“My loneliness is killing me!!” ความเหงาเรื้อรังที่เข้ามากัดกินหัวใจ

แฟนก็ไม่มี

ครอบครัวก็ไม่เข้าใจ

เพื่อนก็หายไปติดแฟนกันหมด

ทำไมเรายังต้องนั่งเหงาอยู่แบบนี้เนี่ย?

ไหน ๆ มีใครเหงาบ้าง? ขอเสียงคนเหงาหน่อยย

สำหรับคุณแล้ว ความเหงาแวะเวียนเข้ามาหาคุณในรูปแบบไหนบ้าง? แบบที่โดนเพื่อนเทไปติดแฟนกันหมด แบบที่คนรอบตัวมีแต่ความรักที่หวานชื่น แบบที่เหงาเพราะครอบครัวไม่อบอุ่น หรือความเหงาแบบที่ต่อให้อยู่ท่ามกลางคนมากมายก็ยังเหงาอยู่ดี แต่ไม่ว่าจะเหงาแบบไหน เราอยากให้ระวังไว้สักนิด เพราะถ้าปล่อยให้ความเหงาเกิดขึ้นเป็นเวลานานจนเป็น “ภาวะความเหงาเรื้อรัง (Chronic Loneliness)” ขึ้นมา จะสามารถส่งผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพใจได้เทียบเท่ากับการติดบุหรี่เลยทีเดียว! และวันนี้เราจะชวนไปทำความรู้จักกับภาวะนี้ให้มากขึ้นกัน

Chronic Loneliness คืออะไร?

เป็นภาวะความเหงาเรื้อรังที่เกิดขึ้นมาเป็นระยะเวลานาน ความเหงากับความสันโดษแตกต่างกันตรงที่ความสันโดษคือสิ่งที่เราเลือกทำเอง เป็นการอยู่คนเดียวด้วยความสมัครใจ แต่ความเหงาเป็นสิ่งที่เราไม่ได้เลือกให้เกิดเอง อาจเกิดจากสิ่งแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเข้าสังคม เช่น อยู่ในสังคมที่แตกต่างจากตนเอง อยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่เป็นอันตราย หรืออยู่ร่วมกับผู้คนที่มีความแตกต่างทางด้านความคิด จึงทำให้การเป็นตัวของตัวเองหรือการนำเสนอตัวเองในพื้นที่ดังกล่าวทำให้เรารู้สึกแปลกแยก ไม่ได้รับการยอมรับ หรือรู้สึกไม่มีใครเข้าใจ อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะความเหงาเรื้อรังได้ นั่นก็คือรูปแบบของความสัมพันธ์ที่แตกต่างกัน เราอาจเติบโตมาด้วยรูปแบบความสัมพันธ์ที่ให้ความใส่ใจกับการพูดคุย แต่พอโตมากลายเป็นว่าครอบครัวหรือรอบข้างไม่มีใครอยากคุยกับเรา ทำให้ไม่มีใครคุยด้วยและไม่มีใครเข้าใจเราอย่างแท้จริง ก็อาจทำให้รู้สึกเกิดความเหงาขึ้นมาในใจ  

ภาวะความเหงาเรื้อรังมีแตกต่างจากความรู้สึกเหงาทั่วไปที่ระยะเวลาในการเกิดและผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยถ้าหากรู้สึกว่ามีความเหงาเกิดขึ้นเพียงชั่วครั้งชั่วคราวหรือในระยะเวลาสั้น ๆ ก็อาจหาสาเหตุและแก้ไขได้อย่างทันท่วงที แต่ภาวะความเหงาเรื้อรังที่เกิดขึ้นนี้เกิดมาเป็นระยะเวลานานแล้วและอาจแก้ไขได้ยาก เนื่องจากมันเป็นความเหงาที่เกิดจากปัจจัยแวดล้อมรอบข้าง เช่น สังคมและสิ่งแวดล้อมที่เราอาศัยอยู่ 

