พัฒนาการของเด็กแรกเกิด (Early Childhood Development : ECD) สำคัญไฉน? เรื่องราวในวัยเด็กส่งผลต่อตอนโตได้มากขนาดไหน?

เวลาพูดถึงพัฒนาการที่สำคัญที่สุดของช่วงชีวิตคนคนหนึ่ง คุณจะนึกถึงพัฒนาในช่วงวัยไหน? หลาย ๆ คนน่าจะลังเลระหว่างช่างวัยรุ่นกับวัยเด็ก เพราะวัยรุ่นถือว่าเป็นช่วงที่ได้เราจะเริ่มติดเพื่อนและได้รับอิทธิพลมาจากหลาย ๆ ที่มากขึ้น และเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่กำหนดอนาคตในวัยผู้ใหญ่ที่เป็นช่วงวัยถัดไปได้ แน่นอนว่าวัยรุ่นเป็นช่วงเวลาปูพื้นฐานวัยผู้ใหญ่ที่สำคัญ แต่หากมองย้อนลงไปกว่านั้นถึงพื้นฐานชีวิตตั้งแต่แรก ต้องยอมรับเลยว่า พัฒนาการของเด็กแรกเกิด เป็นช่วงวัยที่สำคัญมาก เพราะทุกอย่าง ๆ ในชีวิตของคนคนหนึ่งเริ่มต้นที่ช่วงวัยนี้ สิ่งที่เป็นครั้งแรกย่อมฝังใจและมีผลกระทบที่รุนแรงต่อใจเสมอ แต่ช่วงวัยแรกเกิดกลับกลายเป็นช่วงวัยที่พ่อแม่หรือผู้ปกครองหลาย ๆ คนมองข้ามไป 

ความสำคัญของพัฒนาการของเด็กแรกเกิด

จากงานวิจัยการศึกษาพัฒนาการของเด็กปฐมวัยไทยในปี พ.ศ. 2564 โดยทำการศึกษาในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรีและเพชรบุรี ของ บำเพ็ญ พงศ์เพชรดิถ และ บุษบา อรรถาวีร์ พบว่า โดยส่วนใหญ่แล้ว เด็กปฐมวัยมักมีพัฒนาการทางด้านร่างกายที่สมวัย กล้ามเนื้อมัดใหญ่และกล้ามเนื้อมัดเล็กได้รับการพัฒนาอย่างเหมาะสมเนื่องจากการได้ทำกิจกรรมในสถานศึกษาหรือที่โรงเรียนต่าง ๆ แต่พัฒนาการทางด้านภาษา การเข้าสังคม และการช่วยเหลือตัวเองได้ ถือว่าล่าช้าและไม่เป็นไปตามมาตรฐาน โดยการมีพัฒนาการล่าช้านี้ ส่วนหนึ่งมาจากการเลี้ยงดูที่ปล่อยให้เด็ก ๆ ใช้เวลากับสมาร์ตโฟนมากกว่า แทนที่จะได้ออกไปวิ่งเล่น ขยับร่างกาย ฝึกเข้าสังคม และพูดคุยกับคนรอบข้าง นอกจากนี้ เหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้พัฒนาการของเด็กพัฒนาได้ช้าเนื่องจากพ่อแม่หรือผู้ปกครองไม่มีเวลาอยู่กับลูกมากพอ อีกทั้งพ่อแม่บางกลุ่มยังเพิกเฉยที่ทำตามคู่มือพัฒนาการของเด็กปฐมวัย หรือ คู่มือ DSPM (Developmental Surveillance and Promotion Manual) ทำให้ไม่ได้ทำกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการเด็กอย่างเหมาะสม

ซึ่งแน่นอนว่า กลุ่มตัวอย่างนี้ไม่ได้ครอบคลุมทั้งประเทศ นอกเหนือจากเมืองหลวงอย่างกรุงเทพและหัวเมืองใหญ่ ๆ ตามภาคต่าง ๆ น่าจะมีค่าเฉลี่ยที่ดีกว่านี้ แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า พื้นที่ต่างจังหวัดอื่น ๆ ของประเทศไทยต่างประสบปัญหาเหล่านี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งส่งผลให้เด็กมีพื้นฐานทักษะในการใช้ชีวิตไม่ดีพอ มีปัญหาในหลาย ๆ เรื่องตามมา และจะแก้ไขได้ยากเมื่อโตขึ้น ทั้งเรื่องการใช้และควบคุมร่างกาย การมีสมาธิจดจ่อที่แย่ลง ความคิดสร้างสรรค์ การควบคุมตัวเอง การเข้าสังคมกับผู้อื่น การใช้ภาษา และการพูดคุยกับคนรอบข้าง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นทักษะสำคัญสำหรับการใช้ชีวิตเมื่อพวกเขาโตเป็นผู้ใหญ่ 

พัฒนาการของเด็กแรกเกิด คืออะไร?

