อยากมีสุขภาพจิตที่ดี ต้องทำอะไรบ้าง? แนะนำ 10 วิธี 10 กิจกรรมส่งเสริมสุขภาพจิต

สุขภาพจิต Mental Health คืออะไร?

สุขภาพจิต Mental Health คือภาวะของจิตใจเราที่ได้รับอิทธิพลมาจากสิ่งรอบตัว ตั้งแต่อาหารการกิน การอยู่อาศัย ไปจนถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน ครอบครัว เพื่อน คนรัก เพื่อนที่ทำงาน เป็นต้น
การมีสุขภาพจิตดี คือภาวะจิตใจของเรารู้สึกเป็นสุขทั้งทางกายและทางใจ มีความรู้สึกเชิงบวกต่อตัวเองและผู้อื่น มองโลกตามความเป็นจริง มีความเข้าใจและรู้เท่าทันต่ออารมณ์และความรู้สึกของตนเอง รวมไปถึงมีการตระหนักรู้ว่าอารมณ์เชิงลบเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นได้สำหรับทุกคน และรู้ว่าควรรับมือกับอารมณ์เชิงลบอย่างไรให้เหมาะสมกับตนเอง
ในส่วนของการมีสุขภาพจิตที่ไม่ดี คือภาวะจิตใจของเรารู้สึกเป็นทุกข์ ไม่มีความสุข เศร้าหมอง สิ้นหวัง ซึ่งล้วนเป็นความรู้สึกเชิงลบ นอกจากนี้ ยังรวมถึงการที่มีความรู้ความเข้าใจต่ออารมณ์และความรู้สึกของตนเองต่ำ ไม่รู้ว่าควรรับมือกับอารมณ์เชิงลบที่เกิดขึ้นกับตัวเองอย่างไร ทั้งนี้ทั้งนั้นอาจเกิดจากการดูแลสุขภาพกายได้ไม่ดีพอ เช่น ไม่ดูแลตัวเอง นอนไม่พอ บวกกับการเพิกเฉยการดูแลสุขภาพใจ เช่น ไม่ยอมรับความรู้สึกหรืออารมณ์ที่เกิดขึ้น เก็บกดทางความรู้สึก และยังรวมไปถึงปัจจัยที่เกิดจากสิ่งแวดล้อมและผู้อื่น เช่น อยู่ในครอบครัวที่ทะเลาะกันบ่อย พ่อแม่กดดัน ดุด่า ทำร้ายร่างกาย ก็ส่งผลให้เกิดการมีสุขภาพจิตที่ไม่ดีได้เช่นกัน   


สุขภาพจิตเป็นเรื่องที่หลาย ๆ คนมักมองข้าม เพราะปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดขึ้นมักไม่ได้แสดงอาการให้เราเห็นเป็นรูปธรรม ปัญหาสุขภาพจิตมักเกิดขึ้นจากภายใน จากนั้นจึงค่อย ๆ ส่งผลต่อารมณ์ ความรู้สึก พฤติกรรม และสุดท้ายมาออกอาการที่สุขภาพกายได้ เช่น เครียดจนปวดหัว อยู่ในสภาพแวดล้อมที่กดดันจนส่งผลให้เป็นโรคทางสุขภาพจิตได้ เป็นต้น ดังนั้น เราจึงไม่ควรมองข้ามปัญหาสุขภาพจิต เพราะปัญหาสุขภาพจิตเกิดขึ้นได้กับทุกคน ถ้าเป็นไปได้เราควรมีการจัดการกับสิ่งแย่ ๆ ที่ทำให้เรารู้สึกไม่ดีตั้งแต่เนิ่น ๆ คลายความเครียด และรับมือกับปัญหาให้ได้ นอกจากปัญหาจะได้รับการกำจัดแล้ว ยังช่วยให้เราลดความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพจิตได้ด้วย

