพราะการใช้ชีวิตคือการเลือกทำอะไรสักอย่าง JOMO จึงเป็นการเลือกรูปแบบหนึ่งที่เป็นการเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตัวเราเองโดยที่ไม่รู้สึกผิด แน่นอนว่าในบางแง่มุมหรือในบางบริบทมันอาจส่งผลกระทบในบางด้าน เช่น ในบริบทสังคมไทย การเข้าสังคมเพื่อการสังสรรค์กับเพื่อนร่วมงานถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะสังคมไทยให้ความสำคัญกับกลุ่มสังคมที่เราใกล้ชิด การเลือกปฏิเสธจึงเป็นเรื่องที่อาจสร้างความลำบากใจให้กับตัวเราและคนอื่นได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การตัดสินใจในการทำบางสิ่งบางอย่างก็ยังคงเป็นของเราอยู่ดี หากพิจารณาอย่างครบถ้วนแล้ว และเราต้องการที่จะปฏิเสธเพื่อดูแลตัวเองหรือเพื่อใช้เวลากับตัวเองแล้วจริง ๆ  ก็ถือว่าเราว่าอาจต้องยอมเสียคอนเนคชันเพื่อรักษาสุขภาพกายและสุขภาพจิตของตัวเอง ซึ่งตัวเราเองก็ไม่ควรจะรู้สึกผิดหลังจากตัดสินใจไปแล้ว ถือเสียว่าเราต้องรับผิดชอบการตัดสินใจของตัวเองด้วย

ประโยชน์ของ JOMO

  • ได้ใช้เวลากับตัวเองมากขึ้น
  • ได้พิจารณาเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตัวเอง
  • ทำให้เรารู้จักเคารพการตัดสินใจของตัวเอง
  • ได้ทำเพื่อตัวเอง
  • ได้ฝึกที่จะไม่รู้สึกผิดกับการตัดสินใจของตัวเอง
  • ได้ทำสิ่งที่ตัวเองอยากทำมากขึ้น
  • มีเวลารักษาสุขภาพกายและสุขภาพจิตมากขึ้น

เราจะฝึก JOMO ได้อย่างไรบ้าง?

เพราะ JOMO สามารถปรับใช้ได้กับแทบทุกเรื่องในชีวิต คำแนะนำที่เรานำมาฝากนี้จึงสามารถลองปรับใช้ได้กับหลากหลายบริบทในชีวิตตามที่ต้องการได้เลย โดยเราขอแนะนำวิธีฝึก 3 ข้อดังนี้

  • ปฏิเสธให้เป็น

การปฏิเสธคนอื่นเพื่อให้เราได้มีสิทธิ์ทำตามสิ่งที่ตัวเองคิดหรือที่ตัวเองต้องการไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะปฏิเสธคนอื่นเป็น สิ่งแรกที่ควรนึกถึงเมื่อจะปฏิเสธอะไรหรือปฏิเสธใครสักอย่าง เราต้องมั่นใจว่าสิ่งนี้คือสิ่งที่เราต้องการจริง ๆ หากเรากลัวว่าการปฏิเสธคนอื่นอาจเป็นการทำร้ายความรู้สึกคนอื่น ลองให้เหตุผลประกอบกับพวกเขาเพิ่มเติม เพื่อให้เรารู้สึกโอเคกับการปฏิเสธของเรามากขึ้น และช่วยให้เราเข้าใจเหตุผลการปฏิเสธของเรามากขึ้นด้วย

  • เพราะขอบเขต (Boundaries) สำคัญ

การรู้จักขอบเขตของตัวเองและการไม่ก้าวก่ายขอบเขตของผู้อื่นเป็นเรื่องสำคัญ หากเรามีขอบเขตที่แข็งแรง คนอื่นจะมาทำร้ายความรู้สึกเราไม่ได้ เราต้องเรียนรู้ที่จะสังเกตตัวเองว่าผู้อื่นสามารถแตะเรื่องราวของเราได้มากขนาดไหน เช่น ในขณะที่เพื่อนสนิทของเราสามารถพูดคำหยาบกับเราได้ แต่เรารู้สึกว่าไม่อยากให้เพื่อนที่ทำงานพูดคำหยาบกับเรา ก็ควรมีการบอกกับพวกเขาอย่างตรงไปตรงมาเพื่อรักษาความรู้สึกของกันและกัน เช่นเดียวกับการเรียนรู้ขอบเขตของผู้อื่น เพื่อให้เราไม่เผลอก้าวก่ายขอบเขตของผู้อื่น และทำร้ายความรู้สึกของพวกเขานั่นเอง 

  • รู้จักจัดลำดับความสำคัญ

เราแต่ละคนมีสิ่งที่เราให้ความสำคัญแตกต่างกันไป บางคนอาจให้ความสำคัญกับเรื่องตัวเอง บางคนเป็นเรื่องความสัมพันธ์ ของบางคนเป็นเรื่องครอบครัว บางคนเป็นเรื่องสุขภาพจิต ส่วนบางคนเป็นเรื่องงาน การรู้ว่าเราให้ความสำคัญกับเรื่องไหนเป็นอันดับแรก จะช่วยให้เราจัดการและวางแผนชีวิตได้ง่ายขึ้น และรู้ว่าเราควรใช้เวลาและให้เวลาไปกับเรื่องไหนเป็นลำดับแรก รวมถึงช่วยให้เราเล็งเห็นด้วยว่า มีด้านใดในชีวิตที่เราให้ความสำคัญได้ไม่มากพออีกด้วย 

ด้วยความที่ JOMO สามารถช่วยดึงสติให้เรากลับมาสนใจกับความต้องการในจิตใจของเราได้มากขึ้น ดังนั้น JOMO หรือ Joy Of Missing Out จึงไม่ใช่เพียงเทรนด์ แต่สามารถเป็นหลักแนวคิดในการใช้ชีวิตที่เหมาะสมกับยุคสมัยที่เราต้องใส่ใจสุขภาพจิตให้มากได้เป็นอย่างดีเลย เพราะบางที… การพลาดบ้างก็ดีเหมือนกันนะ 

อ้างอิง

Clinic, C. (2024, April 30). What Is JOMO? How To Enjoy Missing Out. Cleveland Clinic.