ทุกคนน่าจะรู้กันเป็นอย่างดีว่า นักจิตวิทยามีหน้าที่ในการช่วยดูแล รักษา ฟื้นฟู และช่วยเหลือผู้เข้ารับการรักษา ทั้งคนทั่วไปและผู้ป่วย ให้สามารถกลับมีสุขภาพจิตที่ดีและเหมาะสมในการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้ แต่ทุกเคยสงสัยไหมว่า นักจิตวิทยามีหน้าที่ในการดูแลคนอื่นก็จริง แล้วใครดูแลนักจิตวิทยาล่ะ?
คำตอบก็คือ เมื่อนักจิตวิทยามีปัญหาชีวิต พวกเขาก็จำเป็นต้องไปหานักจิตวิทยาของตัวเองเช่นกัน เพราะหลาย ๆ ครั้งคนเราก็มักติดหล่มอยู่กับความคิดภายในหัวของตัวเอง แม้แต่นักจิตวิทยาก็ต้องมองหาตัวช่วยเพื่อให้สามารถจัดการความคิดเหล่านั้นให้ได้เช่นกัน
นอกเหนือจากการไปพบนักจิตวิทยาแล้ว เหล่านักจิตวิทยาก็ยังมีวิธีการจัดการอารมณ์และจัดการความเครียดด้วยตัวเองอีกด้วย ซึ่ง Peace Please ได้รวบรวมมาให้ได้อ่านในบทความนี้กัน
1. ดูแลตัวเองก่อนเป็นอันดับแรก
สิ่งแรกที่นักจิตวิทยาทำ และไม่ว่าใครก็ควรทำก็คือ “การดูแลตัวเอง” สิ่งเบสิกพื้นฐานที่สุดที่จะนำมาซึ่งการอยู่ในสภาวะอารมณ์ที่ดีและมีความสุข การดูแลตัวเองสามารถทำได้ง่าย ๆ เช่น นอนให้พอ ทานข้าวให้อิ่ม ออกกำลังกายเป็นประจำ ใช้เวลากับคนที่รัก และใช้เวลากับตัวเอง เพียงเท่านี้ ก็ช่วยให้เราได้ดูแลตัวเองเป็นอย่างดีแล้ว
2. จัดการกิจวัตรประจำวันของตัวเอง
นักจิตวิทยามีวิถีชีวิตและการทำงานรูปแบบหนึ่ง เราทุกคนต่างก็มีวิถีการใช้ชีวิตในอีกรูปแบบหนึ่งเช่นกัน ชีวิตของแต่ละคนมีรายละเอียดแตกต่างกันไป ความแตกต่างนี้ทำให้เราต้องจัดการและออกแบบกิจวัตรประจำวันของตัวเองที่เหมาะสมออกมา ลองนึกภาพเปรียบเทียบคนที่ต้องเข้างานตอน 10 โมง กับตอน 8 โมง เพียงมีเวลาทำงานแตกต่างกันแค่นี้ก็ทำให้เราต่างมีวิถีชีวิตที่แตกต่างกันแล้ว
ยกตัวอย่าง Dr. Christina Hibbert นักจิตวิทยาคลินิกที่กำลังเป็นคุณแม่ลูกหก เธอต้องจัดการชีวิตตัวเองและช่วยจัดการชีวิตลูก ๆ เธอจึงต้องออกแบบกิจวัตรประจำวันที่ลดการเกิดความเครียดให้ได้มากที่สุดนั่นเอง
3. ตัดขาดจากโลกภายนอก
บางครั้งการจัดการชีวิตตัวเองในแต่ละวันก็ยากพอแล้ว การต้องมารับรู้เรื่องปวดหัวภายนอกอาจสร้างปัญหาเพิ่มขึ้นให้กับเราได้ เช่นเดียวกับ Jor-El Caraballo นักจิตบำบัดได้พูดถึงเรื่องการรับข้อมูลข่าวสารว่า บางครั้งการรับรู้เรื่องราวของคนอื่นอาจทำให้เราเครียดหรือเศร้าไปมากกว่าเดิม ดังนั้น ทุกครั้งก่อนจะรับข้อมูลข่าวสารหรือใช้โซเชียลมีเดีย เราต้องมีสติและรู้เท่าทันอารมณ์ของเราขณะใช้งานมันให้ได้
4. ใช้ร่างกายนำทาง