การดูแลสุขภาพจิตนั้นทำได้ง่าย ๆ เริ่มต้นที่ตัวเราเองได้เลย วันนี้เราจึงนำ 10 วิธี 10 กิจกรรมส่งเสริมสุขภาพจิตเพื่อให้เราทุกคนได้ดูแลสุขภาพจิตด้วยตนเองมาให้ลองทำกัน ไปดูกันเลย

10 วิธี 10 กิจกรรมส่งเสริมสุขภาพจิต

  • ดูแลอาหารการกิน

นอกจากโภชนการทางอาหารจะส่งผลต่อสุขภาพกายเราได้โดยตรงแล้ว สารอาหารต่าง ๆ ในอาหารก็ส่งผลต่อฮอร์โมนและสารสื่อประสาทในร่างกายจนส่งผลต่อสุขภาพจิตของเราได้เช่นกัน หากเราทานอาหารที่มีไขมันเลวมากไป ก็อาจทำให้ร่างกายรู้สึกไม่สบายตัว จนทำให้เรารู้สึกไม่สบายใจตามไปได้ หรือการกินอาหารที่มีโปรตีน กล้วย ผักใบเขียว หรือถั่วประเภทต่าง ๆ สามารถส่งผลให้สารสื่อประสาททำงานได้ดียิ่งขึ้น อย่างเช่นโดปามีน หรือ ฮอร์โมนแห่งความสุข ซึ่งจะทำให้เรามีสุขภาพจิตที่สดใสและร่าเริงได้อีกด้วย

  • การนอนหลับ

เคยสังเกตตัวเองกันบ้างไหมว่าเวลานอนไม่พอจะมีอาการอย่างไร ส่วนใหญ่เวลาคนเรานอนไม่พอมักจะหัวเสียง่าย อารมณ์ไม่คงที่ ทำให้พาลทำร้ายความรู้สึกคนอื่นได้อย่างง่าย ๆ อีกทั้งยังส่งผลเสียต่อความสามารถในการตัดสินใจได้อีกด้วย นอกเหนือจากผลเสียต่อภาวะอารมณ์แล้ว การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอยังส่งผลให้ร่างกายเราฟื้นฟูได้ไม่เต็มที่ ทำให้รู้สึกว่าอยู่ในภาวะล้า ไม่มีความพร้อมที่เหมาะสมต่อการดำเนินชีวิตเท่าใดนัก เพื่อให้สุขภาพกายและสุขภาพจิตของเราอยู่ในระดับที่เสถียรและมีความคงที่ การได้นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญมากไม่แพ้กับเรื่องอาหารการกินเลยทีเดียว

  • ทำกิจกรรมที่ตัวเองชอบ

ดูหนัง ฟังเพลง ดูซีรีส์ เล่นเกม ไปคอนเสิร์ต เล่นกับหมาแมว นั่งชมนกชมไม้ เล่นดนตรี เดินเล่น ออกกำลังกาย ไปเที่ยว หรือจะเป็นการนั่ง ๆ นอน ๆ อยู่บ้านโดยไม่ทำอะไรก็ได้ ไม่ว่ากิจกรรมที่เราชอบทำจะดูไร้สาระหรือไม่เข้าท่าในสายตาคนอื่นมากแค่ไหนก็ตาม อย่าไปฟังเสียงนกเสียงกาเหล่านั้น ตราบใดที่กิจกรรมเหล่านั้นนำความสุขมาให้เรา ให้เราหาเวลาทำมันอยู่เป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ร่างกายและจิตใจของเราได้รู้สึกผ่อนคลายจากชีวิตประจำวันที่เต็มไปด้วยความตึงเครียดบ้าง 

