คุณพอจะเคยได้ยินไหมว่า โดยเฉลี่ยแล้ว คนเรามีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้เพียง 4,000 สัปดาห์ จำนวนสัปดาห์กลม ๆ แบบนี้ยังไม่ได้จำแนกเป็นช่วงเวลาในวัยเด็กและช่วงเวลาหลังเกษียณ หากนับคร่าว ๆ แล้ว ช่วงเวลาที่เราจะได้ใช้ชีวิตแบบที่ได้กำหนดชีวิตตัวเอง หรือเป็นผู้เล่นที่ได้ลงสนามแข่งที่เรียกว่าชีวิต เพียงประมาณครึ่งหนึ่งของจำนวนสัปดาห์ที่ว่า ซึ่งพอเห็นภาพจำนวนสัปดาห์เป็นเลขกลม ๆ แบบนี้แล้ว คิดดูอีกที ชีวิตคนเราก็ไม่ได้นานเท่าไรนักใช่ไหมล่ะ?
พอเราเห็นเลขกลม ๆ ว่ามันไม่ได้นานเท่าไรนัก แน่นอนว่า สิ่งที่กำลังคลืบคลานตามมาในความคิดของเรา นั่นก็คือ “ความวิตกกังวล” หรือในบางคนอาจเกิด “ความกลัว” ขึ้นมาด้วยก็ได้ มีความกลัวและกังวลว่าเราจะใช้ชีวิตได้ไม่เต็มที่ กลัวจะไม่เก่งไปมากกว่านี้ กลัวใช้ชีวิตไม่คุ้น กลัวว่าบั้นปลายชีวิตจะไม่มีเงินใช้หลังเกษียณ กลัวว่าจะไม่มีครอบครัวที่สมบูรณ์ และอีกสารพัดความกลัวความกังวลที่ผูกติดอยู่กับเป้าหมายชีวิตสูงสุดของแต่ละคน
การที่เราเกิดความวิตกกังวลหรือความกลัวขึ้นมาแบบนี้ก็ไม่ใช่เรื่องที่แปลกหรือว่าเป็นเรื่องที่เราจะห้ามกันได้ง่าย ๆ อนาคตเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน เรื่องที่ไม่คาดคิดสามารถเกิดขึ้นได้ทุกขณะ สิ่งที่เราทำได้นั้นมีเพียงการตระเตรียมช่วงเวลาในปัจจุบันให้ดีที่สุด เพื่อให้ในอนาคตเราได้มีเบาะรองนุ่ม ๆ เมื่อเกิดสิ่งที่ไม่คาดคิดขึ้น ยกตัวอย่างง่าย ๆ ก็คงเป็นการซื้อประกันสุขภาพเตรียมไว้เผื่อเจ็บไข้ได้ป่วยในอนาคต ซึ่งการวางแผนเพื่ออนาคตหรือการตั้งเป้าจดจ่อเพื่อสร้างอนาคตที่ดีก็ไม่ใช่เรื่องที่แย่อะไรนัก แต่เหรียญย่อมมีสองด้านอยู่แล้ว แน่นอนว่าการใส่ใจกับอนาคตที่มากเกินควรมันอาจทำให้เราหลงลืมอะไรบางอย่างไปได้ นั่นก็คือ “การอยู่กับปัจจุบัน”
การจดจ่ออยู่กับอนาคตอาจทำให้เราสนใจเป้าหมายใหญ่ในชีวิตมากเกินไป จนลืมไปว่า ปัจจุบันขณะที่เรากำลังหายใจและใช้ชีวิตอยู่นี้ก็มีความสำคัญกับเราไม่ต่างกัน เพราะปัจจุบันคือห้วงเวลาที่เราจะได้สัมผัสกับความงดงามของชีวิต และความเป็นจริงของชีวิตผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้า ที่เราสามารถรับรู้มันได้ในเพียงช่วงเวลานี้เท่านั้น ในอนาคตหากเราย้อนกลับมามอง สิ่งที่เคยเกิดขึ้นจะกลายเป็นเพียงเศษเสี้ยวเล็ก ๆ ภายใต้กองความทรงจำมหาศาลที่อัดแน่นอยู่ในคลังความทรงจำของเรา
