คนส่วนใหญ่ใช้เวลาประมาณ 6-9 ชั่วโมงในการทำงานในแต่ละวัน นับเป็นเวลาประมาณ 1 ใน 3 ของหนึ่งวัน ซึ่งนั่นหมายความว่า ชีวิตการทำงานได้เข้ามาเป็นส่วนสำคัญที่นอกจากจะทำให้ชีวิตของคน ๆ หนึ่งเดินหน้าต่อไปได้ รวมไปถึงทำให้องค์กร ๆ หนึ่งเดินหน้าต่อไปได้เช่นกัน พอชีวิตการทำงานได้กลายมาเป็นส่วนที่สำคัญของชีวิตมนุษย์แล้ว นั่นแปลว่า การทำงานสามารถส่งผลต่อสภาพจิตใจและสภาพของเราได้ หากเราไม่มีความสุขในการทำงานก็จะส่งผลให้ชีวิตการทำงานเป็นทุกข์มากกว่าเป็นสุข หรือทำให้ไม่มี Work-Life Balance ที่เหมาะสม ซึ่งในส่วนนี้ นอกจากจะเป็นหน้าที่ของพนักงานในการหาทางออกให้กับตัวเอง ยังเป็นหน้าที่ขององค์กรที่ต้องจัดสรรแผนงานและนโยบายต่าง ๆ ให้พนักงานทำงานได้อย่างราบรื่นและมีความสุขมากที่สุดอีกด้วย
นอกจากประเด็นความสุขในการทำงานยังเป็นที่พูดถึงในภาคเอกชนแล้ว ภาครัฐก็ให้ความสำคัญกับประเด็นนี้เช่นกัน แผนงานสุขภาวะองค์กรภาคเอกชน สำนักงานกองทุน สนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ออกหนังสือเกี่ยวกับหลักการ “องค์กรแห่งความสุข” หรือ Happy Workplace เพื่อเป็นแนวทางให้กับหลาย ๆ องค์กรในการวางนโยบายและสวัสดิการให้แก่พนักงาน เพื่อเพิ่มความพึงพอใจในชีวิตการทำงาน
Happy Workplace คืออะไร มีอะไรบ้าง?
หลักการองค์กรแห่งความสุข หรือ Happy Workplace เป็นการรักษาสมดุลระหว่างชีวิตมนุษย์ 3 ส่วนด้วยกัน ได้แก่ ความสุขของตัวเราเอง ความสุขของครอบครัว และความสุขขององค์กรและสังคม โดยแบ่งหลักการออกเป็น 8 ข้อหลัก ๆ เรียกว่า Happy 8 ความสุขแปดประการ
1. Happy Body มีสุขภาพดี
เป็นความสุขที่เกิดจากการมีสุขภาพกายและสุขภาพใจที่ดี โดยส่งเสริมให้พนักงานได้นอนพักผ่อนเพียงพอ ทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย และออกกำลังกายสม่ำเสมอ
2. Happy Heart มีนำ้ใจงาม
เป็นความสุขที่เกิดจากการมีน้ำใจ การช่วยเหลือเกื้อกูลกันระหว่างองค์กร เช่น เพื่อนร่วมงานไม่เข้าใจเนื้องาน เราก็ให้การช่วยเหลือโดยการช่วยอธิบายเพิ่มเติม หรือในช่วงที่ทีมกำลังทำงานให้ทันตามเดดไลน์ เราก็ช่วยทำในส่วนที่ทำได้ เพื่อให้ทีมเสร็จงานตรงเวลา
3. Happy Relax มีเวลาพักผ่อน
เป็นความสุขที่เกิดจากการได้พักผ่อน ได้ผ่อนคลายจากชีวิตการทำงาน มีเวลาพักที่เหมาะสม ได้มีเวลาทำกิจกรรมที่ตัวเองชอบ ซึ่งทำได้โดยจัดสรรเวลาการทำงานให้เหมาะสม ให้งานเสร็จตามกำหนด เพื่อให้เราได้มีเวลาพักผ่อน ไม่ต้องเอาเวลาพักไปทำงาน
4. Happy Brain มีการพัฒนาตัวเอง
เป็นความสุขที่เกิดจากการได้พัฒนาตัวเอง การเรียนรู้เกิดขึ้นได้ตลอดชีวิตและไม่มีที่สิ้นสุด คนเรายังสามารถเรียนรู้ได้ถึงแม้จะเข้าสู่วัยทำงานแล้ว ซึ่งสามารถทำได้โดยการหาความรู้พัฒนาตัวเองในสายงานที่ตัวเองทำ หรือแม้กระทั่งการหาความรู้ที่ตัวเองสนใจและไม่มีความเกี่ยวข้องกับการทำงานก็ได้เช่นกัน ความรู้เหล่านี้จะช่วยเติมเต็มและส่งเสริมให้เราเป็นคนในเวอร์ชั่นที่รอบรู้และดีกว่าเดิม
5. Happy Soul มีคุณธรรมในการดำเนินชีวิต
เป็นความสุขที่เกิดจากการน้อมนำแนวคิดที่ตัวเองยึดถือมาใช้ในการดำเนินชีวิต เช่น มีความละอายใจเมื่อทำให้เพื่อนในที่ทำงานเดือดร้อน ซึ่งเกิดจากการที่เราทำงานของเราไม่เสร็จ เพื่อนจึงทำต่อไม่ได้ หรือการยึดถือแนวคิดในศาสนาพุทธที่เชื่อในการทำดี ไม่ทำผู้อื่นเดือดร้อน ก็สามารถช่วยลดความผิดพลาดได้ เป็นต้น