  • หมั่นสังเกตความรู้สึกของตัวเอง

เพราะอารมณ์และความรู้สึกของเราเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ช่วงเช้าเราอาจจะอารมณ์ดี แต่พอบ่าย ๆ มาอาจเจองานรุมเร้าจนทำให้เผลอเครียดไปโดยไม่รู้ตัว และความเครียดนี้ก็อาจติดอยู่กับเราไปตลอดทั้งวันและทำให้วันดี ๆ กลายเป็นวันที่แย่ได้ ดังนั้น ให้เราคอยหมั่นเช็กอารมณ์และความรู้สึกของเราว่าตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง เมื่อพบคำตอบแล้วว่าเกิดอารมณ์และความรู้สึกอะไรขึ้นมา ให้เรารับรู้ถึงความรู้สึกนั้นและทำงานร่วมกับมัน เช่น หากเครียดอยู่ก็อาจหาทางรับมือกับความเครียดที่เกิดขึ้น หรือถ้ารู้สึกเศร้าก็อาจไปพักสมองสัก 10 นาทีเพื่อปรับอารมณ์ เป็นต้น

  • ออกกำลังกาย

การออกกำลังกายเป็นกิจกรรมครอบจักรวาลที่นอกจากจะช่วยให้เรามีสุขภาพกายที่แข็งแรงแล้ว ยังส่งผลต่อสุขภาพจิตใจได้เป็อนย่างดี เพราะการออกกำลังกายเป็นกิจกรรมที่ช่วยสูบฉีดเลือดของเราได้เป็นอย่างดี ทำให้ร่างกายตื่นตัว กระปรี้กระเปร่า และเป็นการช่วยให้ร่างกายมีการหลั่งของโดปามีนอันเป็นฮอร์โมนแห่งความสุขได้เป็นอย่างดีอีกด้วย ลองสังเกตตัวเองดูได้เลย เวลาเราออกกำลังกายเสร็จจะรู้สึกเครียดน้อยลง และหัวโล่งมากขึ้น ซึ่งเกิดจากการที่มีการหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอลหรือฮอร์โมนความเครียดน้อยลงอีกด้วย  

  • ฝึก Mindfulness

อีกหนึ่งกิจกรรมที่ช่วยดูแลสุขภาพจิตเราโดยตรง นั่นก็คือการฝึกสติ หรือ Mindfulness กิจกรรมที่ช่วยดึงให้เรากลับมาอยู่กับปัจจุบัน โฟกัสกับสิ่งที่เกิดขึ้นในตอนนี้ รับรู้ถึงความเป็นไปในตอนนี้ ทั้งอารมณ์ ความรู้สึก ความคิด และทุกสิ่งทุกอย่างของเรา ซึ่งจะช่วยให้เราโฟกัสปัจจุบันที่เกิดขึ้นในตอนนี้ได้ดีขึ้น ช่วยในการตัดสินใจ ช่วยจัดการกับความกังวลเกี่ยวกับอนาคต และทำให้เราได้ใส่ใจภาวะและตัวตนของเราในตอนนี้ได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียว

  • รักษาความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง

เราทุกคนไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่ด้วยตัวคนเดียว เราต่างมีคนสำคัญและความสัมพันธ์ที่ทรงคุณค่าอยู่ในชีวิตเรากันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน คนรัก ครอบครัว พี่น้อง คนรู้จัก เพื่อนร่วมงาน ไปจนถึงคนแปลกหน้าที่เจอกันครั้งเดียวก็ตาม เพื่อให้เราใช้ชีวิตได้อย่างมีปัญหากับคนอื่นให้น้อยที่สุดและมีความสุขมากที่สุด เราจำเป็นต้องหมั่นรักษาความสัมพันธ์อันดีกับคนรอบข้างเราไว้ให้ดี เช่น เป็นผู้ฟังที่ดี ให้การซัพพอร์ตในส่วนที่ช่วยได้ ส่งต่อความรักและความห่วงใยกันอย่างสม่ำเสมอ เป็นต้น ซึ่งนอกจากจะทำให้ผู้อื่นรู้สึกดีแล้ว ยังช่วยทำให้พวกเขามีทัศนคติที่ดีต่อเรา และทำให้ความสัมพันธ์อันดีนี้ยั่งยืนอีกด้วย

