ยุคสมัยได้เปลี่ยนผ่าน มุมมองและทัศนคติต่อเรื่องที่เคยมองว่าแปลกได้ถูกเปลี่ยนมาให้เป็นเรื่องปกติและยอมรับได้ในสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพศ สิทธิสตรี ค่านิยมทางสังคม และอีกหลายประเด็นมากมาย ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการเปิดกว้างเรื่องโรคจิตเวชและอาการป่วยทางใจต่าง ๆ ที่มีการให้ความรู้และมีการเปิดใจทำความเข้าใจเรื่องนี้เพิ่มมากขึ้น ประกอบกับการที่ในประเทศไทยมีผู้ป่วยซึมเศร้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุก ๆ ปี ทำให้ประเด็นเรื่องสุขภาพจิตได้กลายมาเป็นเรื่องที่ทุกคนให้ความสนใจเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
โรคซึมเศร้า (MDD : Major Depressive Disorder) เป็นโรคทางจิตเวชที่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเศร้า ว่างเปล่า สิ้นหวัง ไม่มีเรี่ยวแรง หมดกำลังใจ โฟกัสในเรื่องที่แย่ อารมณ์แปรปรวน นอนไม่หลับ ไม่อยากออกไปใช้ชีวิต มีความคิดอยากทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตาย ซึ่งสาเหตุของโรคซึมเศร้าก็เป็นเช่นเดียวกับโรคทางจิตเวชอื่น ๆ ก็คือยังหาสาเหตุที่แน่ชัดไม่ได้ แต่อาจมาจาก 4 สาเหตุหลัก ได้แก่
- มีโครงสร้างสมองที่แตกต่างออกไป
- สารสื่อประสาทในสมองไม่สมดุล
- ฮอร์โมนในร่างกายมีการเปลี่ยนแปลง
- และอาจเป็นผลพวงจากพันธุกรรม
ซึ่งอาจมีปัจจัยกระตุ้นมาจากสิ่งแวดล้อมและสังคมรอบข้างอีกด้วย ซึ่งผู้ป่วยแต่ละรายก็จะมีแนวโน้มที่ทำให้เกิดโรคแตกต่างกันไป
วิธีการรักษาโรคซึมเศร้าที่เป็นที่รู้จักอย่างหนึ่งคือการกินยาต้านเศร้า (Antidepressant) ซึ่งมีหน้าที่ในการทำให้สารสื่อประสาทในสมองมีความสมดุลมากขึ้น ทำให้มีผู้ป่วยสามารถควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้ ทำให้อยากอาหารมากขึ้น มีแรงอยากออกไปใช้ชีวิตมากขึ้น ไปจนถึงทำให้นอนหลับได้ดี แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องมีการกินยาเป็นประจำตามที่แพทย์สั่ง และต้องใช้เวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์ของการกินยาที่จะทำให้อาการค่อย ๆ ดีขึ้นได้ และไม่ควรหยุดยาเอง
ยาทุกชนิดมีผลข้างเคียง ยาต้านเศร้าก็เช่นกัน ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทำให้กลุ่มผู้ป่วยซึมเศร้าเสียงแตกอยู่เหมือนกัน เพราะบางคนบอกว่า ยาต้านเศร้าได้ผลสำหรับเขา แต่บางคนก็บอกว่ายาต้านเศร้าทำให้ดิ่งหนักกว่าเดิมอีก เช่น ทำให้น้ำหนักขึ้น ยังรู้สึกอยากฆ่าตัวตายอยู่ รู้สึกไม่สดชื่นและไม่กระปรี้กระเปร่า สรุปแล้ว ยาต้านเศร้าเป็นยาดีจริงไหมหรือเป็นยาหลอกกันแน่?
เราบอกได้เพียงว่า แต่ละเคสจะมีผลข้างเคียงแตกต่างกัน สารสื่อประสาทของเราอาจทำให้ต้องใช้เวลาในการเยียวยาและฟื้นฟูนานกว่าคนอื่นสักหน่อย และสถานการณ์ของแต่ละคนก็มีความแตกต่างกันด้วย ทำให้ปัจจัยที่จะมาส่งผลกระทบต่อเราก็แตกต่างกันไปอีก แต่หากรู้สึกว่าการทานยาไม่ได้ช่วยอะไรนัก เราแนะนำให้พูดคุยและปรึกษากับจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาเพื่อหาทางออกที่ดีร่วมกัน เช่น การทำบำบัด การเข้ารับคำปรึกษา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ควรทำควบคู่ในช่วงทานยาต้านเศร้าอย่างเป็นประจำด้วย และที่สำคัญคือ ไม่ควรหยุดยาด้วยตนเอง เพราะเมื่อยาต้านเศร้าบางตัวมีการกินที่น้อยลง ทำให้ยาทำงานได้ไม่ดีพอ โดสไม่ถึง ก็อาจทำให้อาการเราแย่ลงไปอีกได้
ได้โปรดอย่าทิ้งความหวังในการแพทย์ ในยา และในตัวเอง เป็นกำลังใจให้ทุกคนที่กำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายในชีวิต คุณเก่งมากแล้ว ❤️🩹
อ้างอิง
Withdrawal effects of antidepressants. (n.d.). Mind.
ยาต้านเศร้ารักษาโรคซึมเศร้าได้อย่างไร. (n.d.). Retrieved November 23, 2023
Website, N. (2022, February 18). Overview – Antidepressants. nhs.uk.