เพราะชีวิตมันอาจแย่กว่าที่คิด การได้เพ้อฝันถึงสิ่งดี ๆ อาจเป็นหนึ่งในทางออกที่ดีที่สุดก็ได้…
ชวนมารู้จัก Escapism การหลีกหนีโลกความจริงด้วยการนึกถึงสิ่งดี ๆ ที่อาจไม่มีจริงอยู่เลยก็ได้
Escapism คืออะไร?
พจนานุกรมของ APA (American Psychology Association) ให้คำนิยาม Escapism ไว้ว่า เป็นความต้องการหรือพฤติกรรมการหลีกหนีจากโลกความเป็นจริงโดยนึกถึงโลกที่สวยงามกว่านี้ อาจเป็นโลกแฟนตาซี ซึ่งพฤติกรรมนี้มีตั้งแต่เป็นช่วงระยะเวลาสั้น ๆ อย่างฝันกลางวัน หรือเป็นพฤติกรรมในระดับเดียวกับความผิดปกติทางจิตเลยทีเดียว สำหรับบางคนอาจหลีกหนีจากความจริงด้วยการทำสิ่งที่ตัวเองต้องการทำ เช่น เล่นเกม ดูหนัง บางคนอาจเสพติดแอลกอฮอล์และบุหรี่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้หากทำเพียงในช่วงระยะสั้น ๆ อาจไม่เป็นปัญหามาก เพราะมันช่วยให้เราได้พักจากชีวิตความเป็นจริงและมีความสุขกับช่วงเวลาตรงหน้า ณ ขณะหนึ่ง กลับกัน หากทำมาเป็นระยะเวลาที่นาน ย่อมเป็นเรื่องที่ไม่ดีแน่ นอกจากนี้ Escapism ยังส่งผลให้เกิดอาการอื่น ๆ เช่น ผัดวันประกันพรุ่ง หรือเสียสมาธิได้ง่ายอีกด้วย เนื่องจากจิตใจของเราไม่จดจ่อกับความเป็นปัจจุบัน เราจะคิดอย่างอื่นเพื่อหลีกเลี่ยงปัจจุบันที่อยู่ตรงหน้า
Ashley Olivine ได้ระบุประเภทของ Escapism ไว้ใน Verywell Health (2023) ไว้ดังนี้
- การใช้สื่อ (Media) : มีการใช้สื่อหรือพวกเครื่องมืออิเล็กทรอนิคอย่างโทรศัพท์หรือคอมพิวเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยกับคนบนโซเชียลมีเดีย การเล่นเกม ยังรวมไปถึงการดูหนังและซีรีส์ต่าง ๆ มากไปอีกด้วย
- การออกกำลังกาย (Physical Activity) : การออกกำลังกายต่าง ๆ เช่น การวิ่ง การเล่นฟุตบอล การว่ายน้ำ เป็นต้น
- การทำงาน (Work) : การทำงาน ยังรวมไปถึงการทำการบ้าน การเรียน อีกด้วย
- การซื้อของ (Shopping) : การออกไปซื้อของ ช็อปปิ้ง ในแง่หนึ่งรู้จักกันในคำที่เรียกว่า Retail Therapy
- การใช้สารเสพติด (Substances) : มีการใช้ยาเสพติด การดื่มแอลกอฮอล์ รวมไปถึงการเสพติดบุหรี่
- การกินเป็นจำนวนมาก (Overeating) : การกินจุ หรือกินอาหารที่มีรสจัด เช่น การทานของหวานที่หวานจนตัดขา การทานส้มตำรสเผ็ดมาก ๆ
- การฝันกลางวัน (Daydreaming) : การฝันกลางวันคือการจินตนาการถึงเรื่องราวต่าง ๆ ซึ่งอาจจะเป็นความจริงหรือไม่จริงก็ได้
- การอ่านหนังสือ (Literature) : การอ่านหนังสือประเภทต่าง ๆ เช่น นิยาย การ์ตูน
- อื่น ๆ (Other addictive behaviors) : เป็น Escapism ประเภทอื่น ๆ เช่น การพนัน หรือกิจกรรมทางเพศ
ถึงแม้ว่า Escapism จะไม่ใช่อาการทางจิตโดยตรง แต่ถ้าเราทำอะไรเพื่อหลีกหนีความเป็นจริงมากเกินไป มันย่อมไม่ใช่เรื่องดีแน่นอน ถ้าหากเราหนีปัญหาและไม่กล้าเผชิญหน้าความจริงบ่อยเข้า การใช้ Escapism บ่อย ๆ อาจทำให้เราแก้ปัญหาไม่ได้ ยอมรับความจริงได้ไม่ดีเท่าที่ควร มีการเสพติด Escapism ซึ่งส่งผลกระทบทำให้เรามีประสิทธิภาพในการทำสิ่งต่าง ๆ ลดลง และอาจทำให้เกิดปัญหาในด้านอื่น ๆ ตามมา เช่น ปัญหาด้านสุขภาพกาย สุขภาพใจ ไปจนถึงปัญหาด้านความสัมพันธ์ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับปัญหาที่เราเผชิญหน้าอยู่นั่นเอง
ทั้งนี้ทั้งนั้น Escapism ไม่ได้มีแค่ข้อเสีย ในด้านดีมันสามารถช่วยให้เราได้ผ่อนคลาย มีความรู้สึกดีเพิ่มขึ้น ช่วยให้มีแรงบันดาลใจ เนื่องจากพอเราคิดถึงสิ่งดี ๆ มันอาจช่วยผลักดันให้เราพยายามมากขึ้นเพื่อให้เราทำตามภาพในฝันก็เป็นได้ แต่ก็ต้องดูว่าสิ่งที่เราวาดฝันไปนั้นมีความเป็นไปได้ไหม ถ้าอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริงก็ลุยเลย!
อ้างอิง
Mph, A. O. P. (2023, August 31). The Meaning of Escapism in Psychology. Verywell Health.