“กาแฟ” เครื่องดื่มคู่ใจของวัยทำงาน ส่งผลต่อสุขภาพจิตของเราได้อย่างไรบ้าง?

หากจะพูดถึงเครื่องดื่มชนิดหนึ่งที่เป็นที่นิยมมากที่สุดในหมู่คนทำงาน นอกจากการดื่มเบียร์หลังเลิกงานแล้ว ยังมีเครื่องดื่มชนิดหนึ่งที่ช่วยปลุกปั้นสติสัมปชัญญะให้ตื่นขึ้นมาทำงานได้ในทุกเช้า นั่นก็คือ “กาแฟ” คนวัยทำงานที่ไม่กินกาแฟมีอยู่จริง แต่คนทำงานที่กินกาแฟเป็นประจำมีจำนวนเยอะกว่ามาก ซึ่งหากดื่มเพียงเพื่อให้ตื่นได้ในแต่ละวันก็อาจไม่เป็นที่กังวลมากนัก แต่ถ้าหากเริ่มดื่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จนเกินปริมาณที่ควรดื่มในแต่ละวันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อาจต้องระมัดระวังให้เพิ่มมากขึ้นเสียหน่อย เพราะอาจเกิดการเสพติดคาเฟอีนได้

เพื่อทำความรู้จักกับผลกระทบของคาเฟอีนต่อร่างกายของเราให้มากขึ้น วันนี้เราจะไปทำความเข้าใจเรื่องราวของ “กาแฟ” ว่าจะสามารถส่งผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตของเราได้อย่างไรบ้าง

ในกาแฟมีอะไรบ้าง?

ถึงแม้ว่าเราจะทราบกันเป็นอย่างดีว่า ส่วนผสมหลักของกาแฟคือ “คาเฟอีน” แต่จริง ๆ แล้วกาแฟไม่ได้มีแค่คาเฟอีน แต่ยังมีแทนนิน (Tannin) น้ำมันจากพืช คาร์โบไฮเดรต และโปรตีนอีกด้วย ซึ่งวิธีการสกัดเมล็ดกาแฟด้วยวิธีต่าง ๆ นั้นจะส่งผลให้มีส่วนผสมมีความเข้มข้นในปริมาณที่แตกต่างกันไปอีกด้วย   


จากงานวิจัย A Detail Chemistry of Coffee and Its Analysis (2020) พบว่า ในเมล็ดกาแฟมีคาเฟอีนเพียง 2-3% เท่านั้น ตามมาด้วยแทนนิน 3-5% โปรตีน 13% และน้ำมันจากพืช 10-15% แต่เหตุที่ทำให้เราเข้าใจกันว่า กาแฟนั้นเต็มไปด้วยคาเฟอีนอาจมีสาเหตุมาจากที่ตัวคาเฟอีนเองสามารถออกฤทธิ์ส่งผลต่อร่างกายของเราให้เห็นเป็นรูปธรรมมากที่สุด อาทิ ช่วยทำให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น กระตุ้นการทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง ซึ่งส่งผลให้ร่างกายเราตื่นตัวและกระปรี้กระเปร่าขึ้นมานั่นเอง

กาแฟส่งผลต่อร่างกายและจิตใจเราอย่างไร?

ด้านร่างกาย

  • หัวใจเต้นเร็วขึ้น
  • ทำให้ร่างกายตื่นตัว
  • ดื่มมากเกินไปอาจทำให้ปวดหัว
  • ช่วยในการย่อยอาหาร และระบบขับถ่าย
  • ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรค เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด

ด้านสภาพจิตใจ

  • รู้สึกกระปรี้กระเปร่า
  • กระตุ้นการหลั่งของฮอร์โมนโดปามีน
  • ถ้าดื่มมากเกินไปอาจกระตุ้นให้เกิดอาการวิตกกังวล
  • อาจส่งผลต่อการนอนหลับ พักผ่อนไม่เพียงพอ จนส่งผลต่อการตัดสินใจ

สำหรับผู้ที่ดื่มกาแฟเป็นชีวิตจิตใจน่าจะรู้สึกเคยชินกับฤทธิ์ของกาแฟที่ส่งผลต่อร่างกายและสภาพจิตใจเป็นอย่างดี จนอาจลืมไปว่ามันสามารถส่งผลต่อร่างกายและจิตใจของเราได้อย่างไรบ้าง แต่สำหรับผู้ที่ไม่เคยดื่มกาแฟ หากดื่มในปริมาณมากอาจส่งผลต่อการจัดการอารมณ์ตัวเอง อาทิ อาจตื่นตัวมากเกินไปจนควบคุมตัวเองได้ไม่ดีนัก

ในส่วนของปริมาณกาแฟที่แนะนำให้ดื่มในแต่ละวันนั้นไม่ควรเกิน 300-400 มิลลิกรัมต่อวัน หรือคิดคร่าว ๆ ได้ว่า ไม่ควรเกิน 3-4 แก้วต่อวัน หากดื่มในปริมาณมากเป็นระยะเวลานานอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพและสภาพจิตใจของเราได้มากกว่าจะได้ประโยชน์

ถ้าดื่มกาแฟมากเกินไป เป็นโรคเสพติดกาแฟได้ไหม?

