อยากเป็นตัวของตัวเอง ต้องทำยังไง? พร้อม 5 วิธีค้นหาตัวเอง

ใคร ๆ ก็บอกให้เราเป็นตัวของตัวเอง แต่ไม่เคยมีใครบอกว่า ต้องทำยังไงถึงจะเป็นตัวของตัวเองได้อย่างแท้จริง แล้วแบบไหนถึงเรียกว่าเป็นตัวของตัวเองได้อย่างเต็มปากเต็มคำ ไปหาคำตอบกัน

เราเป็นใคร?

ตามแนวคิด Self-Concept ของ Carl Rogers ได้แบ่งองค์ประกอบของตัวตนออกเป็นทั้งหมด 3 ส่วนด้วยกัน ได้แก่ 

1. ตัวตนในอุดมคติ (Ideal Self) คือตัวตนที่เราอยากเป็น อาจจะใช่หรือไม่ใช่สิ่งที่เราเป็นอยู่ก็ได้ 

2. ตัวตนที่เรามองเห็น (Self-Image) คือตัวตนที่เรามองเห็นว่าเราเป็น ซึ่งสิ่งที่เรามองเห็นว่าเราเป็นอาจเป็นสิ่งเดียวกับที่คนอื่นเห็นหรือไม่ตรงกันก็ได้

3. การเห็นคุณค่าในตนเอง (Self-Esteem) เป็นสิ่งที่เกิดจากการที่เรายอมรับและให้คุณค่าตัวเราเอง

จากแนวคิด Self-Concept ทำให้เห็นว่าตัวตนเรามีหลากหลายรูปแบบ ซึ่งตัวตนทั้งหมดนี้ล้วนเป็นตัวเราเอง ซึ่งอาจเป็นตัวตนที่แท้จริงหรืออาจเป็นตัวตนที่เราคิดว่าเป็นตัวตนที่แท้จริงก็ได้ แต่ทั้งหมดนี้คือตัวตนของเราอย่างปฏิเสธไม่ได้

แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า ตัวตนที่แท้จริงของเราเป็นแบบไหน? ทุกคนเคยได้ยินประโยคที่ว่า “Dance like nobody’s watching” หรือ แปลไทยได้ประมาณว่า ให้เราปล่อยใจเต้นระบำราวกับไม่มีใครจ้องมองเราอยู่ ลองจินตนาการตามดูนะ การเต้นเป็นกิจกรรมที่ไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนจะสะดวกใจจะทำต่อหน้าคนอื่น การเต้นถูกมองว่าเป็นกิจกรรมที่สะท้อนตัวตนของเราที่ไม่ได้อยู่ภายใต้สายตาของคนอื่น และทำให้เราได้ปลดปล่อยความเป็นตัวเองอย่างแท้จริง และยิ่งไม่มีสายตาใครจับจ้องอยู่ เรายิ่งไม่ต้องกลัวที่จะเผยธาตุแท้ของเราออกมานั่นเอง ผู้อื่นในที่นี้ไม่ได้หมายถึงแค่คนสองคน แต่หมายรวมถึงสังคมและวัฒนธรรม ประโยคด้านบนจึงแปลความได้อีกมุมหนึ่งว่า คนเรามักเป็นตัวของตัวเองในตอนที่ไม่มีกฏเกณฑ์ของสังคมมาครอบงำ 

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า สังคมและวัฒนธรรมที่เราได้รับอิทธิพลมาหรืออาศัยอยู่ย่อมส่งผลต่อการกระทำ พฤติกรรม ความคิด แน่นอนว่า รวมไปถึงตัวตนของเราด้วย เช่น สังคมไทยมักสอนให้เราเป็นคนมีน้ำใจ ซึ่งทำให้คนส่วนใหญ่ในสังคมกลายเป็นคนที่เผื่อแผ่ ให้การช่วยเหลือ และแบ่งปันแก่คนอื่น หรือชาวต่างชาติให้ความสำคัญกับเรื่องเวลามาก ซึ่งเรื่องแบบนี้ก็ส่งผลให้คนในชาติเขามีความจริงจังต่อเรื่องเวลาตามไปด้วยนั่นเอง 

แล้วตัวตนของเราที่ไม่ได้ถูกยึดโยงกับสังคมและวัฒนธรรมล่ะ? เราเป็นใครเมื่อไม่มีสิ่งเหล่านี้มาครอบงำ? ซึ่งนั่นเป็นคำถามที่เราแต่ละคนจะต้องไปตามหากันเองอีกที โดยเราหยิบยก 5 วิธีในการค้นหาตัวตยและเป็นตัวของตัวเองมาให้ ดังนี้

