เปิดมุมมอง Self-Diagnosis เพราะการไปพบนักจิตวิทยาไม่ใช่เรื่องง่าย แต่การวินิจฉัยอาการไปเองก็ไม่ควรทำเช่นกัน 

เชื่อเลยว่า เวลาที่หลาย ๆ คนเกิดป่วยขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นอาการป่วยทางกายหรือปัญหา Mental Health ทรุดโทรมก็ตาม คุณน่าจะเคยเสิร์ชกูเกิ้ลเพื่อเช็กดูอาการว่าเราคงไม่ได้ป่วยเป็นโรคร้ายอะไรใช่ไหมนะ ทว่าผลลัพธ์ที่ได้กลับเป็นอะไรที่น่าเป็นห่วงทั้งนั้น บางคนเผลอ ๆ ถึงกับมีความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งเลยทีเดียว และบางคนก็อาจมีอาการเข้าข่ายโรคซึมเศร้าไปเลยเช่นกัน 

ด้วยการวินิจฉัยอาการเบื้องต้นด้วยตัวเอง หรือที่เรียกว่า Self-Diagnosis นี้เอง ทำให้หลาย ๆ คนกังวลจนนอนไม่หลับมาเยอะแล้ว วันนี้เราจะมาพูดถึงเรื่อง Self-Diagnosis และผลเสียจากการวินิจฉัยอาการด้วยตัวเองมาให้ทำความเข้าใจเพิ่มมากขึ้น


ปัญหาสุขภาพจิต หรือปัญหา Mental Health คืออะไร?

ปัญหาสุขภาพจิต หรือปัญหา Mental Health คือภาวะจิตใจของเรารู้สึกเป็นทุกข์ ไม่มีความสุข เศร้าหมอง สิ้นหวัง ซึ่งล้วนเป็นความรู้สึกเชิงลบ นอกจากนี้ ยังรวมถึงการที่มีความรู้ความเข้าใจต่ออารมณ์และความรู้สึกของตนเองต่ำ ไม่รู้ว่าควรรับมือกับอารมณ์เชิงลบที่เกิดขึ้นกับตัวเองอย่างไร ทั้งนี้ทั้งนั้นอาจเกิดจากการดูแลสุขภาพกายได้ไม่ดีพอ เช่น ไม่ดูแลตัวเอง นอนไม่พอ บวกกับการเพิกเฉยการดูแลสุขภาพใจ เช่น ไม่ยอมรับความรู้สึกหรืออารมณ์ที่เกิดขึ้น เก็บกดทางความรู้สึก และยังรวมไปถึงปัจจัยที่เกิดจากสิ่งแวดล้อมและผู้อื่น เช่น อยู่ในครอบครัวที่ทะเลาะกันบ่อย พ่อแม่กดดัน ดุด่า ทำร้ายร่างกาย ก็ส่งผลให้เกิดการมีสุขภาพจิตที่ไม่ดีได้เช่นกัน  

เช็กปัญหาสุขภาพจิตเบื้องต้นได้ที่นี่


เมื่อคุณเครียด คุณจึง Self-Diagnosis

ถึงแม้ว่าการสังเกตความเปลี่ยนแปลงของสุขภาพกายและสุขภาพจิตของตัวเองอย่างเป็นประจำถือเป็นเรื่องดีที่ทุกคนควรทำอย่างสม่ำเสมอก็จริง แต่เมื่อใดก็ตามที่ตัวเราเองรับรู้ถึงความผิดปกติทางกายและทางจิตได้อย่างชัดเจน จนปรากฏเป็นอาการที่เห็นได้ชัดมากขึ้น มันย่อมทำให้ตัวเราเองเริ่มรู้สึกเครียดและมีความวิตกกังวลก่อตัวขึ้น พออารมณ์และความรู้สึกเหล่านี้เกิดขึ้นมา สิ่งแรกที่หลาย ๆ คนอาจจะทำก็คือการเช็กอาการตัวเองเบื้องต้นผ่านกูเกิ้ล เพียงพิมพ์คำถามไม่กี่คำ หน้าจอก็โชว์ให้เห็นความเป็นไปได้ที่หลากหลาย ตั้งแต่อาการไข้ทั่วไป ไปจนถึงความเสี่ยงต่อการเกิดโรคร้ายที่ไม่มีทางรักษาหาย ซึ่งแน่นอนว่า หลาย ๆ คนน่าจะมองว่าตัวเราเองมีความเสี่ยงเป็นอย่างหลังด้วยเช่นกัน และเมื่อสืบค้นมากขึ้น ก็จะพบคำตอบว่าค่ารักษาพยาบาลสิ่งที่เราอาจจะเป็นนี้จำเป็นต้องใช้เงินไม่น้อยเลย ซึ่งความน่าจะเป็น (ที่อาจจะไม่เป็นความจริง) เหล่านี้สามารถทำให้เราเครียดขึ้นมาได้ดื้อ ๆ และอาจทำให้อาการป่วยที่เป็นอยู่หนักข้อขึ้นก็ได้ 

