ไม่ว่าพ่อแม่หรือผู้ปกครองคนไหนก็ต้องการให้ลูกของตนได้ดิบได้ดี เรียนเก่ง มีผลการเรียนดี ประสบความสำเร็จในด้านการเรียน ด้านหน้าที่การงาน รวมไปถึงทุก ๆ ด้านในชีวิต ฟังดูเป็นความต้องการที่ดี แต่อะไรที่มากไปมักไม่ใช่สิ่งที่ดีเป็นแน่
วันนี้ Peace Please ชวนมาทำความรู้จัก Golden Child Syndrome เป็นภาวะที่วัยรุ่นหรือผู้ใหญ่ได้รับผลกระทบมาจากในวัยเด็กที่ถูกครอบครัวตั้งความคาดหวังสูงลิบลิ่ว ความกดดันต่าง ๆ เหล่านั้นได้ส่งผลจนกลายมาเป็นสิ่งทีสร้างบาดแผลให้ตอนเป็นเด็กและส่งผลมายังตอนโต ซึ่ง Golden Child Syndrome ไม่ได้เป็นโรคจิตเวชหรือความผิดปกติทางจิตใจแต่อย่างใด หากแต่เป็นคำที่ใช้เรียกเด็ก ๆ ที่เติบโตมากับพ่อแม่ที่มีอาการหลงตัวเอง หรือ Narcissism
ตามปกติแล้ว Golden Child เป็นคำที่มีดูมีความหมายไปทางบวก หมายถึงเด็กที่เป็นที่รักของครอบครัว คล้าย ๆ กับเป็นเด็กคนโปรดของบ้าน แต่สำหรับบางครอบครัว การได้เป็นคนโปรดของที่บ้าน ย่อมต้องมีอะไรมาแลก เช่น เป็นเด็กที่คนในบ้านสามารถฝากความหวังได้ เป็นคนที่อยู่ในกฏระเบียบ เป็นเด็กที่ดูจะโตไปประสบความสำเร็จในชีวิตได้ เป็นหน้าตาของวงศ์ตระกูล เป็นความภาคภูมิใจของบ้าน ซึ่งนั่นส่งผลให้เด็กคนนั้นไม่กล้าเป็นตัวของตัวเอง และพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้ตัวเองยังคงเป็น “เด็กคนโปรด” ของที่บ้านอยู่เสมอ เพราะนั่นเป็นวิธีเดียวที่จะทำให้พวกเขาอยู่ในสายตาของที่บ้านนั่นเอง
แน่นอนว่าการที่เด็กแบบรับหน้าที่ในการเชิดหน้าชูตาให้ที่บ้านตั้งแต่อายุยังน้อย จะสร้างความกดดันให้เด็กคนนั้นอยู่ภายในใจ อาจมากเกินไปจนส่งผลมาให้ในวัยผู้ใหญ่ จากบทความของ Kristen Fuller และ Suzanne Degges-White จิตแพทย์และนักจิตวิทยาการปรึกษา ได้ยกตัวอย่างผลกระทบของการเป็น Golden Child Syndrome เอาไว้ ลองมาดูกันดีกว่าว่า ผลกระทบของคนที่เป็น Golden Child Syndrome ในตอนโต จะเป็นยังไงกันบ้าง
1. มี Low Self-Esteem
Low Self-Esteem หรือการมองเห็นคุณค่าในตนเองต่ำ เป็นเพราะว่า ในวัยเด็กเติบโตมากับการผูกคุณค่าของตนเองไว้กับการเป็น “เด็กคนโปรด” ของครอบครัว พอต้องออกมาเผชิญโลกข้างนอกที่ใหญ่กว่าครอบครัว จึงทำให้กังวลและไม่มั่นใจในตนเอง เพราะเราไม่สามารถเป็น “เด็กคนโปรด” ของสังคมได้เหมือนกับการเป็น “เด็กคนโปรด” ของครอบครัว
2. เป็น People Pleaser
ยอมคนในบ้านตั้งแต่เด็ก โตมาก็กลายเป็นว่ายอมทุกคนไปหมด เพราะคิดว่ายอมทำทุกอย่างให้คนอื่นแล้วจะได้อยู่ในสายตาพวกเขา และยังคงมีประโยชน์ต่อพวกเขานั่นเอง
3. ไม่รู้ขอบเขตของตัวเอง
เพราะต้องการทำให้คนอื่นพึงพอใจอยู่ตลอดเวลา จึงทำให้ไม่สนใจความต้องการและความรู้สึกของตัวเอง กลายเป็นว่า ไม่รู้ว่า Boundary ของตัวเองคืออะไร คนอื่นล้ำเส้นของเราได้มากแค่ไหน จึงทำให้หลาย ๆ ครั้งรู้สึกเจ็บปวดจากการโดนล้ำเส้นอยู่บ่อย ๆ อีกด้วย
4. ความวิตกกังวลคือเพื่อนสนิท
การเป็นเด็กที่เติบโตมากับการที่ต้องคอยระแวงตลอดว่าสิ่งที่เราทำอาจไม่ถูกใจพ่อแม่ ทำให้เด็กคนนั้นเปิดโหมดมอนิเตอร์ความรู้สึกของคนอื่นอยู่ตลอดเวลา กลัวทำไม่ถูกใจคนอื่น กลัวไม่เป็นที่รัก จึงมีความระแวงและวิตกกังวลอยู่ตลอดเวลา
5. มีความสัมพันธ์ที่แย่
Golden Child มักมีความสัมพันธ์กับครอบครัวไม่มั่นคงเท่าไหร่นัก โตมาอาจรู้สึกไม่มั่นใจในความสัมพันธ์ กลัวว่าถ้าทำพลาดครั้งหนึ่งอาจถูกทิ้งไปเลย เพราะในวัยเด็กมีความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวไม่ดีเท่าไหร่นัก ทำให้พอโตมา การสร้างความสัมพันธ์ใหม่ ๆ จะกลายเป็นความสัมพันธ์ที่ไม่ดีตามไปด้วย
6. ซึมซับนิสัยพ่อแม่มา
ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น เด็ก ๆ บางคนอาจไม่ได้กลายเป็นคนอย่าง 5 ข้อที่เรากล่าวมา แต่อาจกลายเป็นคนที่เหมือนกับพ่อแม่ของพวกเขาแทน เช่น กลายเป็นคนที่มีความคาดหวังสูง เป็นคนที่คาดหวังให้ทุกคนอยู่ในกฏระเบียบ เป็นต้น
เด็กก็เหมือนผ้าใบหรือกระดาษสีขาว ถ้าเรานำอะไรให้เขา เขาก็จะเป็นอย่างนั้น แต่อะไรที่มากเกินไปก็ไม่ดี อย่างเช่นความหวังดีที่มากเกินไป แท้จริงแล้วมันอาจจะไม่ใช่ความหวังดีก็เป็นได้ มันอาจเป็นการโยนความฝันของผู้ใหญ่ที่เป็นไปไม่ได้ไปให้เด็กทำแทน ซึ่งนั่นไม่ใช่สิ่งที่ดีเท่าไหร่ เพราะเราทุกคนต่างมีสิ่งที่อยากทำเป็นของตัวเองทั้งนั้น ผู้ใหญ่และเด็กคือคนที่มีความฝันคนละรูปแบบกัน อย่าไปเอาความฝันของเรายัดใส่มือใครเลย