แนะนำ 3 ขั้นตอนในการทำ Emotional Labelling เพราะการบอกชื่ออารมณ์ความรู้สึกของเราได้เป็นเรื่องสำคัญ

เคยเป็นกันไหม? สับสนกับตัวเองว่าตอนนี้เรารู้สึกอะไรอยู่ มีอะไรเกิดขึ้นกับเราที่ทำให้เรารู้สึกแบบนั้น พอเราหาคำตอบไม่ได้ ความรู้สึกนั้นก็จะติดอยู่ในใจ อยู่ในความคิดไปอีกหลายวัน แต่ต้องพยายามทำให้ตัวเองไม่รู้สึก เพื่อให้วันของเราเดินหน้าต่อไปได้ แต่พอปล่อยให้มันอยู่ในใจนานเข้า ก็รู้สึกเหนื่อยและหาวิธีจัดการมันไม่ได้ บางครั้งก็ปล่อยให้ตัวเองลืมไป บางครั้งมันก็กลับมาอีก และเป็นอย่างนี้วนไปทั้งอาทิตย์ ทั้งเดือน ทั้งปี

สาเหตุของตัวอย่างเหตุการณ์ข้างบนคือ “การนิยามความรู้สึกตัวเองไม่ได้” พอเราบอกตัวเองไม่ได้ว่ารู้สึกอะไรอยู่ การหาต้นตอของที่ทำให้เกิดความรู้สึกนั้นก็ยิ่งยากขึ้น หลาย ๆ คนจึงเลือกที่จะ “ไม่รู้สึก” แต่จริง ๆ แล้ว การเพิกเฉยต่อความรู้สึกของตัวเองเป็นวิธีที่ไม่ดีเท่าไหร่ เพราะมันทำให้ต้นตอของปัญหายังคงอยู่ และเราจะไม่มีทางรู้วิธีจัดการกับความรู้สึกนั้นสักที พอมันเกิดขึ้นอีก ก็ไม่รู้ว่าจะต้องจัดการกับมันยังไง อีกทั้งยังทำให้เกิดความเครียด ความกังวล ที่สามารถส่งผลต่อสุขภาพใจของเราในระยะยาวได้ 

แล้วเราจะ “นิยามความรู้สึกของตัวเอง” ได้อย่างไรบ้าง?

1. เรียนรู้ศัพท์เกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึก

ภาษาเป็นสิ่งสำคัญในการช่วยให้เราทำความเข้าใจสิ่งต่าง ๆ รอบตัวได้ดีขึ้น อย่างน้อยเราควรบอกชื่ออารมณ์ความรู้สึกพื้นฐานให้ได้ ได้แก่ มีความสุข เศร้า รังเกียจ กลัว และโกรธ (ถ้าใครจำไม่ได้ ลองไปดูการ์ตูนเรื่อง Inside Out ได้นะ) ซึ่งภายใต้ทั้ง 5 อารมณ์หลักนี้ ยังมีอารมณ์ความรู้สึกอื่น ๆ อีก เช่น กังวล ผิดหวัง สับสน เหงา และอื่น ๆ อีกมากมาย

2. หาชื่อได้แล้ว ลองมาดู “ความหนัก-เบาของความรู้สึก” กันดีกว่า

ความหนัก-เบาของความรู้สึกนี้อยู่ในระดับไหนนะ? มีความสุขมาก เศร้านิดนึง กังวลหน่อย ๆ ลองแยกแต่ละความรู้สึกออกมา และประเมินว่ามันอยู่ในระดับไหน หากเทียบเป็น 1-10 ตอนนี้เราอาจจะรู้สึกเศร้าสัก 6 กังวลสัก 7 การทำให้เป็นตัวเลขจะช่วยทำให้เราประเมินความรู้สึกของตัวเองได้ว่า ความรู้สึกของเรามันหนัก-เบาขนาดไหน และเราต้องการความช่วยเหลือมากน้อยแค่ไหน 

3. ระบายออกผ่านการเขียน

การจดบันทึกจะช่วยให้เราเห็นอารมณ์ความรู้สึกของเราชัดและเป็นรูปธรรมมากขึ้น และเป็นวิธีที่ทุกคนสามารถทำได้ในทุกวัน โดยเฉพาะคนที่กำลังพบเจอกับความยากลำบากในชีวิต ความเปลี่ยนแปลง ความท้าทาย หรือเหตุการณ์อื่น ๆ ที่ส่งผลให้สุขภาพใจของเราไม่แข็งแรง โดย Harvard Business Review (2016) ได้ให้คำแนะนำในการบันทึกอารมณ์ความรู้สึกของเราดังนี้  

  • ตั้งเวลา 20 นาที
  • ลงมือเขียนเกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึกที่ค้างคาอยู่ในใจ จะเป็นเหตุการณ์ของวันนี้ เมื่อวาน สัปดาห์ที่แล้ว เดือนที่แล้ว หรือปีที่แล้วก็ยังได้ โดยบันทึกไว้ในอุปกรณ์ที่เราสะดวก ไม่ว่าจะเป็นสมุดบันทึก โทรศัพท์ หรือแลปท็อปก็ได้ทังนั้น
  • เขียนไปตามที่ใจต้องการ ไม่จำเป็นต้องเขียนให้รู้เรื่อง เอาที่ตัวเราได้ปลดปล่อย
  • เมื่อเขียนเสร็จแล้ว จะอ่านซ้ำ จะเก็บไว้อ่าน เซฟไว้อ่านทีหลัง หรือลบทิ้งเลยก็ได้ สิ่งสำคัญคือ ความรู้สึกที่ค้างคาเหล่านั้นได้ออกมาจากตัวเรา และออกมาอยู่ในแผ่นกระดาษแทนแล้ว

เพราะการบอกชื่ออารมณ์และความรู้สึกของเราให้ได้เป็นสิ่งที่สำคัญต่อเรามาก มันจะช่วยให้เรารู้ว่าเราควรจะรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเองอย่างไร ทำให้เราดูแลใจและความรู้สึกของตัวเองได้อย่างทันท่วงที

อ้างอิง

David, S. (2017, September 21). 3 Ways to Better Understand Your Emotions. Harvard Business Review.