อีกสิ่งหนึ่งที่หลาย ๆ คนอาจจะทำด้วยความเชื่อผิด ๆ นั่นก็คือการทานยาแก้ปวดทั่วไปเพื่อใช้ระงับอาการความเจ็บปวดเบื้องต้น หรือบางคนอาจปัญหาสุขภาพจิตแต่มีความเข้าใจผิด ๆ ที่ว่ายาแก้ปวดจะช่วยทำให้ความเศร้าหรือความกังวลหายไปได้ 

ซึ่งเรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องแปลกนัก เพราะการเข้าถึงความช่วยเหลือทางการแพทย์ในบางครั้งค่อนข้างยุ่งยาก ใช้เวลาเยอะเกินความจำเป็น รวมถึงมีค่าใช้จ่ายทางการแพทย์และการเข้ารับคำปรึกษากับนักจิตวิทยาก็แพงเอาเรื่องอยู่เหมือนกัน หลาย ๆ คนจึงต้องหลีกเลี่ยงการใช้จ่ายตรงนั้นผ่านการวินิจฉัยและรักษาอาการป่วยเบื้องต้นด้วยการทานยาแก้ปวดไปก่อน แน่นอนว่า สำหรับบางอาการ มันสามารถช่วยเหลือให้เราดีขึ้นได้ชั่วคราว แต่สำหรับบางโรค การทำแบบนี้อาจไม่ได้ช่วยบรรเทาอาการอะไรได้มากนัก 

ทำไมเราถึงไม่ควรด่วนทำ Self-Diagnosis

หนึ่งเหตุผลที่การทำวินิจฉัยอาการด้วยตนเอง หรือ Self-Diagnosis นั้นมีปัญหา เนื่องด้วยความคลาดเคลื่อนของข้อมูล ข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตนั้นมีการนำข้อมูลและข้อเท็จจริงมาพูดก็จริง แต่อาการป่วยของแต่ละคนนั้นอาจมีความแตกต่างกันไป เนื่องด้วยโรคที่เป็นนั้นสามารถแสดงอาการได้แตกต่างกันไปตามเงื่อนไขทางด้านร่างกายและจิตใจของแต่ละคนอยู่แล้ว การวินิจฉัยด้วยตนเองจึงมึความเสี่ยงสูงที่จะคลาดเคลื่อน ตราบใดที่เรายังไม่ได้รับการวินิจฉัยทางการแพทย์และการเข้ารับคำปรึกษากับนักจิตวิทยาอย่างจริงจัง เรามีสิทธิ์ที่จะป่วยเพียงครึ่งต่อครึ่งเท่านั้น   

อีกหนึ่งเหตุผลก็คือ Self-Diagnosis สามารถทำให้เราเกิดความวิตกกังวลได้ง่าย ซึ่งนำไปสู่ความเครียด จนอาจกลายเป็นความเครียดสะสม และกลายเป็นปัญหาสุขภาพจิตขึ้นมาจริง ๆ ได้เช่นกัน เพื่อให้ความวิตกกังวลและความเครียดของเราได้คำตอบเกี่ยวกับอาการป่วยที่แน่นอน เราจึงควรได้รับการวินิจฉัยทางการแพทย์หรือได้รับคำปรึกษาร่าวมกับนักจิตวิทยาอย่างจริงจังก่อนที่จะเกิดความกังวลไปเอง

ดังนั้นแล้ว การทำ Self-Diagnosis จึงเป็นเหมือนเหรียญที่มีสองด้าน ทั้งด้านดีที่มันทำให้เราได้สังเกตเห็นความเสี่ยงในการเกิดโรคของตัวเราเอง แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าเราไม่ได้รับการวินิจฉัยทางการแพทย์หรือเข้ารับคำปรึกษาร่วมกับนักจิตวิทยาอย่างจริงจัง ก็อาจทำให้เราเกิดความเครียดไปเอง และอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดต่อตัวโรคที่คลาดเคลื่อนก็เป็นได้เช่นกัน