“แก ฉันว่าอันนี้ไม่เวิร์ก”
“จริงแก คิดงั้นเหมือนกัน”
“ผมว่าอันนี้ไม่ผ่าน”
“ผมก็ว่างั้นครับบอส”
บทสนทนาข้างต้นทำให้เกิดความสงสัยขึ้นมาว่า การที่เราเห็นด้วยกับคน ๆ หนึ่ง เป็นเพราะเรารู้สึกเห็นด้วยจริง ๆ หรือมันเป็นเพียงการคล้อยตามคนอื่นเพื่อให้ได้รับการยอมรับกันนะ?
คุณเคยได้ยินสำนวนไทยที่ว่า “เข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม” กันไหม? สำนวนนี้มีความหมายว่าให้เราคล้อยตามหรือทำตามที่คนส่วนใหญ่ทำ เพื่อให้กลมกลืนไปกับคนในสังคมและเพื่อไม่ให้แปลกแยกจากคนทั่วไป แต่ทำไมเราถึงต้องทำตัวให้เหมือนกับคนอื่นหรือคล้อยตามกันกับคนอื่นด้วยนะ? เรื่องนี้จิตวิทยามีคำตอบ!
ด้วยธรรมชาติของมนุษย์ เราเป็นสัตว์สังคม ถึงแม้ว่าในปัจจุบัน การอยู่คนเดียวจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้เป็นปกติและเป็นเรื่องที่ยอมรับได้สำหรับใครหลาย ๆ คน แต่การมีใครสักคนอยู่เคียงข้าง ไม่ว่าจะด้วยฐานะคนรัก เพื่อน ครอบครัว หรือคนที่มีอุดมการณ์เดียวกัน ย่อมทำให้รู้สึกอุ่นใจกว่า ว่าเราไม่ได้ต่อสู้อยู่บนโลกคนนี้ด้วยตัวคนเดียว ซึ่งการจะมีสังคมหรือมีใครสักคนยอมรับในตัวเราได้ หนึ่งในปัจจัยหลักสำคัญเลยก็คือ เราต้องเข้ากันได้กับพวกเขา ต้องมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่มีร่วมกัน เช่น เป็นคนนิสัยคล้าย ๆ กัน ชอบอะไรคล้าย ๆ กัน มีมุมมองต่อโลกเหมือนกัน ถึงจะทำให้จูนกันติดและเกิดการยอมรับขึ้นมาได้ ลองนึกภาพกลุ่มเพื่อนดูนะ กลุ่มเพื่อนที่คบกันได้มักมีอะไรที่คล้าย ๆ กัน เช่น ชอบเที่ยวเหมือนกัน หรือติดเกมเหมือนกัน
แต่ถ้าบังเอิญว่าไม่มีจุดร่วมอะไรเลยสักอย่างล่ะ? เราจะทำให้คนอื่นยอมรับเราได้ยังไงล่ะ? เมื่อใดก็ตามที่เรารู้สึกว่าเราต้องเข้ากับสังคมนี้ให้ได้ มันเริ่มมีความกดดันเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะถ้าหากเราเป็นส่วนหนึ่งของสังคมนี้ไม่ได้ มันอาจส่งผลต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของเรา และนั่นอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เราเริ่ม “คล้อยตามทางสังคม (Conform)“
การคล้อยตามทางสังคม (Conformity) ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเพื่อให้เข้ากับกลุ่มหรือสังคมใดสังคมหนึ่ง ซึ่งจริง ๆ แล้วปัจจัยที่ทำให้เกิดการคล้อยตามทางสังคมมีความหลากหลายมากทีเดียว ไม่ได้จำกัดอยู่ที่เราต้องทำตัวให้กลมกลืนไปกับสังคม หรือทำให้ผู้อื่นยอมรับ แต่ยังรวมไปถึงบริบทอื่น ๆ เช่น อยู่ในสถานการณ์ที่ลำบากยากจะตัดสินใจ เราก็มีแนวโน้มที่จะคล้อยตามหรือเชื่อถือคนในกลุ่มมากกว่าตนเอง รวมไปถึงการที่ไม่มีจุดยืนเป็นทุนเดิมอยู่แล้วอีกด้วย
การคล้อยตามทางสังคมไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรนัก แต่ถ้าเมื่อใดก็ตามที่สังคมเริ่มมีการเพ่งเล็งหรือกดดันให้คนอื่นคิดเหมือนกันทั้งหมดก็คงไม่ใช่เรื่องที่ดีในระยะยาวสักเท่าไร เพราะทุกอย่างคงออกมาเหมือนกันหมด ไม่มีสิ่งใหม่ ๆ เกิดขึ้นมา แต่ถ้าหากเราให้โอกาสกับความแปลกใหม่ ให้สังคมได้ออกจากกรอบที่ตัวเองสร้างไว้และได้คิดนอกกรอบจากสิ่งที่สังคมเคยวาดฝันมา ความแตกต่างที่เกิดขึ้นนี้จะทำให้เราเห็นมุมมองที่กว้างขึ้น และนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ ที่ดีกว่าในตอนนี้ก็เป็นได้ ดังนั้นแล้วการคล้อยตามทางสังคมเป็นสิ่งที่มีทั้งด้านบวกและด้านลบในตัวมันเอง เพียงแต่ต้องดูบริบทการใช้งานของมันให้ดีเท่านั้นเอง
อ้างอิง
Conformity – การคล้อยตาม. Faculty of Psychology, Chulalongkorn University.