Fear of Intimacy ความกลัวความใกล้ชิดที่ทำให้เราผลักใครสักคนออกไปให้ไกลจากหัวใจอยู่เสมอ

เวลาที่เราทำความรู้จักกับคนใหม่ ๆ ในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ฉันท์คนรัก เพื่อน เพื่อนร่วมงาน หรือความสัมพันธ์รูปแบบไหนก็ตาม เราเริ่มจากการทำความรู้จักอย่างฉาบฉวย เราทำความคุ้นเคยผ่านเปลือกนอกที่เรานำเสนอให้กันและกันได้รู้เห็น และทำความเข้าใจจากคำพูดผิวเผินที่เปิดเผยตัวตนเพียงมุมตื้น ๆ ให้เห็นกันทั้งนั้น แต่เมื่อใดก็ตามที่เราเริ่มมีความไว้ใจเกิดขึ้นในความสัมพันธ์ สิ่งที่เราแทบจะทุกคนต่างเริ่มทำคือการเปิดใจ เริ่มเปิดเผยตัวตนที่ซ่อนไว้ในมุมมืดให้มันได้ออกมาทักทายผู้อื่นสักนิด ไม่ว่าจะเพื่อให้คนอื่นรู้จักเรามากขึ้น หรือเราเพียงต้องการทดสอบว่าคนอื่นจะยอมรับตัวตนที่แท้จริงของเราได้หรือไม่ก็ตาม เมื่อความสัมพันธ์เริ่มสนิทใจมากขึ้น เราต้องเตรียมใจสำหรับความใกล้ชิดที่จะเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะพร้อมอ้าแขนเปิดรับให้ทุกคนเข้าใกล้หัวใจโดยไร้ข้อกังขา เราบางคน หรือหลาย ๆ คนในสังคมที่เราอาศัยอยู่นั้นมีคนที่ไม่กล้าจะเปิดใจอยู่จำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว หนึ่งในเหตุผลที่ทำให้พวกเขาไม่เปิดใจมากพอ อาจเกิดจาก Fear of Intimacy หรือ ความกลัวความใกล้ชิด ก็เป็นได้

และวันนี้เราจะไปทำความเข้าใจกับ  Fear of Intimacy หรือ ความกลัวความใกล้ชิด ให้มากขึ้นกัน

Fear of Intimacy ความกลัวความใกล้ชิด คืออะไร?

Fear of Intimacy หรือ ความกลัวความใกล้ชิด เป็นความกลัวรูปแบบหนึ่งที่เกิดขึ้นเมื่อมีใครเข้ามาสนิทสนมหรือตีสนิททางความรู้สึกมากเกินไป จึงมีการหลีกเลี่ยงความใกล้ชิดที่เกิดขึ้นนี้ด้วยการผลักไสคน ๆ นั้นออกไป เพื่อให้เรารู้สึกสบายใจและปลอดภัยมากขึ้นจนอาจทำให้ความสัมพันธ์กับผู้อื่นมีปัญหาขึ้นมาได้ ความกลัวความใกล้ชิดไม่ใช่ภาวะ อาการ หรือโรคทางจิตเวช หากแต่ส่งผลต่อการมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างและการใช้ชีวิตในสังคมได้ โดยความกลัวนี้เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ตั้งแต่ประสบการณ์ฝังใจในวัยเด็ก ถูกทำร้ายจิตใจโดยการเพิกเฉยความรู้สึกจากพ่อแม่หรือผู้ปกครอง หรือโดนทำร้ายทางความรู้สึกมาก็ได้เช่นกัน

อารมณ์ความรู้สึกของ Fear of Intimacy หรือ ความกลัวความใกล้ชิด ที่สังเกตได้เบื้องต้น 

  • ไม่ชอบให้คนอื่นเข้าใกล้หรือสัมผัสตัวเอง
  • มีปัญหาในการแสดงออกถึงความต้องการภายในใจของตัวเอง
  • รู้สึกกลัวการมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับผู้อื่น
  • มีความสัมพันธ์กับผู้อื่นเพียงระยะสั้น ๆ และมีการสร้างความสัมพันธ์ใหม่อยู่เรื่อย ๆ 
  • มองหาความสมบูรณ์แบบในผู้อื่นอยู่เสมอ จนทำให้ไม่พอใจในความสัมพันธ์