อันตรายของ Chronic Loneliness

ถึงแม้ว่าภาวะความเหงาเรื้อรังนี้จะยังไม่ได้ถูกจัดว่าเป็นโรคทางจิตเวช แต่ความเหงาที่เกิดขึ้นเป็นระยะเวลานานสามารถเป็นปัจจัยเสริมที่ทำให้เกิดโรคทางจิตเวชได้ ในปี ค.ศ. 2023 ที่ผ่านมา WHO หรือองค์กรอนามัยโลกได้ประกาศให้การปลีกตัวจากสังคมและความเหงา (Social Isolation and Loneliness) เป็นปัญหาที่ควรได้รับการแก้ไข เพราะถ้าหากปล่อยไว้นาน ๆ มันจะเพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพกายและสุขภาพใจได้ไม่ต่างจากการสูบบุหรี่หรือการทำร้ายร่างกายตัวเองเลยทีเดียว ยิ่งในปัจจุบันที่ทั่วโลกกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ สำหรับประเทศไทยถือว่าเราได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2543 เป็นต้นมาแล้ว เนื่องจากมีอัตราผู้สูงอายุกว่า 10% จากจำนวนประชากรทั้งหมด และในปี พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา เป็นปีที่มีอัตราผู้สูงอายุสูงกว่าอัตราเด็กเกิดใหม่เสียอีก ซึ่งเรื่องของความเหงาและความโดดเดี่ยวเป็นเรื่องที่มาพร้อมกับผู้สูงอายุ เนื่องด้วยยิ่งอายุมากขึ้น คนที่เรารู้จักมักคุ้นก็ค่อย ๆ หายไปทีละคน ทั้งจากเรื่องการย้ายถิ่นฐานหรือเรื่องการเสียชีวิตตามอายุขัยด้วยก็ตาม ทำให้ผู้สูงอายุเป็นวัยที่เกิดความรู้สึกเหงาได้ง่าย 

รายงานของ WHO พบว่า ผู้สูงอายุกว่า 1 ใน 4 ของประชากรทั่วโลกกำลังประสบกับปัญหาความรู้สึกเหงา แต่ความเหงานี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงกับผู้สูงอายุเท่านั้น ในวัยรุ่นกว่า 5-15% ก็กำลังเผชิญกับปัญหานี้เช่นกัน โดยหากปล่อยไว้นาน ๆ เข้า อาจทำให้มีความเสี่ยงในการเกิดปัญหาทางกายและทางใจได้ เช่น

  • โรคทางกาย เช่น ความดันโลหิตสูง เกิดความเครียด น้ำหนักขึ้น โรคหลอดเลือดสมอง
  • โรคซึมเศร้า
  • โรควิตกกังวล
  • โรคอัลไซเมอร์
  • โรคสมองเสี่อม (Dementia)
  • โรคเสพติดสารเสพติดต่าง ๆ 

อีกทั้งยังทำให้มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายและทำร้ายตัวเองได้อีกด้วย 

วิธีจัดการกับความรู้สึกเหงา

  1. สำรวจและให้กำลังใจตัวเอง

เวลาที่มีความรู้สึกเหงาเกิดขึ้น สิ่งที่หลาย ๆ คนจะรู้สึกพ่วงมาด้วยนั่นก็ความรู้สึกลบหรือทัศนคติที่ไม่ดีต่อตัวเอง เราจะรู้สึกว่าเราเป็นคนที่ไม่ดีพอ เป็นคนที่แย่ เป็นคนที่ไม่สมควรได้รับความรักหรือสมควรที่จะมีเพื่อนที่ดี ก่อนที่เราจะมองตัวเองลบไปกว่านั้น ลองมาสำรวจตัวเองตามความเป็นจริงหน่อยดีกว่าว่าเราเป็นคนที่ไม่ดีจริงไหม เราทำอะไรแย่ ๆ ให้ใครไปหรือเปล่า ถ้าหากไม่ได้ทำก็ไม่เป็นไร เราอาจจะไม่เหมาะกับสังคมรอบตัวในตอนนี้ แต่ถ้าหากเราทำตัวไม่ดีขึ้นมาจริง ๆ ก็ถือเสียว่ามันเป็นบทเรียนอันล้ำค่า และเราสามารถแก้ไขตัวเองให้เป็นคนที่ดีขึ้นกว่าเดิมได้อยู่เสมอ เมื่อมองตัวเองอย่างรอบด้านด้วยสายตาที่เป็นกลางแล้ว ให้กำลังใจตัวเองสักนิดว่าเราจะต้องหาพื้นที่เซฟโซนของเราพบอย่างแน่นอน เพียงแต่ว่ามันต้องใช้เวลา เป็นต้น