แม้แต่นักจิตวิทยาก็ใช้เวลาไปกับการครุ่นคิดไม่ต่างกับหลาย ๆ คน เพื่อให้พวกเขาได้ออกจากหัวและออกมาใช้ชีวิตบ้าง การออกกำลังกายถือเป็นกิจกรรมที่ดี เพราะมันจะช่วยให้เราเปลี่ยนจุดโฟกัสจากความคิดภายในหัวมายังที่ร่างกายแทน และทำให้เรารู้สึกได้ใช้ชีวิตในปัจจุบันมากขึ้น Sue Varma ผู้ช่วยศาสตราจารย์ของแผนกจิตเวชใน NYU Langone บอกว่า การออกกำลังกายเป็นสิ่งจำเป็นมาก เธอจะรู้สึกจัดระเบียบชีวิตได้ดีขึ้น เมื่อไปเดินออกกำลังกายในตอนเช้าก่อนที่จะทำงาน
5. หัวเราะให้มากขึ้น
เพราะมีงานวิจัยจากนักจิตวิทยาออกมาว่า การหัวเราะจะช่วยลดความเครียดได้ เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับสารสื่อประสาทในสมองอย่างโดปามีนหลั่งออกมา ซึ่งช่วยลดการเกิดฮอร์โมนความเครียดได้ ทำให้เรารู้สึกมีความสุขกับชีวิตได้ง่ายขึ้น แม้แต่การหัวเราะให้กับตัวเองหรือความผิดพลาดเล็ก ๆ น้อย ๆ ในแต่ละวันก็ช่วยให้เราลดการเกิดความเครียดได้ง่าย ๆ เช่นกัน
6. ปลดปล่อยออกมาผ่าน “การเขียน”
การจดบันทึกหรือการ Journaling ถือเป็นวิธีการหนึ่งที่นักจิตวิทยาหลาย ๆ คนแนะนำให้ผู้เข้ารับบริการทำ เพราะมันจะช่วยให้เราได้เห็นความคิดในหัวเป็นรูปธรรมมากขึ้น ช่วยให้เราระบุปัญหาได้ง่ายขึ้น และทำให้เราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตัวเราเอง ทำให้เราเข้าใจตัวเองมากขึ้น และแน่นอนว่ามันช่วยระบายความเครียดให้กับเราได้
7. มีงานอดิเรกในยามว่าง
เพราะชีวิตคนเราไม่ได้มีแค่การทำงาน แม้แต่นักจิตวิทยาก็ยังต้องมองหางานอดิเรกทำในยามว่าง เพราะมันช่วยให้พวกเขาผ่อนคลายจากเรื่องการทำงาน ได้พักสมองจากเรื่องเครียด ๆ และทำให้เรามีความสุขจากการได้ทำสิ่งที่ชอบนั่นเอง
8. เข้ารับความช่วยเหลือ
อย่างที่เราได้บอกไปข้างต้นว่า แม้แต่นักจิตวิทยาก็ต้องการความช่วยเหลือจากนักจิตวิทยาด้วยกันเอง เมื่อนักจิตวิทยาประเมินตัวเองแล้วว่าพวกเขาไม่สามารถจัดการกับอารมณ์และความเครียดที่เกิดขึ้นได้ การมองหาความช่วยเหลือ อาทิ พูดคุยกับนักจิตวิทยาที่ไว้ใจ การทำบำบัด การตรวจวินิจฉัยโรคทางจิตเวช ก็จะช่วยระบุปัญหาได้ชัดเจนยิ่งขึ้น และทำให้ได้จัดการปัญหาได้ในทันที
นักจิตวิทยาก็เป็นคนคนหนึ่งที่บางครั้งต้องเผชิญหน้ากับปัญหาในชีวิตไม่ต่างจากพวกเราเช่นกัน แต่ด้วยประสบการณ์ หน้าที่และจรรยาบรรณ ทำให้พวกเขาสามารถจัดการอารมณ์ของตัวเองได้เป็นอย่างดี ผ่านการใช้ความเข้าอกเข้าใจ (Empathy) และการรับฟังโดยไม่ตัดสิน (Deep Listening) และมีการจัดการขอบเขต (Boundaries) ทางด้านอารมณ์ได้เป็นอย่างดี ทำให้นักจิตวิทยาสามารถทำหน้าที่ได้ไม่ขาดตกบกพร่อง และให้การช่วยเหลือผู้เข้ารับบริการได้ตามความเหมาะสมนั่นเอง
อ้างอิง
Stanger, M. (2021, January 29). 6 Ways Therapists Relieve Their Own Stress. Talkspace.