11 Facts น่ารู้เกี่ยวกับสุขภาพจิต เพื่อให้คุณเข้าใจความสำคัญของสุขภาพจิตมากขึ้น

ถึงแม้ว่าปัญหาสุขภาพจิตดูจะเป็นปัญหาที่สังคมไทยได้ให้ความสำคัญเพิ่มมากขึ้นแล้วก็ตาม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ยังมีประเด็นทางด้านสุขภาพจิตอีกมากที่สังคมไทยควรตระหนักถึงให้มากขึ้น ทั้งในด้านความสำคัญของสุขภาพจิต ปัจจัยที่ส่งผลต่อสุขภาพจิตของเรา โรคจิตเวชที่ควรรู้จักและเข้าใจอาการของโรค การไม่ตีตราผู้ป่วยจิตเวชหรือดูแคลนผู้มีปัญหาสุขภาพจิต ไปจนถึงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิตที่ในปัจจุบันอาจยังไม่ครอบคลุมผู้ป่วยเท่าไรนัก วันนี้เราเลยนำ 11 ข้อน่ารู้เกี่ยวกับสุขภาพจิตมาให้ทุกคนได้อ่านกัน 

1. สุขภาพจิต หรือ Mental Health คือ ภาวะของจิตใจที่เป็นสุข ไร้ความเครียด หรือถ้ามีความเครียดหรือปัญหาเข้ามาก็สามารถจัดการได้อย่างเหมาะสม นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงความเข้าใจต่อปัญหาสุขภาพจิต ไม่มีทัศนคติที่ไม่ดีต่อปัญหาสุขภาพจิต และการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่นในสังคมอีกด้วย

2. สุขภาพจิตและสุขภาพกายสามารถส่งผลต่อกันและกันได้โดยตรง เช่น การนอนหลับพักผ่อนน้อยส่งผลให้ร่างกายเรารู้สึกอ่อนแรง ในขณะเดียวกันทำให้การคิดหรือการตัดสินใจที่เป็นในส่วนของสุขภาพจิตเรามีประสิทธิภาพในการทำงานที่ลดน้อยลงไปด้วย

3. ปัญหาสุขภาพจิตมีหลากหลายรูปแบบมาก แต่ปัญหาหนึ่งที่สังเกตได้ง่ายที่สุดและเป็นที่รู้จักกันมากที่สุดก็คือ “ความเครียด” ที่อาจมาในรูปแบบของปัญหาชีวิต ความรู้สึกหมดไฟในการทำงานหรือการใช้ชีวิต (Burnout Syndrome) ความรู้สึกไม่พอใจกับชีวิตของตัวเอง รู้สึกเบื่อทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัว เป็นต้น

4. จำนวนผู้ป่วยโรคซึมเศร้าทั่วโลกมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงประเทศไทยด้วยเช่นกัน ซึ่งเกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ ทั้งในด้านของกรรมพันธุ์ สิ่งแวดล้อมที่อยู่อาศัย ภาวะเศรษฐกิจ การตกอยู่ในความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ (Toxic Relationship) เป็นต้น

5. อีกหนึ่งปัญหาสุขภาพจิตที่ไม่ควรมองข้าม นั่นก็คือ “ความวิตกกังวล” ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในสังคมไทย ซึ่งเกิดจากความเครียดและความไม่แน่นอนของปัจจัยภายนอก เช่น ปัญหาสังคม ปัญหาครอบครัว ความสัมพันธ์ ความไม่เข้าใจกันต่าง ๆ ประสบการณ์ในอดีต และอื่น ๆ ส่งผลหลาย ๆ คนเกิดความรู้สึกไม่มั่นใจ ไม่แน่นอน เกิดความเครียดและความวิตกกังวลขึ้นมาได้ ซึ่งความวิตกกังวลนี้สามารถนำไปสู่การเกิดเป็นโรควิตกกังวลได้เลยทีเดียว (Anxiety Disorder)

6. และที่เป็นหนึ่งในท็อปปัญหาสุขภาพจิตประจำประเทศไทยที่มีจำนวนผู้ป่วยไม่น้อยเลยทีเดียว นั่นก็คือ “โรคจิตเภท” หรือ Schizophrenia ที่เกิดจากความผิดปกติของกรรมพันธุ์ สารสื่อประสาทในสมอง สิ่งแวดล้อมและความเป็นอยู่ที่ไม่เหมาะสม รวมถึงการเสพสารเสพติดและแอลกอฮอล์ในปริมาณมากก็ส่งผลให้ป่วยเป็นโรคจิตเภทได้เช่นเดียวกัน

7. ปัญหาเรื่องการตีตราผู้ป่วยจิตเวชหรือผู้มีปัญหาสุขภาพจิต (Stigma) เป็นปัญหาหลักที่ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่กล้าเข้ารับการรักษาทางจิตเวชและทางจิตวิทยา เพราะกลัวว่าจะถูกมองว่าแปลก อ่อนแอ และไม่น่าคบ

8. ปัญหาสุขภาพจิตที่พบได้มากในแต่ละช่วงวัย มีดังนี้ วัยเด็กและวัยรุ่นพบปัญหาการกลั่นแกล้งหรือ Bully วัยผู้ใหญ่หรือวัยทำงานพบปัญหาภาวะหมดไฟ และในวัยชรามักพบปัญหาความเหงาและความโดดเดี่ยว 

9. จำนวนบุคลากรทางด้านจิตเวชและจิตวิทยาในไทยที่เป็นกำลังหลังกในการช่วยดูแลสุขภาพจิตของคนไทยนั้นมีจำนวนที่น้อยกว่าทางมาตรฐานที่ทาง WHO ได้กำหนดเอาไว้ โดยในไทยมีจิตแพทย์เพียง 1.3 : ประชากร 1 แสนคน ในขณะที่ WHO กำหนดไว้ว่า ควรมีอย่างต่ำในอัตราที่ 1.7 : ประชากร 1 แสนคน 

10. ในไทยยังมีผู้ป่วยทางจิตเวชและมีผู้มีปัญหาสุขภาพจิตอีกมากที่ไม่ได้รับการเข้ารักษาทางจิตเวชและจิตวิทยา โดยคาดว่าปัจจุบันอาจมีจำนวนผู้ป่วยกว่า 10 ล้านคนเลยทีเดียว

11. และที่สำคัญ การป่วยเป็นโรคทางจิตเวชหรือปัญหาสุขภาพจิตสามารถรักษาให้หายได้ แต่ก็มีบางโรคเช่นเดียวกันที่มีความเรื้อรังและต้องค่อย ๆ ประคับประคองรักษาอาการให้คงที่ไปตลอดชีวิต

เพราะสุขภาพจิตเป็นเรื่องสำคัญต่อชีวิตของพวกเรามากกว่าที่คิด ดังนั้น เราจึงไม่ควรเพิกเฉยปัญหาสุขภาพจิต และควรหมั่นดูแลสุขภาพจิตควบคู่ไปกับสุขภาพกายอย่างเป็นประจำนั่นเอง

อ้างอิง

คาดคนไทยป่วยสุขภาพจิต มากกว่าผู้รับการรักษา 5 เท่า. (2024, May 27). Policy Watch. Retrieved July 10, 2024.

สุขภาพจิตคนไทย แย่แค่ไหนจากข้อมูล. (2023, December 18). Policy Watch. Retrieved July 10, 2024.