  1. ค้นหาความสบายใจจากความสัมพันธ์ในชีวิต

ความเหงาที่เกิดขึ้นกับเราอาจเป็นความเหงาที่มาจากการที่เราให้การโฟกัสไปกับความสัมพันธ์ใหม่ ๆ จนลืมความสัมพันธ์เก่า ๆ ที่แสนล้ำค่าไป หากความสัมพันธ์ไหนทำให้เราต้องเปลี่ยนตัวเองจนรู้สึกไม่สบายใจ หรือต้องใช้ความพยายามในการสร้างความประทับใจมากเกินไป ลองพักมาจากความสัมพันธ์เหล่านั้น และมองหาความสัมพันธ์ที่สร้างความสบายใจให้กับตัวเราเอง เป็นความสัมพันธ์ที่เพียงแค่นึกถึงก็ทำให้สบายใจ ความสัมพันธ์ที่เราไม่ต้องพยายามอะไรนักก็ทำให้อยู่ร่วมกับพวกเขาได้อย่างมีความสุข อาจเป็นเพื่อน ครอบครัว หรือกลุ่มคนที่มีความฝันและความชอบที่เหมือนกันก็ได้ ลองกลับไปหาพวกเขา และใช้เวลากับพวกเขาให้มากขึ้น จะช่วยคลายความเหงาและกระชับความสัมพันธ์ได้ดีทีเดียว แต่ถ้าหากว่ายังไม่เจอความสัมพันธ์ที่สบายใจแบบนี้ ลองค่อย ๆ ให้เวลากับตัวเองและสำรวจกลุ่มสังคมอื่น ๆ ให้มากขึ้น ข้างนอกนั่นจะต้องมีที่ของคุณอย่างแน่นอน

  1. พบผู้เชี่ยวชาญ

หากลองทำทุกวิถีทางแล้วแต่ความรู้สึกเหงาที่เกิดขึ้นนี้ยังไม่จางหายไป เราแนะนำให้คุณลองไปพบผู้เชี่ยวชาญ ไม่ว่าจะเป็นนักจิตวิทยา จิตแพทย์ หรือนักจิตบำบัด เพื่อค้นหาสาเหตุและทำความรู้จักกับเจ้าก้อนความเหงาที่เกิดขึ้นให้มากขึ้นและลึกขึ้น มันอาจไม่ได้มาจากปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม แต่อาจมาจากปมปัญหาในชีวิตที่เรื้อรังมาตั้งแต่เด็ก ๆ หรืออาจมาจากพฤติกรรมของเราเองที่เราควบคุมไม่ได้ หากแต่เกิดจากความผิดปกติของสมอง ฮอร์โมน หรือร่างกายในส่วนอื่น ๆ ซึ่งเราต้องร่วมหาคำตอบกับผู้เชี่ยวชาญกันต่อไปนั่นเอง อย่าเพิ่งท้อนะ มันต้องมีทางออก!

ความเหงาที่เกิดขึ้นนี้ โดยเฉพาะความเหงาเรื้อรังอันตรายกว่าที่คิด อย่าปล่อยให้ตัวเองรู้สึกเหงานานเกินไป ออกไปหาอะไรทำ ออกไปคุยกับผู้คนบ้าง เพื่อคลายความเหงาที่เกิดขึ้น จริง ๆ แล้วเราไม่ได้โดดเดี่ยวหรอกนะ ลองเปิดใจและเปิดรับอะไรใหม่ ๆ จากโลกข้างนอกมากขึ้นอาจทำให้เราได้เห็นความสุขมากขึ้นก็ได้

อ้างอิง

Nguyen, J. (2023, February 3). What Is Chronic Loneliness? Verywell Mind.  

Signs and Symptoms of Chronic Loneliness | Cigna Healthcare. (n.d.).

Social Isolation and Loneliness. (2023, November 15).