6. Happy Money บริหารเงินเป็น
เป็นความสุขที่เกิดจากการบริหารเงินของตัวเองเป็น รู้ว่าเรามีรายจ่ายเท่าไหร่ มีหนี้สินที่ต้องจัดการไหม การใช้จ่ายของเราเกินตัวไหม มีความพอดีกับรายได้ที่มีหรือไม่ ซึ่งสามารถทำได้โดยทำบัญชีรายรับรายจ่าย หรือในสมัยนี้ มีแอปพลิเคชันหลากหลายที่สามารถช่วยจดบันทึกบัญชีรายรับรายจ่ายของเราได้ ถ้าหากเราจัดการและบริหารเงินของเราได้ เราจะสามารถต่อยอดการเงิน หรือนำเงินมาลงทุนกับความสุขของตัวเองได้อย่างเหมาะสมนั่นเอง
7. Happy Family มีครอบครัวเข้มแข็ง
เป็นความสุขที่เกิดจากการมีครอบครัวที่ดี เพราะครอบครัวคือสังคมแรกที่ทุกคนต้องเผชิญ ดังนั้น การดูแลครอบครัวให้ดีจะช่วยให้เรารับมือกับสังคมข้างนอกได้ดีมากขึ้น ซึ่งทำได้โดยมีการดูแลเอาใจใส่กันเป็นอย่างดี ห่วงใย ให้กำลังใจกันอยู่เสมอ ไม่ทำร้ายจิตใจกันทางคำพูดและการกระทำ พร้อมฝ่าอุปสรรคและความท้าทายในชีวิตไปด้วยกัน
8. Happy Society สร้างสังคมที่ดี
เป็นความสุขที่เกิดจากการที่เรามีสังคมรอบข้างที่ดี ทั้งสังคมที่เราอยู่อาศัยและสังคมการทำงาน การสร้างบรรยากาศที่เป็นมิตร เปิดกว้าง และรับฟัง เช่น หัวหน้ามีการรับฟังความขัดแย้งที่เกิดขึ้นว่าเกิดจากอะไรและหาทางออกร่วมกัน จะทำให้ทีมเปิดใจและรู้สึกไม่โดดเดี่ยวหรือโดนทิ้งในการเผชิญหน้ากับปัญหา เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยทำให้สังคมของเราน่าอยู่และพัฒนาไปในทิศทางที่ดีต่อไปได้
องค์กรสามารถนำ หลักการ Happy Workplace ไปปรับใช้ได้อย่างไรบ้าง?
สิ่งแรกที่ควรทำคือการตรวจสอบว่าในองค์กรของเรามีนโยบายหรือกฏข้อไหนที่เข้าข่าย Happy 8 ความสุขแปดประการบ้าง และพิจารณาในข้อที่ไม่มี เช่น ที่องค์กรมีทุนให้กับพนักงานในการพัฒนาตัวเอง ซึ่งตรงกับ Happy Brain มีการพัฒนาตัวเอง แต่อาจไม่มี Happy Body มีสุขภาพดี เช่น ไม่มีอาหารพักเบรคที่มีประโยชน์ให้กับพนักงาน หรือไม่มีการตรวจสุขภาพประจำปี ก็สามารถนำข้อนี้ไปพูดคุยและพัฒนาต่อเป็นนโยบายและสวัสดิการต่อไป เพื่อให้เข้ากับองค์กรและตรงกับความต้องการของพนักงานมากขึ้นได้
สิ่งที่สองที่ควรทำคือ การประเมินความพึงพอใจของพนักงาน โดยสามารถนำ Happy 8 ความสุขแปดประการ มาดัดแปลงเพื่อทำแบบสอบถามก็ได้ หรือนำแบบประเมินขององค์กรเอง รวมไปถึงแบบประเมินรูปแบบอื่น ๆ ก็ได้เช่นกัน เพื่อประเมินว่าพนักงานมีความพึงพอใจกับชีวิตการทำงานไหม นโยบายไหนเป็นประโยชน์กับพนักงานมากที่สุด ควรปรับปรุงนโยบายไหน หรือพนักงานอยากได้อะไรเพิ่มเติมหรือไม่ โดยสามารถนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์เพื่อนำไปพัฒนาและปรับปรุงนโยบายต่าง ๆ ให้ตรงกับความต้องการของพนักงานและสร้างความพึงพอใจให้แก่พนักงานต่อไป ซึ่งจะเป็นผลดีต่อองค์กรได้ในระยะยาว
การสร้างชีวิตการทำงานที่มีความสุขให้กับพนักงานในองค์กรเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะถ้าหากพนักงานไม่สามารถหาความสุขกับชีวิตการทำงานได้ ก็จะยิ่งทำให้มีความเสี่ยงที่จะมีอัตราการลาออกเพิ่มขึ้น ส่งผลให้องค์กรต้องเสียเงินและเสียเวลาในการหาพนักงานใหม่ ดังนั้น การใส่ใจความสุขและความเป็นอยู่ของพนักงาน จะเป็นผลดีต่อองค์กรในระยะยาวมากกว่า และทำให้พนักงานรับรู้ถึงความใส่ใจขององค์กรได้มากขึ้นอีกด้วย