ในปัจจุบัน เทคโนโลยีได้รับการพัฒนามากขึ้น ทำให้การเข้าถึงข้อมูลผ่านเทคโนโลยีเป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายขึ้น ผู้คนมีอิสระเสรีในการเป็นผู้สร้างและเป็นผู้รับข้อมูลมากขึ้น ทำให้โลกของเราเต็มไปด้วยข้อมูลจำนวนมหาศาล สามารถเลือกรับข้อมูลได้ตามต้องการ และรับข้อมูลจำนวนมากเท่าไหร่ก็ได้ที่เราจะรับไหว
แต่ถ้าหากรับข้อมูลมากเกินไป แน่นอนว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือ “Information Overload” ภาวะข้อมูลล้นที่จะเกิดขึ้นเมื่อเรารับข้อมูลมามากเกินไปจนส่งผลต่ออารมณ์ ความรู้สึก รวมถึงอาการทางกายของเรา ซึ่งเกิดจาก 2 สาเหตุหลัก ๆ ได้แก่
- การรับข้อมูลจำนวนมากในระยะเวลาสั้น ๆ เช่น การอ่านรายงานที่มีรายละเอียดเยอะ หรือการอ่านบทความที่มีความยาวและเป็นจำนวนมาก เป็นต้น
- การทำอะไรหลาย ๆ อย่างเป็นระยะเวลาหลายวัน เช่น ภายในหนึ่งวันเราทำทั้งประชุม ตรวจรายงาน อ่านรายละเอียดเกี่ยวกับข้อมูลบริษัท เป็นต้น
ซึ่งการรับข้อมูลจำนวนมากเป็นระยะเวลานาน ๆ ส่งผลให้เรามีอาการปวดหัว มึนหัว คิดช้า ประมวลผลช้า การตัดสินใจแย่ลง การโฟกัสแย่ลง อารมณ์เสียง่าย เหนื่อย รู้สึกหมดแรง ไร้ความทะเยอะทะยาน และสามารถส่งผลต่อการนอนหลับ รวมถึงสามารถทำให้เกิดเป็นภาวะ Burnout ได้อีกด้วย
แล้วจะจัดการอย่างไรเมื่อเกิดภาวะนี้ขึ้นกับเรา? เรามีมีคำแนะนำจากบทความของ Harvard Business Review (2021) มาให้อ่านกัน
1. จัดการตัวเอง
เมื่อใดก็ตามที่คุณเริ่มรู้สึกว่า “นี่มันชักจะเยอะเกินไปแล้ว” ให้ค่อย ๆ วางมือจากสิ่งที่ทำให้สมองคุณเหนื่อยล้า พยายามถามความรู้สึกตัวเองในตอนนี้ว่า “เรารู้สึกอย่างไร” และพยายามหาสาเหตุว่าทำไมเราถึงรู้สึกเช่นนั้น เมื่อเราหาสาเหตุได้แล้ว มันจะช่วยให้เราแก้ปัญหาและจัดการตัวเองได้ง่ายขึ้น เช่น เราหงุดหงิดที่มีงานล้นมือมากเกินไป อาจแก้ปัญหาได้โดยซอยงานเป็นชิ้นเล็ก ๆ และค่อย ๆ จัดการให้เสร็จ
2. จัดการข้อมูล
หากเรามีข้อมูลจำนวนมหาศาลที่ต้องจัดการ ลองหยิบมันทั้งหมดมาเรียงดู และจัดประเภทว่าอะไรเป็นอะไร จะได้ข้อมูลออกมาเป็นหมวดหมู่ ทำให้ง่ายต่อการจดจำและง่ายต่อการย่อยข้อมูลแต่ละก้อน อาจใช้เวลาไปกับการจัดการมากเสียหน่อย แต่พอจัดการออกมาได้แล้ว คุ้มแรงแน่นอน
3. จดด้วยมือ
ทุกคนคงคุ้นเคยกับการจดโน้ตสมัยเรียน สำหรับใครหลาย ๆ คน แน่นอนว่ามันเป็นเทคนิคที่ช่วยทำให้การจดจำและการจัดระเบียบข้อมูลเป็นไปได้ดี เพราะนอกจากจะเป็นการสรุปความเข้าใจของเราต่อสิ่งนั้น ๆ ผ่านการจดแล้ว เรายังสามารถออกแบบการจดได้ตามใจเรา และขีดเขียนวาดเล่นได้ตามใจอีกด้วย ซึ่งเป็นการช่วยให้สมองของเรารู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น
4. อย่าจับปลาหลายมือ
ถึงแม้ว่าในช่วงหนึ่ง (หรือในช่วงนี้) ทักษะ Multi-Tasking หรือทักษะที่ทำอะไรหลายอย่างได้ภายในเวลาเดียวกัน จะได้รับการชื่นชมเพราะสามารถทำอะไรได้หลายอย่าง แต่รู้หรือไม่ว่า นั่นเป็นการทำให้สมองของเราเหนื่อยมากขึ้น และยังทำให้เสียสมาธิได้ง่ายและจดจ่อได้ยากขึ้นอีกด้วย
เป็นอย่างไรกันบ้างกับ 4 แก้ภาวะข้อมูลล้น พวกเราหวังว่ามันจะเป็นประโยชน์กับคนที่กำลังพบเจอความเหนื่อยล้าจากภาวะนี้ และอย่าลืมหาเวลาพักให้ตัวเองกันด้วย