กว่าที่เด็กคนหนึ่งจะโตไปเป็นผู้ใหญ่ได้ สิ่งหนึ่งที่พวกเขาจำเป็นต้องมีคือความรู้พื้นฐานในการใช้ชีวิต แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่สามารถเรียนรู้ได้ภายในวันเดียวหรือหนึ่งชั่วโมง มันเป็นทักษะที่จำเป็นต้องใช้เวลาช่วงหนึ่งในการปรับตัวและทำความเข้าใจ และท้ายที่สุด เมื่อมีการทดลอง ฝึกฝน ลองใช้ ทำซ้ำ ๆ จนเริ่มเข้าใจและชำนาญมากขึ้น นั่นแหละคือ พัฒนาการ ในส่วนพัฒนาการของเด็กแรกเกิด คำว่าเด็กแรกเกิดมีขอบเขตที่ค่อนข้างแตกต่างหลากหลาย บางทีกำหนดให้เป็นช่วงอายุ 0-5 ปี บ้างเป็น 0-8 ปี ทั้งนี้ทั้งนั้น พัฒนาการของเด็กแรกเกิดที่จะเขียนต่อไปนี้ อ้างอิงมาจาก UNICEF ซึ่งได้แบ่งพัฒนาการของเด็กแรกเกิดในช่วงวัย 0-6 ขวบไว้ 5 หัวข้อหลัก ๆ ด้วยกัน ได้แก่

  • พัฒนาการทางด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว (Health and Motor Development)
    • การใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ (Gross Motor) 
    • การใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก (Fine Motor) 
    • การมีร่างกายและพฤติกรรมที่เหมาะสม (Health and Safe Behavior) 
    • พัฒนาการทางด้านการมองเห็นและการเคลื่อนไหวทำงานสอดคล้องกันดี (Sensorimotoric Dvelopment)
  • พัฒนาการทางด้านสังคมและด้านอารมณ์ (Socio-Emotional Development)
    • มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับผู้คนรอบข้างและสังคม (Social Develoment) 
    • รับรู้ถึงตัวตนและเข้าใจอารมณ์ของตัวเอง (Emotional Development)
  • การเข้าถึงการเรียนรู้ (Approaches to Learning)
    • มีความสงสัย ใส่ใจที่จะเรียนรู้ และสามารถเริ่มทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเองได้ (Curiosity and Taking Initiatives)
    • มีความคิดสร้างสรรค์และมานะพากเพียร (Creativity and Persistence)
  • พัฒนาการทางด้านภาษา การสื่อสาร และความรู้ความเข้าใจในการใช้ภาษา (Language, Communication and Literacy Development)
    • มีการพัมนาทักษะทางด้านการพูด สามารถตอบโต้บทสนทนาได้อย่างเหมาะสม (Communication)
    • เข้าใจตัวหนังสือและสัญลักษณ์ต่าง ๆ ได้ อ่านหนังสือ (Reading)
    • เริ่มเขียนตัวหนังสือและมีการฝึกเขียนเพื่อแสดงความคิดเห็นของตัวเอง (Writing)
  • พัฒนาการทางด้านรู้คิดและความรู้ทั่วไป (Cognitive Development and General Knowledge Acquisition)
    • มีความต้องการที่จะสำรวจสิ่งต่าง ๆ (Logic and Thinking)
    • มีความเข้าใจในตัวเลข จำนวน การนับ และการแบ่งประเภทสิ่งต่าง ๆ (Mathematics and Numbers)
    • สนใจเรียนรู้ในสิ่งรอบตัว เช่น สัตว์ คน และสิ่งไม่มีชีวิตต่าง ๆ (Sciences)
    • แยกเสียงต่าง ๆ ได้ มีความสนใจในด้านดนตรีและการแสดงออกทางศิลปะ (Arts)

