“อีโก้จัด-อีโก้สูง” คืออะไร เป็น Ego อันเดียวกับของฟรอยด์หรือเปล่า?

เวลาเจอคนที่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง เป็นคนเก่งที่สุด ไม่รับฟังใคร ฉันถูกคนเดียว คนอื่นผิดหมด เอาแต่ใจตัวเอง เรามักเรียกคนประเภทนี้ว่าเป็นพวก “อีโก้จัด” หรือ “อีโก้สูง” หรือรู้จักกันในคำภาษาอังกฤษว่า “Big Ego” โดย อีโก้ หรือ Ego มาจากนิยามภาษาอังกฤษว่าเป็นศักดิ์ศรีหรือความรู้สึกถึงความสำคัญของตัวเอง (Self-importance) พอแปลเป็นภาษาไทยก็หมายถึง อัตตา หรือ ตัวเอง พอเติมคำวิเศษณ์ลงไปว่าก็สามารถแปลได้ว่า เป็นคนที่มองแต่ตัวเองเป็นหลัก นั่นเอง แล้วอีโก้ที่เราใช้พูดกันในบริบทนี้เกี่ยวข้องกับอีโก้ที่เป็นทฤษฎีของซิกมุนด์ ฟรอยด์ จิตแพทย์ผู้โด่งดัง กันไหมนะ? วันนี้เราจะไปหาคำตอบกัน

ตามโมเดลภูเขาน้ำแข็งของฟรอย์ (Freud’s Iceberg Model) ที่เป็นส่วหนึ่งของทฤษฎีจิตวิเคราะห์ (Psychoanalysis) ซึ่งเป็นแนวคิดที่ให้ความสำคัญในการศึกษาและทำความเข้าใจจิตใต้สำนึกที่อยู่ภายใต้ตัวตนอันซับซ้อนของเรา โดยโมเดลภูเขาน้ำแข็งนี้ ประกอบไปด้วย 3 องค์ประกอบหลัก ๆ ด้วยกัน ได้แก่

Id

Id หรือ สัญชาตญาณมนุษย์ของเรา หากเปรียบเทียบจิตใจมนุษย์เป็นดั่งก้อนภูเขาน้ำแข็ง ส่วนที่โผล่พ้นน้ำและมองเห็นได้ง่ายคือสิ่งที่เราสังเกตเห็นได้และเป็นรูปธรรม ส่วนภูเขาน้ำแข็งที่อยู่ใต้น้ำเป็นส่วนที่เรามองไม่เห็น คล้ายกับสิ่งที่อยู่ภายในใจเราที่เราไม่สามารถมองเห็นได้นั่นเอง เช่นเดียวกับเจ้า Id หรือสัญชาตญาณของเรา โดยฟรอยด์แบ่งเจ้าก้อนน้ำแข็งใต้น้ำออกเป็น 2 ก้อน ได้แก่ สัญชาตญาณการเอาชีวิตรอด (The Life Instinct) และสัญชาตญาณแห่งความตาย (The Death Instinct) หรือที่รู้จักกันในอีกชื่อว่า Eros (และมีอีกชื่อว่า Libido) และ Thanatos โดย Eros จะมีเรื่องการเอาตัวรอด การสืบพันธุ์ และการทำงานร่วมกับผู้อื่น เพื่อให้มีชีวิตรอดกันต่อไป ในส่วนของ Thanatos จะเป็นเรื่องของความรุนแรงและการทำร้ายทั้งตนเองและผู้อื่นเพื่อให้ตัวเองได้พบกับความตาย

พอพูดถึงสิ่งที่เป็นสัญชาตญาณแล้ว แน่นอนว่ามันจะเป็นเรื่องภายในจิตใจที่ควบคุมได้ยาก โดย Id มักเป็นตัวตนหนึ่งของเราที่ทำงานอย่างตรงไปตรงมา ไม่ซับซ้อน คิดอยากทำอะไรก็ทำเลย เช่น ถ้าเรารู้สึกหิว Id ก็จะบอกให้ไปหาอะไรกินเลย หรือเมื่อเรามีอารมณ์ Id ก็จะให้ไปหาแฟนอย่างเดียวเลย หรือเราอยากกลับบ้านแต่ต้องรอรถ Id อาจบอกให้เราแซงคิวเลยก็ได้ ซึ่งถ้าทุกคนเชื่อฟังใน Id อย่างเดียว มันน่าจะเป็นปัญหาในการอยู่ร่วมกันในสังคมได้ ดังนั้น เราจำเป็นจะต้องมีสิ่งที่มาคอยกุมบังเหียนเจ้า Id นั่นก็คือ Ego นั่นเอง

