“การให้อภัย” Forgiveness วิถีแห่งการปลดเปลื้องตัวเองจากพันธะและความเจ็บปวด

เคยโกรธใครมาก ๆ แล้วรู้สึกว่าต่อให้เป็นตายร้ายดียังไงก็ไม่อยากให้อภัย กันบ้างไหม?

มันเป็นเรื่องปกติของอารมณ์โกรธนั่นแหละ เวลามีใครมาทำอะไรให้ไม่พอใจ ไม่ตรงกับความคาดหวังของเรา ทำอะไรไม่ถูกใจเรา ย่อมทำให้เราเกิดความไม่พอใจ พอเจอหนัก ๆ เข้าก็ลามไปทำให้โกรธแค้นกัน

มันคงจะดีกว่านี้ถ้าเราไม่สร้างปัญหาให้กันมาตั้งแต่แรก แต่ถ้าปัญหาและความขัดแย้งมันเกิดขึ้นไปแล้ว ความรู้สึกที่เสียไปอาจไม่สามารถย้อนคืนกลับมาได้ คนโกรธก็โกรธไป คนเสียความรู้สึกก็เสียดายความสัมพันธ์ไป คนที่ก่อเหตุอาจจะรู้สึกผิด เศร้า หรือละอายใจ แต่บางคนก็อาจจะไม่รู้สึกรู้สาอะไรเลยก็มี

สำหรับคนที่โดนทำให้เสียความรู้สึก แน่นอนว่า ความเจ็บปวด ความบอบช้ำทางจิตใจ ความโกรธ ความไม่พอใจ จะยังคงอยู่กับเราไปอีกสักพักหนึ่ง สำหรับบางคนก็อาจคงอยู่นานไปตลอดชีวิตเลยก็ได้ ต่อให้คนผิดได้มาขอโทษ แสดงความรับผิดชอบ หรือรับโทษไปตามผิดก็แล้ว แต่ความรู้สึกที่เสียไปนั้น ยากที่จะสร้างใหม่และทวงคืนให้มันกลับมารู้สึกดีอีกครั้ง ในขณะเดียวกันสำหรับบางคน ความไม่พอใจเหล่านั้นไม่ได้เกิดขึ้นกับคนอื่น แต่เกิดขึ้นกับตัวเราเอง ซึ่งเกิดได้จากเราไม่พอใจในตัวเอง เรามองว่าเราไม่น่าให้อภัย เรามองว่าเราไม่สมควรได้รับโอกาส เรามันไม่ดีพอ ซึ่งการเลือกที่จะโทษตัวเองหรือโกรธตัวเองก็ส่งผลต่อสภาวะจิตใจของเราได้ไม่ต่างจากการโกรธคนอื่นเช่นเดียวกัน

ความรู้สึกแย่ ๆ ที่เรามีต่อตัวเราเองหรือคนบางคนจะวนอยู่รอบตัวเราเป็นดั่งพันธะที่ไม่มีวันสูญสลาย การไม่ยอมปล่อยให้ความรู้สึกนี้หายไปก็เหมือนกับการถือหินไว้ก้บตัว มันทั้งหนัก ทั้งเป็นภาระ และไม่ดีต่อความรู้สึกในระยะยาว สิ่งหนึ่งที่จะช่วยเราจากความรู้สึกนี้ได้คือ “การให้อภัย” 

การให้อภัยเป็นเรื่องที่พูดง่าย แต่ทำได้ยาก เพราะคนบางคนก็สมควรโดนโกรธไปชั่วชีวิตจริง ๆ แต่การโอบอุ้มความโกรธไปตลอดชีวิตนั้นก็เป็นเรื่องที่หนักอยู่เหมือนกัน การปล่อยวางด้วยการให้อภัยอาจเป็นทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพจิตเรามากกว่าก็ได้ ไม่ใช่แค่การให้อภัยคนอื่น แต่การให้อภัยตัวเองก็สำคัญไม่แพ้กัน

แนวทางให้อภัยตัวเองและคนอื่น

1.  ระบายมันออกมา

ทุกความรู้สึกที่เกิดขึ้น ลองปลดปล่อยมันออกมาด้วยวิธีที่เหมาะสม เช่น ร้องไห้ เล่าให้คนอื่นฟัง เขียนบันทึก วาดรูป ไปต่อยมวย หรือกิจกรรมอื่น ๆ ที่สามารถทำให้เรารู้สึกดีขึ้น 

2. ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น

ยอมรับและทำความเข้าใจกับตัวเองเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ความรู้สึกที่เกิดขึ้น ความเจ็บปวดที่เกิดขึ้น มันอาจจะเป็นเรื่องที่เจ็บปวด แต่การเข้าใจว่ามันเกิดอะไรขึ้น จะช่วยพาเราไปสู่อีกขั้นว่า อะไรเป็นสาเหตุที่มันเกิดขึ้น ซึ่งเราจะเรียนรู้จากมันได้ 

3. สื่อสารอย่างตรงไปตรงมา

ถ้าเราเป็นต้นเหตุของเรื่องนี้และอยากให้อภัยตัวเอง สิ่งแรกที่ควรทำคือไปขอโทษคนที่เราทำให้เจ็บปวด จากนั้นให้เวลาตัวเองในการยอมรับพฤติกรรมที่ไม่ดีของเรา และให้โอกาสอีกครั้ง แต่ถ้าหากคนอื่นเป็นต้นเรื่อง ลองติดต่อพูดคุยกับเขา เพื่อสื่อสารว่าสิ่งที่เขาทำนั้นส่งผลต่อจิตใจของเรานะ อย่างน้อยเขาควรขอโทษ เป็นต้น

4. มองถึงสิ่งดี ๆ ที่เกิดขึ้น

ถึงแม้เราจะพบเจอเหตุการณ์ไม่ดีมา แต่การที่เรายังอยู่ตรงนี้ แวดล้อมไปด้วยเพื่อน ครอบครัว และคนรักที่สนับสนุนเราอย่างเต็มที่ เรายังได้กินอาหารเต็มอิ่ม นอนหลับพักผ่อนเต็มที่ ถือว่าเป็นเรื่องราวที่ดีเกินคาดแล้ว และถ้าหากเราก้าวข้ามความเจ็บปวดและให้อภัยตัวเองและผู้อื่นได้ ทุกสิ่งทุกอย่างจะต้องดีขึ้นไปมากกว่านี้แน่ ๆ 

5. โอบกอดตัวเองด้วยความเข้าอกเข้าใจ (Empathy)

มองตัวเอง มองผู้อื่น และมองโลกด้วยความเข้าใจ มันมีทั้งดีและร้าย ขาวและดำ คนที่เคยทำไม่ดีกับเรา อาจเป็นเพราะพวกเขาเติบโตมาอย่างไม่ดี มีปัจจัยบางอย่างที่ทำให้พวกเขาทำตัวแย่ ๆ รวมถึงตัวเราเองเช่นกัน หากมองทุกอย่างด้วยความเป็นกลางได้ การให้อภัยจะกลายเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น และเราจะปล่อยวางได้มากขึ้นเช่นกัน

อย่าเก็บอารมณ์แย่ ๆ ไว้กับตัวเองนานนักละ

อ้างอิง

Scott, E. (2022, March 11). How to Forgive Someone. Verywell Mind.