สำหรับคนทั่วไป การต้องตื่นจากนิทราเพื่อไปทำงานเป็นเรื่องที่ต้องใช้แรงกายแรงใจอย่างมาก การได้ดื่มกาแฟสักจิบน่าจะเป็นตัวช่วยที่ช่วยกลบความง่วงเหงาหาวนอนลงไปบ้าง แต่สำหรับคนที่เสพติดกาแฟแล้วนั้น สิ่งที่ช่วยให้พวกเขาตื่นขึ้นมาในทุก ๆ วันคือ “ความอยากลิ้มรสกาแฟ” ถ้าหากว่าคุณเห็นด้วยกับความคิดนี้… ต้องเริ่มพิจารณาตัวเองแล้วนะ เพราะคุณอาจจะเสพติดคาเฟอีนในกาแฟก็เป็นได้ 

เพราะการดื่มกาแฟในปริมาณมากไปถูกระบุไว้ใน DSM-5 หรือ ระเบียบคู่มือวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิตฉบับที่ 5 ว่า ถือเป็นโรคจิตเวชที่มีอาการเสพติดชนิดหนึ่ง (Substance Use Disorder) เมื่อขาดคาเฟอีนอาจส่งผลให้เกิดผลกระทบต่อทางกายและสภาพจิตใจได้เช่นเดียวกับสารเสพติดประเภทอื่น ๆ อาทิ ปวดหัว รู้สึกเหนื่อยล้า รู้สึกเศร้า ไม่กระปรี้กระเปร่า โฟกัสไม่ค่อยได้ 

นอกจากนี้ คนที่เสพติดคาเฟอีนยังมีลักษณะการดื่มคาเฟอีน ดังนี้

คนที่เสพติดคาเฟอีนยังมีลักษณะการดื่มคาเฟอีน

  • ร่างกายรู้สึกต้องการคาเฟอีน
  • ดื่มคาเฟอีนต่อไปทั้ง ๆ ที่รู้ว่ามีผลต่อร่างกายและจิตใจ
  • มีการใช้คาเฟอีนเพื่อใช้ในการกระตุ้นตัวเองให้สามารถจัดการกับชีวิตในด้านอื่น ๆ ให้ได้ เช่น ชีวิตการทำงาน ชีวิตการเรียน ชีวิตการเข้าสังคม การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น รวมถึงการรับผิดชอบสิ่งต่าง ๆ ในชีวิต
  • ลองลดปริมาณคาเฟอีนที่กินในแต่ละวันแล้ว แต่ยังไม่เป็นผลหรือล้มเหลว
  • มีแนวโน้มที่จะดื่มคาเฟอีนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ 

ซึ่งถ้าหากปล่อยให้เกิดการเสพติดคาเฟอีนเป็นระยะเวลานาน อาจส่งผลให้เกิดผลกระทบด้านอื่นตามมา เช่น อาจเกิดความวิตกกังวลได้ง่าย หรือส่งผลต่อการนอนหลับ ทำให้นอนหลับพักผ่อนได้ไม่เพียงพอนัก ซึ่งส่งผลต่อสภาพร่างกายและสภาพจิตใจได้

ในส่วนของวิธีการรักษาการเสพติดคาเฟอีน สามารถทำได้โดยค่อย ๆ ลดปริมาณคาเฟอีนตามที่ร่างกายรับไหว เช่น ที่ผ่านมากินกาแฟวันละ 4 แก้ว สัปดาห์ต่อมาลองลดให้เหลือวันละ 3 แก้ว และลดจนเหลือ 2 ไปจนถึง 1 แก้วตามลำดับ หรืออาจทำได้โดยหาเครื่องดื่มทางเลือก เช่น ดื่มชา น้ำสมุนไพร น้ำผลไม้ปั่น กาแฟดีแคฟ เป็นต้น ซึ่งอาจจะช่วยลดความต้องการคาเฟอีนลงได้บ้าง แต่ถ้าหากลองทำอย่างเคร่งครัดแต่ยังไม่ได้ผล สามารถเข้าพบผู้เชี่ยวชาญอย่างจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาเพื่อขอคำแนะนำในการปรับพฤติกรรมต่อไปได้

อ้างอิง

Sharma, H. R. (2020, June 10). A Detail Chemistry of Coffee and Its Analysis. IntechOpen eBooks.

Valeii, K. (2023, November 17). Caffeine Addiction: How Much Is Too Much? Verywell Health.

What doctors wish patients knew about the impact of caffeine. (2024, January 5). American Medical Association.