“เครียดแล้วได้อะไร?” ฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) กับประโยชน์ของการมีความเครียดบ้างพอเป็นสีสันของชีวิต

ในร่างกายของเราที่ประกอบไปด้วยเซลล์หลายล้านเซลล์ อวัยวะอีกนับร้อยนับพันช่วยกันทำงานอยู่ภายใต้ร่างกายเพื่อให้เราใช้ชีวิตได้ตามปกติ ยังมีฮอร์โมนอีกกว่า 50 ชนิดช่วยกันทำงานสอดประสานกับร่างกาย ภาวะอารมณ์ ความคิด และความรู้สึกให้อยู่ในภาวะที่เป็นปกติอีกด้วย และวันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับฮอร์โมนสำคัญชนิดหนึ่งกัน นั่นก็คือ Cortisol คอร์ติซอล หรือ ฮอร์โมนแห่งความเครียด (Stress Hormone)

ฮอร์โมนคอร์ติซอล Cortisol คืออะไร?

Cortisol คอร์ติซอล เป็นฮอร์โมนที่ถูกผลิตออกมาจากต่อมหมวกไตซึ่งเป็นแหล่งผลิตฮอร์โมนที่หนึ่งในร่างกายมนุษย์ ซึ่งถูกกระตุ้นได้เมื่อเราพบเจอกับภาวะตึงเครียดทั้งทางร่างกายและทางจิตใจ โดยหน้าที่ของฮอร์โมนคอร์ติซอลคือการช่วยกระตุ้นร่างกายของเราให้เตรียมพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ที่เรากำลังเผชิญหน้า ซึ่งมักเป็นเหตุการณ์ชวนเครียดที่เราพบเจอในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่เหตุการณ์เล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างลืมเอากุญแจบ้านมา ลืมเติมน้ำมัน ทะเลาะกับคนในครอบครัว โดนดุในที่ทำงาน ไปจนถึงเหตุการณ์ร้ายแรงอย่างโดนปล้น โดนทำร้ายร่างกาย ไฟไหม้ ฯลฯ เรียกได้ว่าคอร์ติซอลอยู่กับเราแทบจะทุกเหตุการณ์ชวนปวดหัวในชีวิตเลยทีเดียว ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้จะกระตุ้นให้ร่างกายอยู่ในภาวะ Flight or Fight Response หรือ การตอบสนองทางร่างกายแบบสู้หรือหนี ซึ่งเป็นการตอบสนองทางร่างกายเมื่อเราอยู่ในภาวะอันตราย โดยการตอบสนองนี้จะช่วยให้เราหาทางออกว่าจะเผชิญหน้ากับปัญหาหรือจะถอยห่างจากปัญหา ทั้งสองวิธีนี้ต่างมีส่วนเพื่อช่วยให้เราเอาตัวรอดให้ได้นั่นเอง 

นอกจากคอร์ติซอลจะช่วยให้เรารอดพ้นจากเหตุการณ์อันตรายแล้ว ฮอร์โมนชนิดนี้ยังมีส่วนที่ส่งผลต่อร่างกายของเราได้โดยตรง โดยเฉพาะระบบการทำงานของร่างกายชนิดต่าง ๆ เช่น ควบคุมวงจรการนอนหลับ ระบบไหลเวียนเลือด การรักษาะระดับน้ำตาลในเลือด ระบบภูมิคุ้มกัน การตอบสนองเมื่อร่างกายติดเชื้อ และการปล่อยอินซูลินให้แก่ร่างกาย ยิ่งเราเครียดเป็นเวลานาน ๆ ระบบพวกนี้ก็จะทำงานหนักขึ้น สังเกตได้ว่าเวลาเราเครียดจะรู้สึกต้องการทานของหวานมากกว่าปกติ เพราะคอร์ติซอลจะไปกระตุ้นให้ร่างกายนำน้ำตาลที่กักเก็บไว้ออกมาใช้ ทำให้เราต้องหาน้ำตาลมาเติมให้กับร่างกายใหม่ ซึ่งถ้าร่างกายอยู่กับความเครียดนาน ๆ เราก็จะยิ่งกินน้ำตาลมากขึ้น ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวานได้ดีเลยทีเดียว นอกจากนี้ การที่มีระดับคอร์ติซอลสูงยังส่งผลให้ร่างกายของเราตื่นตัวมากเกินไป ไม่สามารถผ่อนคลายได้อย่างเต็มที่ ส่งผลให้การนอนหลับของเรามีปัญหา อาจทำให้เราตื่นกลางดึกหรือนอนไม่เต็มอิ่มนัก เมื่อเกิดขึ้นเป็นระยะเวลานานก็ส่งผลให้เป็นโรคนอนไม่หลับ หรือ Insomnia ได้เช่นกัน

แต่ในขณะเดียวกัน การมีฮอร์โมนคอร์ติซอลในระดับต่ำก็ไม่ได้แปลว่าจะเป็นเรื่องที่ดีต่อร่างกาย มันยังสามารถส่งผลกระทบต่อร่างกายได้เช่นเดียวกับการมีคอร์ติซอลในระดับที่สูง โดยการมีคอร์ติซอลต่ำเกินไปจะทำให้ร่างกายเรารู้สึกไม่ตื่นตัว ไม่กระปรี้กระเปร่า รู้สึกอยากนอนเฉย ๆ หรืออยู่นิ่ง ๆ ตลอดเวลา เหนื่อยง่าย เป็นเพราะว่าร่างกายเราไม่ได้รับความเครียดเข้ามาทำให้ร่างกายตื่นตัว นอกจากนี้ ยังทำให้มวลกล้ามเนื้อหาย น้ำหนักลด และไม่อยากอาหารอีกด้วย อาการเหล่านี้ส่งผลให้มีความเสี่ยงในการเป็นโรค Addison’s Disease ซึ่งเป็นโรคภาวะต่อมหมวกไตทำงานผิดปกติ เนื่องจากไม่สามารถผลิตฮอร์โมนได้ตามปกติหรือผลิตฮอร์โมนได้ในปริมาณที่น้อยมาก ๆ จึงทำให้ร่างกายทำงานผิดปกติไป โดยมีที่มาจากการที่ระบบภูมิคุ้มกันผิดปกติและไปรบกวนการผลิตฮอร์โมนของต่อมหมวกไตอีกที ซึ่งโรคนี้ถือว่าเป็นโรคที่พบได้น้อย จากสถิติแล้วเกิดขึ้นได้กับประชากร 6 คนต่อ 100,000 คนเท่านั้น

ดังนั้น การรักษาระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลให้อยู่ในภาวะที่เหมาะสมจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ อย่าปล่อยให้ตัวเองเครียดเกินไป แต่ก็อย่าปล่อยให้ตัวเราเองรู้สึกเฉื่อยจนไม่อยากทำอะไรด้วยเช่นกัน สำหรับวิธีการดูแลตัวเองและรักษาคอร์ติซอลก็สามารถทำได้ง่าย ๆ ตามวิธีการดูแลร่างกายตัวเองทั่วไป เช่น ออกกำลังกายบ้าง ทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ทำกิจกรรมคลายเครียดให้กับตัวเองตามความชอบ เพียงเท่านี้ก็ช่วยให้เรามีฮอร์โมนคอร์ติซอลที่เหมาะสมได้แล้ว

อ้างอิง

ทำความรู้จักกับคอร์ติซอล ฮอร์โมนสำคัญของร่างกาย. (n.d.). Pobpad. Retrieved February 27, 2024.

Scott, E. (2022, August 21). What Is Cortisol? Verywell Mind.