ชีวิตคนเราล้วนมีภาระหน้าที่และบทบาทที่หลากหลาย เราสามารถเป็นทั้งแม่ พี่สาว และหัวหน้าในคนเดียว อาจเป็นพี่ชายและลูกน้องได้ในคนเดียว เมื่อใดก็ตามที่บทบาทใดบทบาทหนึ่งมีภาระหน้าที่ที่ต้องแบกรับมากเกินไป เช่น ภาระงานเริ่มมากขึ้น หรือเมื่อลูกป่วย ต้องให้เวลากับครอบครัวมากขึ้น นั่นทำให้การสร้างสมดุลระหว่างบทบาทหน้าที่กลายเป็นเรื่องที่ยากขึ้น จนทำให้เราเผลอนำบทบาทมาใช้ปนกัน เช่น การใช้อำนาจในความเป็นเจ้านายกับคนในบ้าน สิ่งนี้เรียกว่า Interrole Conflict หรือความขัดแย้งระหว่างบทบาทหน้าที่
สำหรับวัยทำงาน ก็มีเครียดจากการทำงาน หรือสำหรับวัยเรียน ก็น่าจะเคยเครียดจากการเรียนหรือทำงานกลุ่มกันมาบ้าง เช่น มีโปรเจกต์ที่ต้องทำมากขึ้น เมื่อเรามีสิ่งที่ต้องจัดการมากขึ้น ความรู้สึกเหนื่อยล้าก็เกิดขึ้นได้เป็นธรรมดา จนในบางครั้งความเหนื่อยนี้ก็พาลทำให้เราละเลยคนใกล้ตัว อย่างคนในครอบครัว เพื่อน หรือแฟน จนทำให้ความสัมพันธ์มีปัญหา เกิดการน้อยใจหรือความเข้าใจผิด ซึ่งความขัดแย้งนี้มีชื่อเรียกเฉพาะว่า Work-Family Conflict หรือความขัดแย้งจากบทบาทการทำงานที่ส่งผลต่อความสัมพันธ์ในครอบครัว หรือในทางกลับกัน เราอาจมีปัญหาจากครอบครัว เช่น โดนแม่ดุ ทำให้รู้สึกกังวลจนส่งผลต่อการทำงานร่วมกับเพื่อน ความขัดแย้งนี้มีชื่อเรียกว่า Family-Work Conflict หรือความขัดแย้งจากบทบาทในครอบครัวที่ส่งผลต่อหน้าที่การงานนั่นเอง
จากงานวิจัย พบว่า การพยายามรักษาสมดุลของความสัมพันธ์ทางการงานและทางครอบครัวนั้นก่อให้เกิดความเครียดได้ และยังพบอีกว่า ทั้ง Work-Family Conflict และ Family-Work Conflict ต่างส่งผลต่อกันและกัน ในส่วนของการศึกษาผลของ Work-Family Conflict ของพนักงานในบริษัทน้ำมันในประเทศบาห์เรน พบว่า ความขัดแย้งดังกล่าวส่งผลต่อความสุขและความสบายใจในที่ทำงาน และยังส่งผลต่อความสามารถในการทำงานที่ย่ำแย่ลงอีกด้วย
ไม่ว่าจะเป็น Work-Family Conflict หรือ Family-Work Conflict ก็แย่ทั้งคู่เลยนะ จะแก้อย่างไรดี?
เนื่องจากงานวิจัยในการรับมือกับ Interrole Conflict ยังมีไม่มากนัก และวิธีแก้นั้นก็ไม่ได้มีสูตรตายตัว เพราะแต่ละคนมีทางออกที่เหมาะสมแตกต่างกันไป แต่ถ้าหากเพื่อน ๆ นึกวิธีรับมือไม่ออก เราก็ขอหยิบยกตัวอย่างมาจากงานวิจัยมาฝากกัน โดยเป็นงานวิจัยที่รวบรวมวิธีการรับมือความขัดแย้งระหว่างบทบาทหน้าที่ของนักศึกษาปริญญาโทจากภาควิชาสังคมสงเคราะห์ในรัฐแคลิฟอร์เนีย งานวิจัยระบุไว้ว่า เหล่านักศึกษาต่างหาที่พึ่งทางใจโดยการพูดคุยกับคนที่ไว้ใจ เช่น พ่อแม่ เพื่อน คนรัก รวมถึงอาจารย์ หรือหันไปพึ่งศาสนา มีการสวดมนต์และนั่งสมาธิ ในส่วนของการบำบัดก็มีเช่นกัน นักศึกษาบางส่วนไปรับคำปรึกษาจากนักจิตวิทยาและนักบำบัด บ้างก็ใช้การพูดคุยกับตัวเอง (Self-Talk) และการตั้งสติอยู่กับปัจจุบันขณะ (Mindfulness) การสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาก็สามารถช่วยด้วยเช่นกัน โดยบอกกับคนใกล้ตัวว่า งานที่ทำมันเครียด ทำให้ไม่สามารถใส่ใจคนใกล้ตัวได้เช่นเดิม และหวังว่าพวกเขาจะเข้าใจ ในส่วนของการจัดการงาน บางคนก็รีบจัดการงานให้เสร็จ จะได้ใช้เวลากับครอบครัวมากขึ้น และบางคนก็ได้ทำการสะท้อนพฤติกรรมตัวเอง และวางแผนแก้ไขให้ความขัดแย้งทุเลาลงก็มีเช่นกัน
เราได้หยิบยกตัวอย่างเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่หวังว่าจะเป็นประโยชน์มาฝากกัน ถ้าเพื่อน ๆ มีวิธีอื่น ๆ สามารถมาแชร์กันได้เลยนะ! สุดท้ายนี้ หวังว่าเพื่อน ๆ จะสามารถรักษาสมดุลของทุกความสัมพันธ์ในชีวิตได้นะ เราเป็นกำลังใจให้