นอกจากนี้ ยังมีพัฒนาการอีก 2 อย่างเพิ่มเติมที่น่าสนใจ ได้แก่

  • พัฒนาการด้านการช่วยเหลือตัวเองและการปรับตัว (Self-Help and Adaptation) เช่น การดำเนินกิจวัตรประจำวันทั่วไป เช่น การกินข้าวด้วยตัวเอง การแปรงฟัน การเข้าห้องน้ำ เป็นต้น 
  • พัฒนาการทางด้านคุณธรรมและการเข้าใจตัวเอง (Moral and Spiritual) พัฒนาการด้านนี้มีความเกี่ยวข้องกับด้านสังคม เพราะมีการสอนให้เข้าใจกับกฏระเบียบต่าง ๆ ในการอยู่ร่วมกับคนอื่น การแสดงพฤติกรรมแบบไหนดีและไม่ดีต่อผู้อื่น รวมไปถึงสอนให้มีความเชื่อทางศาสนา ซึ่งขึ้นอยู่กับพ่อแม่ผู้ปกครองด้วยว่าพวกเขามีความเชื่อในรูปแบบใด ซึ่งความเชื่อเหล่านี้จะถูกปลูกฝังในวัยเด็ก และส่งผลต่อความคิดของเด็กไปจนโตอีกด้วย

พัฒนาการของเด็กแรกเกิดก็มีการกำหนดมาตรฐานในแต่ละช่วงอายุที่ยิบย่อยลงไปอีกด้วย เช่น ในช่วง 6 เดือนแรก เด็กควรมีการตอบสนองต่อเสียงอย่างไร ควรออกเสียงได้ไหม พูดได้ตอนไหน ช่วงอายุ 3-4 ขวบ เริ่มสื่อสารได้หรือไม่ เป็นต้น สามารถอ่าน มาตรฐานของพัฒนาการเด็กแรกเกิดของ UNICEF ฉบับเต็มได้ที่นี่ 

พ่อแม่มือใหม่ ฝึกพัฒนาการของเด็กแรกเกิดยังไงดี?

นอกเหนือจากการทำตามคำแนะนำของแพทย์และแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้แล้ว WHO หรือ องค์การอนามัยโลก ได้ระบุ 10 สิ่งพื้นฐานที่พ่อแม่และผู้ปกครองควรปฏิบัติ (10 Areas for Actions) เพื่อให้เด็กแรกเกิดมีพัฒนาในช่วงวัยแรกเกิดที่ดี ดังนี้

1. ดูแลอย่างใกล้ชิด (Responsive Care)

วัยแรกเกิดในช่วงปีแรกเป็นวัยที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้เลย ดังนั้น พ่อแม่หรือผู้ปกครองควรให้การดูแลอย่างใกล้ชิด และตอบสนองความต้องการของเด็กในทุก ๆ ด้านเพื่อให้เขาได้รับปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นอย่างครบถ้วน 

2. ให้นมลูกอย่างถูกต้อง (Breastfeeding)

ไม่ใช่เพียงแม่หรือผู้ให้นมเด็กเท่านั้นที่ควรจะมีความรู้และความเข้าใจในการให้นม แต่ทุกคนที่ต้องดูแลเด็กแรกเกิด อย่างพ่อ ผู้ปกครอง หรือคนใกล้ชิดคนอื่น ๆ ควรมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการให้นมด้วย 

3. ให้สารอาหารเสริม (Complementary Feeding)

พ่อแม่หรือผู้ปกครองจำเป็นต้องให้เด็กแรกเกิดได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนและเหมาะสมตามวัย เช่น มีการฝึกให้ลูกกินผักบดหรือผลไม้บดละเอียด

4. ทานอาหารที่มีประโยชน์และเหมาะสม (Balance Diets and Micronutrients)

ฝึกให้เด็กกินอาหารสดและอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบถ้วนตามสารอาหารทั้ง 5 หมู่ ฝึกให้มีพฤติกรรมการกินอาหารที่เหมาะสมตามช่วงวัย และมีการให้อาหารในปริมาณที่เหมาะสมสำหรับเด็กในแต่ละช่วงวัย

5. ฉีดวัคซีนให้ครบถ้วน (Vaccination)

