หากจะพูดถึงโรคทางจิตเวชที่คนส่วนใหญ่รู้จักและเป็นโรคที่พบผู้ป่วยได้มากเป็นอันดับต้น ๆ แล้ว คำตอบคงหนีไม่พ้นโรคซึมเศร้า (Major Depressive Diorder : MDD) อย่างแน่นอน แต่รู้หรือไม่ว่า ยังมีอีกโรคหนึ่งที่พบผู้ป่วยในไทยเป็นจำนวนที่ไม่น้อยไปกว่ากัน นั่นก็คือ “โรควิตกกังวล” หรือ Anxiety Disorder และในบทความนี้เราจะไปทำความรู้จกกับโรควิตกกังวลให้มากขึ้นกัน
โรควิตกกังวล Anxiety Disorder คืออะไร?
จากข้อมูลของ Policy Watch พบว่า ประเทศไทยมีจำนวนผู้ป่วยโรควิตกกังวลในร้อยละที่ใกล้เคียงกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า และจากสถิติแล้วมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ เคียงคู่กับโรคซึมเศร้าเช่นกัน ซึ่งในจำนวนนี้ยังไม่ได้นับรวมถึงผู้ป่วยนอกระบบที่ไม่ได้รับการวินิจฉัยหรือการรักษาโรคอย่างเป็นรูปธรรมอีกด้วย ซึ่งแสดงว่า จำนวนผู้ป่วยโรควิตกกังวลนั้นยังมีอีกมากในสังคมไทย
โรควิตกกังวล หรือ Anxiety Disorder เป็นโรคทางจิตเวชที่ผู้ป่วยมีปัญหาเกี่ยวกับความคิดความเครียดและความรู้สึกวิตกกังวลอย่างรุนแรงที่ควบคุมและจัดการได้ยาก จนทำให้มีปัญหาในการใช้ชีวิต เช่น วิตกกังวลจนทำงานไม่ได้ เครียดจนร่างกายสั่นไปทั้งตัว เป็นต้น โดยสิ่งที่เป็นตัวกระตุ้นหรือ Trigger ให้เกิดความวิตกกังวลนี้มีหลากหลายปัจจัยขึ้นอยู่อาการของแต่ละคน อาจเป็นความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นจากการพบปะกับผู้คน เป็นความวิตกกังวลทั่วไป ซึ่งโรควิตกังวลสามารถแบ่งแยกย่อยตามตัวโรคได้ ดังนี้
- โรควิตกกังวลทั่วไป (Generalized Anxiety Disorder : GAD) : เป็นประเภทโรคที่พบได้มากที่สุด โดยผู้ป่วยมักเกิดความรู้สึกวิตกกังวลกับเหตุการณ์ทั่วไปในการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การทำงาน การออกไปทำธุระต่าง ๆ
- โรคแพนิก (Panic Disorder) : เป็นโรคที่ผู้ป่วยมีอาการเด่นคือ Panic Attack ซึ่งเป็นอาการตกใจที่ส่งผลต่อร่างกายและสภาพจิตใจอย่างรุนแรง โดยเกิดจากการพบเจอกับตัวกระตุ้น (Trigger)
- โรคกลัว (Phobias และ Specific Phobia) : เป็นโรคที่ผู้ป่วยรู้สึกกลัวกับอะไรบางอย่างจนทำให้เกิดความเครียด และพวกเขาไม่สามารถจัดการมันได้ โดยโรคกลัวมีแบ่งแยกย่อยเป็นหลายประเภทไปตามตัวกระตุ้น เช่น โรคกลัวแมงมุม โรคกลัวรู เป็นต้น
- โรคกลัวที่ชุมชน (Agoraphobia) : เป็นโรคกลัวที่ผู้ป่วยรู้สึกไม่ปลอดภัยเมื่ออยู่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นสถานที่สาธารณะหรือส่วนตัวก็ตาม โดยพวกเขาจะมีความกลัวว่าจะหาทางออกไม่ได้ หรือไม่มีคนช่วยเหลือ
- โรคกลัวสังคม (Social Anxiety Disorder) : เป็นโรคที่ผู้ป่วยจะมีความวิตกกังวลเมื่อต้องมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ทั้งการพูดคุยทั่วไป ไปจนถึงการพูดในที่สาธารณะ
- โรคกลัวการแยกจาก (Separation Anxiety Disorder) : เป็นโรคที่ผู้ป่วยรู้สึกกังวลเมื่อต้องแยกจากจากผู้คนที่รู้สึกใกล้ชิดหรือผูกพัน
- ภาวะไม่พูดบางสถานการณ์ (Selective Mutism) : เป็นภาวะที่เกิดขึ้นกับเด็ก โดยพวกเขาจะมีการเลือกพูดในบางสถานการณ์ เช่น เลือกพูดที่บ้าน แต่ไม่พูดที่โรงเรียน ซึ่งมักเกิดกับเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีและอาการของโรคจะหายไปเอง แต่ถ้าหากภาวะนี้มีความเกี่ยวข้องกับโรคกลัวสังคม เมื่อโตขึ้นก็จะยังมีอาการของโรคกลัวสังคมอยู่
อาการของโรควิตกกังวล
- มีความเครียดและวิตกกังวล
- ไม่สามารถควบคุมความกังวลที่เกิดขึ้นได้
- หยุดคิดมากไม่ได้
- กังวลกับทุกเรื่องในชีวิต
- เหนื่อยง่าย
- รู้สึกถูกรบกวนได้ง่าย
- โฟกัสสิ่งต่าง ๆ ได้ยาก
- มีปัญหาในการนอนหลับ
วิธีการรักษาโรควิตกกังวล
เช่นเดียวกับโรคทางจิตเวชอื่น ๆ หากมีอาการที่เสี่ยงต่อการเป็นโรควิตกกังวลเกิดขึ้นนั้น จำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยจากจิตแพทย์ รวมถึงทำแบบประเมินทางจิตวิทยาร่วมกับนักจิตวิทยา จากนั้นจึงจะเข้าสู่กระบวนการของการรักษา ไม่ว่าจะเป็นการเข้ารับคำปรึกษาร่วมกับนักจิตวิทยา การทานยาป้องกันอาการวิตกกังวล และการทำจิตบำบัดที่เหมาะสมกับผู้ป่วย เช่น การทำจิตบำบัดผ่านการพูดคุยทั่วไป หรือการทำ CBT (Cognitive Behavioral Therapy) หรือการบำบัดที่เน้นไปที่การปรับปรุงความคิดและพฤติกรรมของผู้ป่วยเพื่อให้มีการปรับพฤติรรมและสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกตินั่นเอง
โรควิตกกังวลถือเป็นโรคทางจิตเวชอีกโรคหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามและควรทำความรู้จักเอาไว้ เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยโรควิตกกังวลในไทยมีจำนวนพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง การทำความเข้าใจตัวโรคให้ถูกต้องจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อให้สังคมเกิดความตระหนักรู้ ความเข้าใจ และมีการปฏิบัติต่อผู้ป่วยอย่างเป็นธรรมและไม่แปลกแยก รวมถึงเป็นการช่วยสอดส่องดูแลอาการของคนใกล้ตัวรวมถึงตัวเราด้วยนั่นเอง
อ้างอิง