Ego

Ego หรือ ตัวตนของเรา ผู้กุมบังเหียนเจ้า Id และเป็นก้อนน้ำแข็งที่อยู่คาบเกี่ยวระหว่างส่วนที่โผล่พ้นน้ำมาแล้วกับส่วนที่ยังอยู่ใต้น้ำ เพราะตัวตนของเราคือส่วนที่เรารับรู้และเห็นได้ถึงความเป็นปัจจุบัน อาจเป็นพฤติกรรมหรือการกระทำของเรา แต่ในขณะเดียวกัน ตัวตนบางส่วนของเราก็ยังคงได้รับการขับเคลื่อนด้วยสัญชาตญาณ ในที่นี้อาจเป็นประสบการณ์ของเรา 

ในขณะที่ Id จะเป็นความอยากที่ไร้ความรับผิดชอบชั่วดี Ego จะเข้ามาเป็นตัวที่สะกิดให้เราหยุดสักพักเพื่อเลือกทำสิ่งที่เหมาะสม หาก Id จะพาเราแซงคิวรถ Ego จะบอกให้เรารอคิวต่อไป หรือเลือกใช้บริการรถสาธารณะอย่างอื่น ขึ้นแกร็บ ลงเรือ นั่งวินมอไซค์ เพื่อให้เราได้กลับบ้านเร็วขึ้น และไม่รบกวนผู้อื่นอีกด้วย 

Superego

อ่านมาถึงตอนนี้ หลาย ๆ คนอาจจะคาดเดาว่า ในเมื่อ Id เป็นส่วนก้อนน้ำแข็งที่อยู่ใต้น้ำ Ego เป็นส่วนที่อยู่คาบเกี่ยวระหว่างโผล่พ้นน้ำกับอยู่ในน้ำ Superego ก็น่าจะเป็นส่วนที่โผล่พ้นน้ำสินะ!? แต่เปล่าเลย ตามแนวคิดของฟรอยด์แล้ว Superego จะเป็นส่วนก้อนน้ำแข็งอีกด้านที่มีส่วนที่อยู่ใต้น้ำเช่นเดียวกับ Id และมีส่วนที่โผล่พ้นน้ำเทียบเคียงไปกับ Ego โดย Superego เป็นคุณธรรมทางใจที่เรายึดถือและเชื่อฝังใจมาจากการเรียนรู้และประสบการณ์ เป็นเข็มทิศคุณธรรม (Moral Compass) ที่เราใช้ในการดำเนินชีวิต ซึ่ง Superego จะช่วยยับยั้งให้เราไม่ทำตามความต้องการของ Id และช่วยขัดเกลารวมถึงส่งเสริมตัว Ego ให้มีความสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้นนั่นเอง

จากตัวอย่างเรื่องอยากกลับบ้านเร็ว ในขณะที่ Id จะพาเราแซงคิว ไม่สนใจใคร Ego แนะนำให้เรารอคิวต่อไปหรือไปเดินทางด้วยตัวเลือกอื่น Superego จะพาเรามุ่งมั่นรอคิวอย่างตั้งอกตั้งใจอย่างเดียวต่อไปจนกว่าจะถึงคิวเรา

เมื่อลองคิดทบทวนจากเนื้อหาข้างบนดูแล้ว อีโก้ที่เราพูดถึงกันไปตอนต้นกับอีโก้ของฟรอยด์ก็ดูจะเป็นอีโก้เดียวกัน แต่ความ Big Ego หรืออีโก้สูงนี้จะเป็นอีโก้ในมุมที่ไม่ค่อยดีเท่าไรนัก มีความเห็นแก่ตัวเองเป็นหลัก ทำเพื่อตัวเองเป็นหลัก อีกนิดก็จะกลายเป็น Id เสียแล้ว 

อ้างอิง

Mcleod, S. (2024, January 17). Freud’s Theory of Personality: Id, Ego, and Superego. Simply Psychology.