วิธีค้นหาตัวตน และเป็นตัวของตัวเอง 

1. ใช้เวลาศึกษาตัวเอง

เราทุกคนต่างประกอบไปด้วยเศษเสี้ยวของทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตเรา ประสบการณ์ในวัยเด็ก สิ่งที่พบเจอในทุก ๆ วัน ปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ครอบครัว พ่อแม่ เพื่อน คนรัก คนรู้จัก คนแปลกหน้าที่เจอหน้ากันเพียงครั้งเดียว เราได้รับอิทธิพลมาจากสิ่งเหล่านี้จนทำให้เราเข้าใจไปว่าทั้งหมดที่เกิดขึ้นนี้คือตัวเราเอง ทั้ง ๆ ที่มันอาจได้รับอิทธิพลมาก็ได้ ดังนั้น เราจำเป็นจึงต้องศึกษาตัวเอง อะไรคือตัวเราอย่างแท้จริง การกระทำหรือความคิดแบบไหนที่เรารู้สึกว่า สิ่งนี้แหละ คือสิ่งที่เป็นเราที่สุด ซึ่งแต่ละคนก็จะมีคำตอบให้กับเรื่องนี้แตกต่างกันไป 

2. สำรวจสิ่งที่ใช่และไม่ใช่

ทุกคนรู้จัก “มาริเอะ คนโดะ” กันไหม? ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดบ้านที่มีเคล็ดลับหนึ่งที่น่าสนใจและสามารถนำไปใช้ได้กับหลาย ๆ เรื่องในชีวิต นั่นก็คือ ให้เราถามตัวเองว่าสิ่งไหน Spark Joy หรือทำให้เรามีความสุข ในหลักการค้นหาตัวตนก็เช่นเดียวกัน ให้เราลองดูพฤติกรรมและความคิดของตัวเองว่าสิ่งนี้ทำให้เรารู้สึกมีความสุขที่ได้เป็นตัวเองหรือเปล่า ถ้าใช่ นั่นแหละ ตัวตนของเรา 

3. Reflect ความคิดและพฤติกรรมของตัวเอง

ก่อนทำอะไรลงไปหรือหลังจากที่เราได้ทำอะไรลงไป สังเกตตัวเอง ความคิด และพฤติกรรมของตัวเราเองว่าเราทำสิ่งนั้นเพราะอะไร ทำเพราะเราอยากทำจริง ๆ หรือเราทำเพราะมันควรทำ เพราะบางทีการที่เราตัดสินใจทำอะไรลงไป อาจเป็นเพราะได้รับอิทธิพลจากสิ่งภายนอกด้วย 

4. ทดลองทำตามที่ตัวเองคิด

หลาย ๆ คนอาจจะสงสัยว่า การเป็นตัวของตัวเองอย่างแท้จริงนั้นเป็นสิ่งที่น่ากลัวและสังคมจะรังเกียจเราหรือเปล่า หากมีความกังวลแบบนี้ เราอยากให้ลองทำตามความคิดตัวเองดูเลย เพราะเราต้องทดลองกันในชีวิตจริง เพื่อให้เรารู้ว่า อะไรเหมาะกับเรา และคนรอบข้างจะตอบสนองต่อเราแบบไหน เขาจะยอมรับเราได้ไหม หรือมีสิ่งไหนที่เราต้องแก้ไขไหม เพราะบางทีบางกรณี การเป็นตัวของตัวเองอาจไม่ดีต่อคนอื่น เราจึงต้องอาจระมัดระวังและคิดไตร่ตรองให้ดีขึ้น สิ่งหนึ่งที่ทำที่นี่ได้ แต่อาจทำที่อื่นไม่ได้ ต้องดูเป็นเคส ๆ ไป

5. โอบรับตัวตน และไม่ต้องกลัวที่จะเป็นตัวเอง

หากสุดท้ายได้ทดลองทำสิ่งต่าง ๆ จนค้นพบข้อดีในตัวเอง รวมถึงข้อเสียในตัวเองด้วย ยอมรับตัวตนทั้งสองขั้วนี้ เพราะทั้งสองอย่างนี้คือสิ่งที่ทำให้เราเป็นเรา ทำให้เราเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่ไม่ได้มีความสมบูรณ์แบบ ยอมรับตัวตนในทุก ๆ ด้านให้ได้ และหาทางพัฒนาสิ่งที่ดีต่อไป รวมถึงแก้ไขสิ่งที่ไม่ดีในตัวเราต่อไป ให้เรากลายเป็นตัวเองในเวอร์ชั่นที่ดีขึ้น

การได้ทำความรู้จักกับตัวตนของตัวเองอย่างแท้จริงจะช่วยให้เราใช้ชีวิตได้ตามที่ต้องการได้มากขึ้น แต่บางครั้ง การขุดค้นตัวเองลึกลงไปอาจทำให้เราได้เจอบาดแผลอันเกิดความทรงจำที่ไม่ดีหรือประสบการณ์แย่ ๆ ที่เป็นสาเหตุทำให้เรากลายเป็นคนแบบนี้ในวันนี้ก็ได้ แต่ไม่ต้องเศร้าไป อย่างน้อยคุณได้ผ่านตอนนั้นมาแล้ว หลังจากนี้ค่อย ๆ เยียวยาแผลนั้นให้มันหายดี และเยียวยาตัวตนคุณในตอนนี้ไปด้วย 

อ้างอิง

Green, R. (2023, April 27). How to Live With Authenticity and Be Your Truest Self. Verywell Mind.