  • เข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมบ้าง

ข้อนี้แตกต่างจากข้อด้านบนตรงที่การเข้าสังคมจะหมายถึงกลุ่มสังคมในระดับที่ใหญ่กว่าและมีจำนวนคนมากกว่า อาจเป็นกลุ่มสังคมเพื่อนมหาวิทยาลัย กลุ่มเพื่อนที่ออฟฟิศ หรือกลุ่มคนที่ชอบทำกิจกรรมคล้าย ๆ กัน โดยสามารถเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมได้หลายรูปแบบ เช่น ไปกินข้าว ไปดื่ม เล่นบอร์ดเกมด้วยกัน ไปคอนเสิร์ตด้วยกัน ไปทำบุญด้วยกัน เป็นต้น ซึ่งการเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมจะช่วยให้ชีวิตเราไม่น่าเบื่อ ได้ลองไปทำอะไรใหม่ ๆ กับคนที่คล้าย ๆ กัน ซึ่งจะช่วยทำให้มีความทรงจำที่ดี มีประสบการณ์ใหม่ ๆ และช่วยรีเฟรชจากชีวิตประจำวันที่น่าเบื่อได้อีกด้วย

  • มีวิธีการผ่อนคลายความเครียดที่เหมาะสม

เราทุกคนต่างประสบพบเจอความเครียดในรูปแบบที่แตกต่างกัน แต่ไม่ว่ามันจะเป็นเรื่องเครียดที่เล็กหรือใหญ่ มันก็เป็นความเครียดที่ทำให้เกิดความไม่สบายใจขึ้นมากันได้ทั้งนั้น ดังนั้น เราทุกคนควรมีวิธีจัดการความเครียดในฉบับของตัวเองติดตัวไว้ บางคนอาจรู้สึกดีขึ้นได้จากการนั่งพักไม่กี่นาที บางคนต้องไปพักร้อน ซึ่งเราสามารถทำได้โดยประเมินความเครียดที่เกิดขึ้นและมองหาวิธีผ่อนคลายความเครียดที่เหมาะสมกับเราในตอนนั้น 

  • เข้าพบนักจิตวิทยาเมื่อไม่สบายใจ

อีกหนึ่งทางเลือกที่อยากให้ทุกคนลองเปิดใจทำ นั่นก็คือการเข้ารับคำปรึกษากับนักจิตวิทยาเพื่อพูดคุยถึงปัญหา ผ่อนคลายความเครียด และมองหาทางออกร่วมกับนักจิตวิทยา ซึ่งนักจิตวิทยาจะไม่ใช่คนที่จะบอกเราถึงวิธีแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง แต่นักจิตวิทยาจะพาเราไปค้นหาต้นตอของปัญหา เงื่อนไขที่เรามีในตอนนี้ และช่วยเราหาทางออกที่เราโอเคและเหมาะสมกับเราที่สุด ซึ่งจะช่วยให้เราเข้าใจและรู้จักตัวเองดีขึ้น รวมถึงมีวิธีในการรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้ดีอีกด้วย 

วิธีการดูแลสุขภาพจิตไม่ได้มีเพียง 10 กิจกรรมที่เราแนะนำกันในบทความนี้เท่านั้น ยังมีอีกหลากหลายวิธีที่ช่วยส่งเสริมสุขภาพจิตของเราได้ดีขึ้นอีกมากมาย แต่ 10 กิจกรรมที่เราแนะนำมาในวันนี้เป็นเพียงกิจกรรมเบื้องต้นที่อยากให้ทุกคนได้ลองทำสักครั้ง เพราะเรามั่นใจว่าทั้ง 10 กิจกรรมนี้สามารถทำให้สุขภาพจิตดีขึ้นได้อย่างแน่นอน