ขยาย Attention Span ด้วย 5 วิธีฝึกตัวเองให้โฟกัสได้นานขึ้น!

รู้หรือไม่ว่า ค่าเฉลี่ยของ Attention Span หรือความสามารถในการจดจ่อกับบางสิ่งบางอย่างของมนุษย์ในยุคปัจจุบันนั้นมีระยะเวลาเพียง 8-8.25 วินาทีเท่านั้น ซึ่งน้อยกว่าปลาทองเสียอีก! (Attention Span ของปลาทองอยู่ที่ 9 วินาที) ซึ่งสอดคล้องกับวิถีชีวิตของเราที่เปลี่ยนไป พอเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตมากขึ้น ประจวบกับโลกของเทคโนโลยีที่เต็มไปด้วยข้อมูลอยู่ ทุกอย่างมาไวไปไวและต้องอัดแน่นให้ผู้คนได้รับสารอย่างทันท่วงที ทำให้เราต้องปรับตัวกับการรับสารใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา และที่ไม่พูดถึงคงไม่ได้ คลิปสั้นหรือวิดีโอสั้นอย่าง TikTok ที่มีกว่าล้านคลิปในแต่ละวัน หากเจอคลิปไหนน่าเบื่อเราก็ปัดทิ้งไปได้เลย ซึ่งทำให้เราแสวงหาแต่คลิปที่เราอยากดูเท่านั้น ซึ่งสิ่งนี้เองทำให้ความอดทนของเราค่อย ๆ  หายไปตามอีกด้วย

แต่ก็ใช่ว่า Attention Span จะอยู่ที่ 8-8.25 วินาทีไปตลอดกาล ของแบบนี้มันฝึกให้ดีขึ้นได้ เพียงอาจต้องใช้เวลาและความอดทนมากขึ้นหน่อย 

5 วิธีฝึกโฟกัสให้นานขึ้น

  • กำจัดสิ่งรบกวน

ลองสังเกตดูว่า พื้นที่ทำงานของเรามีอะไรบ้าง? หากในพื้นที่ทำงานที่เราต้องใช้สมาธิเต็มไปด้วยสิ่งรบกวนมากมาย อย่างโทรทัศน์ เกม หรืออะไรที่หยิบจับมาเล่นได้อย่างปากกา กระดาษ ไปจนถึงโทรศัพท์ด้วยก็ตาม ให้เราปิดเสียงอุปกรณ์เหล่านี้และนำไปใส่ในกล่องหรือตะกร้าหลังห้อง นอกห้อง หรือพื้นที่ที่สายตาเรามองไม่เห็น โดยให้ตั้งกฏกับตัวเองไว้ว่า เมื่อเสร็จงานแล้วจึงจะค่อยจับอุปกรณ์เหล่านั้นได้อีกครั้ง

  • ทำทีละอย่าง

ถึงแม้ว่าช่วงหนึ่ง การเป็นคนทำอะไรได้หลายอย่างในเวลาเดียวกัน (Multitask) จะเป็นสิ่งที่ผู้คนให้การชื่นชมมาก แต่รู้หรือไม่ว่า การ Multitask ส่งผลต่อการจดจ่อและการใช้สมาธิของเราได้ เพราะเราต้องแบ่งสมาธิไปใช้ในการจัดการหลายส่วน ๆ จึงทำให้เราโฟกัสกับอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ จึงส่งผลให้ Attention Span ของเราไม่ดีนัก วิธีแก้คือการทำงานทีละอย่าง ทีละชิ้น เมื่อเสร็จจึงค่อยไปจัดการในส่วนอื่น จะช่วยให้เราโฟกัสกับงานชิ้นหนึ่งอย่างเต็มทื่ไปเลย 

  • จัดเวลาให้เหมาะสม

การจัดเวลาในการทำงานที่เหมาะสมของแต่ละคนนั้นต้องใช้การสังเกตและเก็บข้อมูลจากพฤติกรรมของตัวเองร่วมด้วย ลองถามตัวเองว่า เราโฟกัสกับงานได้นานที่สุดเท่าไร เราโฟกัสได้ดีที่สุดในช่วงเวลาไหน และเราต้องการเวลาพักครั้งละกี่นาที เมื่อสามารถตอบตัวเองได้แล้ว ให้ลองตั้งเวลาในการทำงานของตัวเอง ครบตามชั่วโมงแล้วพักสักนิด หรือถ้าช่วงไหนของวันสมองเริ่มไม่แอคทีฟก็ไปหาอะไรทำเพื่อพักสักนิด หรือจะกระตุ้นตัวเองอีกสักหน่อยก็ได้ ซึ่งแต่ละคนมีจังหวะการทำงานของตัวเองแตกต่างกันไป หามันให้เจอ

  • พักไปทำอย่างอื่น

ทุกอย่างมีลิมิตของมันกันทั้งนั้น การโฟกัสกับการทำงานก็เช่นเดียวกัน หากรู้สึกว่าสมองล้าหรือร่างกายเริ่มจะโฟกัสกับการทำงานไม่ไหวแล้ว เราต้องพักไปหรือไปหาอะไรกินเติมพลังงานให้ร่างกาย หรือทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่ทำให้เราได้ใช้เวลาพักอยู่กับตัวเองโดยการนั่งเฉย ๆ สัก 10 นาที หรืออาจจะเป็นการทำ Mental Health Check-In ตรวจสอบตัวเองว่าตอนนี้ร่างกายและจิตใจรู้สึกอย่างไร ต้องการความช่วยเหลือไหม ลองหาวิธีพักของตัวเองดูนะ

  • ฝึก Mindfulness

การฝึกสติหรือ Mindfulness อย่างเช่นการทำสมาธิ โยคะ การใช้เวลาอยู่กับตัวเอง การใช้เวลาอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ เป็นต้น สิ่งเหล่นี้สามารถช่วยในการจดจ่อได้ในระยะยาว ถ้าเราฝึกสติตอนนี้เลย เราจะเริ่มโฟกัสได้ตอนนี้เลย และถ้ายิ่งทำไปนาน ๆ ก็จะช่วยให้การจดจ่อของเราเสถียรและยาวนานมากขึ้น รวมถึงช่วยในเรื่องอื่น ๆ เช่น ใจเย็นลง มีสติมากขึ้น มีการตัดสินใจที่ดีขึ้น ซึ่งในส่วนนี้ก็สามารถส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงานของเราได้ทั้งนั้น 

ไม่ต้องกลัวไปว่าเราจะเป็นคนที่จดจ่อไม่ได้ไปตลอดกาล Attention Span เป็นสิ่งที่พัฒนาให้ดีขึ้นได้ ยิ่งเราเป็นมนุษย์ที่สามารถเรียนรู้ได้และฝึกฝนตัวเองให้เก่งกาจขึ้นได้อยู่เสมอนั้น การฝึกฝนตัวเองเพียงเท่านี้น่าจะไม่ใช่เรื่องที่ยากเกินความพยายามของเราแน่นอน! 

อ้างอิง

How to Improve Your Focus and Concentration Skills: 15 Tips. (n.d.).

MSEd, K. C. (2023, August 14). 7 Tips for Becoming More Mentally Focused. Verywell Mind.