ไม่เพียงเท่านั้น การกดดันตัวเองเพื่อให้ไปสู่เป้าหมายในอนาคตยังทำให้เราไม่ได้ชื่นชมการเติบโตในปัจจุบันของตัวเองได้เท่าที่ควร เราจะโฟกัสไปเพียงที่เป้าหมายในเลเวลที่ 100 แม้ในตอนนี้เราจะอยู่ที่เลเวล 49 นั่นไม่ได้หมายความว่าเราไม่ได้มีการพัฒนา หากเปรียบเทียบกับวันแรกที่เราเริ่มจากเลเวล 0 การที่ในปัจจุบันเรามาถึงเลเวลที่ 49 ได้แล้วนั้นคือหลักฐานชิ้นสำคัญว่าเราไม่เคยหยุดอยู่กับที่และเราพัฒนาตัวเองมาโดยตลอด ซึ่งการอยู่กับปัจจุบันจะช่วยให้เราให้คุณค่ากับความพยายามและการเติบโตของเราได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้ทั้งนั้น เพื่อให้ทุกคนสามารถชื่นชมกับความพยายามของตัวเองได้มากขึ้น และเห็นการเติบโตของตัวเองได้มากขึ้นนั้นทำเพียงการคิดในหัวเพียงลำพังไม่ได้ บางทีอาจจะต้องมีตัวช่วยเพื่อมาซัพพอร์ตในการดูแลส่วนนี้ เช่น
- การจดบันทึก (Journaling)
- แอปพลิเคชันติดตามผลต่าง ๆ (Tracker)
- การใช้เวลากับตัวเองผ่าน กิจกรรมฝึกสติ (Mindfulness) เช่น การนั่งสมาธิ
- การพูดคุยกับคนอื่นที่เราไว้ใจ (คนอื่นอาจเห็นพัฒนาการของเราได้ชัดเจนกว่าตัวเราเอง) เช่น เพื่อน ครอบครัว คนรัก นักจิตวิทยา
- กำหนดเป้าหมายย่อย ๆ ออกมาจากเป้าหมายใหญ่ และทำเช็กลิสต์เป้าหมายย่อยเหล่านั้นตามระยะเวลาที่เรากำหนด
ซึ่งเครื่องมือเหล่านี้สามารถช่วยให้เราเห็นการเปลี่ยนแปลงหรือการเติบโตของเราได้ชัดเจนยิ่งขึ้น รวมถึงช่วยให้เรามองเห็นศักยภาพและทิศทางที่เราจะไปได้ชัดเจนขึ้นเช่นกัน และยังทำให้เราเห็นอีกด้วยว่า เราเข้าใกล้เป้าหมายมากขนาดไหน และเรามีเวลาเหลืออีกแค่ไหนอีกด้วย
ชีวิตกว่า 4,000 สัปดาห์เป็นช่วงเวลาที่ไม่ได้ยาวนานนัก แต่ก็ไม่ได้สั้นเสียทีเดียว ขอให้ทุกคนมีความสุขกับการเดินทางกว่า 4,000 สัปดาห์นี้ และอย่าลืมมีความสุขกับปัจจุบันด้วยนะ
สุขภาพจิต Mental Health คือภาวะของจิตใจเราที่เกิดขึ้น ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากตัวเราเอง เช่น ตัวตนของเรา ความคิดของเรา ความรู้สึกที่มีต่อตัวเองและผู้อื่น การมองโล การมีความเข้าใจและรู้เท่าทันต่ออารมณ์และความรู้สึกของตนเอง รวมไปถึงมีการตระหนักรู้ว่าอารมณ์เชิงลบเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นได้สำหรับทุกคน รู้ว่าควรรับมือกับอารมณ์เชิงลบอย่างไรให้เหมาะสมกับตนเอง รวมถึงสิ่งรอบตัวต่าง ๆ ตั้งแต่อาหารการกิน การอยู่อาศัย ไปจนถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน ครอบครัว เพื่อน คนรัก เพื่อนที่ทำงาน เป็นต้น
เช็กปัญหาสุขภาพจิตเบื้องต้นได้ที่นี่