วัคซีนเด็กแรกเกิดเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะมันจะช่วยในการลดความเสี่ยงในการเป็นโรคร้ายแรงต่าง ๆ เช่น โรคโปลิโอ โรคบาดทะยัก และโรคอื่น ๆ ตามรายการการฉีดวัคซีน และทำให้เด็กเติบโตมาอย่างแข็งแรง แต่ไม่ใช่เพียงเด็กเท่านั้นที่จำเป็นต้องฉีดวัคซีน หากพ่อแม่หรือผู้ปกครองยังไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคใด ๆ ก็ควรฉีดร่วมด้วย เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายโรคสู่เด็กนั่นเอง

6. สุขภาพใจแม่ สำคัญเหมือนกัน (Maternal Mental Health)

คุณแม่เพิ่งคลอดไม่นานมักมีอาการซึมเศร้าหลังคลอด (Postpartum Depression) หากไม่ได้ใส่ใจสุขภาพจิตของตัวเองดี ๆ อาจส่งผลต่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดได้ เช่น รู้สึกแย่ ไม่อยากดูแลลูกตัวเอง และเด็กอาจได้รับผลกระทบจากอาการซึมเศร้าหลังคลอดของคุณแม่ไปโดยไม่รู้ตัว ดังนั้น คนรอบข้างต้องช่วยกันดูแลทั้งคุณแม่และคุณลูกด้วย 

7. ป้องกันการทำร้ายเด็กและการเพิกเฉยเด็ก (Prevention of Child Abuse and Neglect)

พ่อแม่หรือผู้ปกครองควรทำความเข้าใจว่าอะไรจะเป็นปัจจัยเสี่ยงในการสร้างบาดแผลทางใจให้เด็ก ๆ ได้บ้าง โดยมีการเรียนรู้ ทำความเข้าใจ หาวิธีป้องกัน และมีวิธีรับมือเตรียมไว้ จะไม่ได้เผลอทำร้ายจิตใจพวกเขา และช่วยป้องกันความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิตของเด็กด้วย

8. ดูพัฒนาการของลูกอย่างสม่ำเสมอ (Developmental Monitoring and Assessment)

พ่อแม่หรือผู้ปกครองควรมีการจัดตารางในการส่งเสริมพัฒนาการในแต่ละวัน เช่น ตอนเช้าสอนให้ขยับนิ้วมือ ตอนบ่ายนวดเท้า เป็นต้น เช็กลิสต์ให้ครบพัฒนาการทุกด้าน และเข้าพบตามหมอนัดให้ครบถ้วน 

9. หน่วยซัพพอร์ตของเด็ก (Early Response and Support)

นอกจากพ่อแม่และผู้ปกครองที่เป็นผู้ใกล้ชิดกับเด็กเป็นหลักแล้ว ถ้าหากมีเหตุฉุกเฉินขึ้นมา เราควรมองไว้ว่าใครจะช่วยเราได้บ้างและขอความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที อาจเป็นคุณยาย เพื่อนที่เคยมีลูกมาแล้ว หรือป้าข้างบ้านที่มีความรู้ในการดูแลเด็ก 

10. ลดความเสี่ยงทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม (Social, Economic and Environmental Risks)

พ่อแม่หรือผู้ปกครองต้องให้การดูแล คุ้มครอง ช่วยเหลือเด็กให้ได้รับปัจจัยพื้นฐานที่เหมาะสม เช่น น้ำสะอาด สารอาหารที่มีประโยชน์ และสุขอนามัยด้านต่าง ๆ ที่ดี และต้องไม่ทอดทิ้งเด็ก

พัฒนาการของเด็กแรกเกิดในช่วงวัย 0-8 ปีแรกเป็นช่วงที่สำคัญมาก การมีพื้นฐานที่ดีจะพาเขาไปสู่การมีชีวิตที่ดี มีสุขภาพแข็งแรง และเป็นคนที่มีภูมิต้านทานในโลกข้างหน้าต่อไปได้ดีนั่นเอง 

อ้างอิง

Ministry of Labour and Social Policy. (n.d.). EARLY CHILDHOOD DEVELOPMENT EARLY LEARNING AND DEVELOPMENT STANDARDS FOR CHILDREN FROM 0-6 YEARS. Retrieved March 6, 2024.

Phongphetdit, & Authawee. (2023, January 5). View of Early Childhood Development in Thailand in 2021: Public Health Region 5. Retrieved March 6, 2024.

World Health Organization. (2022). Early Childhood Development 10 Areas for Action. Retrieved March 6, 2024.