วิธีจัดการกับ Fear of Intimacy หรือ ความกลัวความใกล้ชิด เบื้องต้น

1. สังเกตอาการของตัวเอง

ความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากเราไม่รู้ว่าตัวเองมีปัญหาในการสร้างความใกล้ชิดกับคนอื่น สังเกตว่าตัวเองมีปัญหาในการสร้างความสนิทสนมกับคนอื่นหรือไม่ คนรอบข้างมีปัญหากับเราไหม และมันเป็นปัญหาใหญ่ที่เราอยากแก้ไขหรือไม่ การทบทวนตัวเองจะช่วยให้เราสร้างเป้าหมายในการเปลี่ยนแปลงได้ดีขึ้น

2. ยอมรับสิ่งที่เป็น

เมื่อแน่ใจในคำตอบว่าเรามีปัญหาเกี่ยวกับ Fear of Intimacy หรือ ความกลัวความใกล้ชิด แล้วนั้น อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กับการสังเกตอาการของตัวเอง นั่นก็คือการยอมรับสิ่งที่เราเป็น ยอมรับว่าเรามีปัญหาด้านนี้ และเราต้องการที่จะแก้ไขมันให้ดีขึ้น การยอมรับจะช่วยทำให้เรามองตัวเองอย่างที่เป็นและมีความต้องการที่จะแก้ไขปัญหาให้เป็นไปตามที่เราตั้งเป้าไว้ได้ดีขึ้น

3. หาพื้นที่ปลอดภัย

การสร้างความสนิทสนมในความสัมพันธ์ไม่ใช่เรื่องง่าย เราจึงต้องเริ่มสร้างความใกล้ชิดในความสัมพันธ์กับคนที่เราไว้ใจและเป็นพื้นที่ปลอดภัยของเรา เช่น เริ่มจากในกลุ่มเพื่อน โดยให้เราลองเปิดใจเล่าเรื่องส่วนตัวให้เพื่อนฟัง หรือบอกเล่าความกังวลของเราให้ครอบครัวฟัง เป็นต้น

4. ให้โอกาสตัวเองในการเชื่อใจผู้อื่น

ความสนิทสนมหรือความใกล้ชิดสร้างขึ้นได้จากความเชื่อใจ หากเราไม่ลองเชื่อใจคนอื่นแล้ว การสร้างความสนิทสนมหรือความใกล้ชิดจะกลายเป็นเรื่องที่ท้าทายมากยิ่งขึ้น ถึงแม้ว่าเราจะเคยเจอความสัมพันธ์ที่ไม่ดีในอดีตมา แต่อดีตที่ผ่านไปแล้วมันแตกต่างจากสิ่งที่เป็นอยู่ตอนนี้ คนที่เราไว้ใจในตอนนี้ไม่ใช่คนในอดีตแล้ว ดังนั้น ถ้าเรารู้สึกไว้วางใจในใครสักคนแล้ว ลองเปิดใจเชื่อพวกเขาและสร้างความสนิทสนมให้เพิ่มมากขึ้น นอกจากจะดีต่อตัวเราแล้ว ยังดีต่อความสัมพันธ์นี้ด้วย 

5. เข้ารับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ

หากการสร้างความสนิทสนมหรือความใกล้ชิดกับคนอื่นนั้นเป็นเรื่องที่ทำได้ยากเกินไป สามารถปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาทางออกร่วมกันได้ หรืออาจมีการตรวจเช็กอาการอื่น ๆ เพิ่มเติม การที่เราไม่ไว้ใจผู้อื่นง่าย ๆ อาจเกิดจากปัจจัยของโรคทางจิตเวชร่วมด้วยก็ได้ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญจะช่วยเราจัดการเรื่องนี้ได้

ความสนิทสนมหรือความใกล้ชิดเป็นเหมือนกับดาบสองคมก็จริง ถ้าเราเชื่อใจถูกคนก็คงไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าเราดันไปเชื่อใจผิดคน มันอาจส่งผลกระทบทางด้านจิตใจต่อมาได้ และทำให้เราไม่กล้าเชื่อใจใครง่าย ๆ เหมือนแต่ก่อน รวมถึงมีปัญหาด้าน Fear of Intimacy หรือ ความกลัวความใกล้ชิด ขึ้นมาได้ แต่ถึงแม้เราจมีประสบการณ์ที่ไม่ดีมาก่อน นั่นไม่ได้หมายความว่าเราจะเจอคนที่แย่เสมอไป โลกข้างนอกนั้นยังมีคนของเราและพื้นที่ของเราอยู่เสมอ

อ้างอิง

Signs of Fear of Intimacy. (2022, December 3). WebMD.

Fritscher, L. (2024, January 12). Fear of Intimacy: Signs, Causes, and Coping Strategies. Verywell Mind.