ในช่วงที่ผ่านมานี้ มีข่าวเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและสภาพอากาศที่น่าเป็นห่วงหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นภัยธรรมชาติ ฝนตกหนัก หิมะถล่ม น้ำท่วม น้ำแล้ง รวมถึงการมีสภาพอากาศที่สุดขั้ว หรือ Extreme Weather ที่อากาศเปลี่ยนไปร้อนสุดขั้ว หรือหนาวสุดขั้วในหลาย ๆ พื้นที่ทั่วโลก ซึ่งส่งผลต่อการใช้ชีวิตของผู้คนโดยตรง เช่น ส่งผลต่อการเดินทางในชีวิตประจำวัน อย่างเช่นน้ำท่วมเดินทางไม่ได้ หรือส่งผลต่อการเกษตรทำให้ผลผลิตทางการเกษตรได้รับผลกระทบ ส่งผลให้ขาดแคลนวัตถุดิบในหลาย ๆ อุตสาหกรรม เป็นต้น นอกจากนี้ สภาพอากาศสุดขั้วยังส่งต่อสภาพจิตใจของเราได้ด้วย
จากการศึกษาของกลุ่มนักวิจัยชาวจีน ที่ทำการศึกษาเกี่ยวกับสภาพอากาศสุดขั้วและความเป็นไปได้ที่จะเกิดภาวะซึมเศร้า ในช่วงปี ค.ศ. 2011-2018 พบว่า ทั้งการอยู่อาศัยในพื้นที่ที่หนาวมาก ๆ และร้อนมาก ๆ จะส่งผลให้เกิดภาวะซึมเศร้า อันนำไปสู่การเกิดโรคซึมเศร้าได้ ซึ่งคนแต่ละกลุ่มที่ทำการศึกษาก็จะมีปัจจัยส่งเสริมที่ทำให้เสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าแตกต่างกัน อย่างคนที่อาศัยอยู่ทางจีนตอนใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่คุ้นเคยกับความร้อนมากกว่า หากเจอสภาพอากาศที่แปรปรวนกลายเป็นอากาศที่หนาวขึ้น ก็สามารถทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคซึมเศร้าได้มากกว่า
สภาพอากาศสุดขั้วที่เกิดขึ้นในระยะยาวสามารถส่งผลต่อการเกิดโรคซึมเศร้าได้จริง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดโรคซึมเศร้ามีหลากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นพันธุกรรม สุขภาพ อายุ สภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย การใช้ชีวิต ฐานะทางเศรษฐกิจ เป็นต้น ซึ่งจากงานวิจัยก็มีระบุไว้ว่า กลุ่มผู้สูงอายุจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคซึมเศร้ามากกว่าเมื่ออยู่ในที่ที่มีอากาศหนาวมาก นอกจากนี้ยังมีกล่าวไว้ว่า กลุ่มคนวัยกลางคน กลุ่มคนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดี และกลุมคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบท มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้าสูงกว่าเมื่ออยู่ในพื้นที่ที่มีอากาศร้อนมาก
จากภาวะโลกร้อน โลกรวน มายังโลกเดือด ล้วนทำให้เราเห็นได้ชัดเจนมากขึ้นว่า สิ่งแวดล้อมส่งผลต่อทุกมิติของชีวิตมนุษย์อย่างแท้จริง การจะแก้ไขปัญหานี้อย่างยั่งยืนจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ถึงแม้ว่าเราในฐานะคนตัวเล็ก ๆ อาจสร้างการเปลี่ยนแปลงมากไม่ได้ แต่เสียงของเราย่อมมีความหมาย หากเล็งเห็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ใช้พลาสติกให้น้อยลง แยกขยะ ไม่ทำให้เกิดอาหารเหลือทิ้ง เป็นต้น ลองทำดู และส่งเสริมให้คนทำสิ่งนั้นให้มากขึ้น ก็สามารถช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมได้ และที่สำคัญ ในการจะสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่กว่านั้น อย่าลืมช่วยกันสอดส่องพฤติกรรมของหน่วยงานต่าง ๆ ว่ามีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่ รวมทั้งช่วยกันส่งเสริมนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นประโยชน์ก็สามารถช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงได้เช่นกัน
อ้างอิง