เพราะความฉลาดไม่ใช่เรื่องของการมีความรู้ทางวิชาการ หรือเป็นเรื่องของการเรียนเก่ง จดจำเก่งเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงทักษะอื่น ๆ ที่เราต้องใช้กันอยู่ทุกวัน แต่บางทีก็ถูกมองข้ามไปอย่างเช่น การจัดการอารมณ์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “ความฉลาดทางอารมณ์” หรือ Emotional Intelligence
เพื่อให้เข้าใจความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence) และนำมันไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันให้เป็นประโยชน์ได้ วันนี้เราจะไปทำความรู้จักกับความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence) หรือที่บางทีก็เรียกกันอย่างติดปากว่า EQ ให้มากขึ้นกัน
ความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence) คืออะไร?
ความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence : EI หรือ Emotional Quotient : EQ) หรือที่เรามักคุ้นชื่อว่า EQ เป็นทักษะความสามารถทางด้านอารมณ์รูปแบบหนึ่ง เป็นการนำความเข้าใจของตัวเราเองไปปรับใช้กับสถานการณ์ต่าง ๆ รอบตัวได้อย่างเหมาะสม รวมถึงมีความเข้าใจทางด้านอารมณ์ของผู้อื่นอีกด้วย แนวคิดนี้ถูกคิดค้นโดยนักจิตวิทยาชาวอเมริกัน Peter Salovey และ John D. Mayer แต่เป็นที่รู้จักมากขึ้นในวงกว้างโดยการเขียนหนังสือของ Daniel J. Goleman
ความฉลาดทางอารมณ์ หรือ EQ มีองค์ประกอบสำคัญทั้งหมด 5 องค์ประกอบด้วยกัน ได้แก่
- การรู้ตัว (Self-Awareness)
ความเข้าใจที่มีต่อตัวเอง ทั้งสิ่งที่เราเป็น สิ่งที่เราคิด สิ่งที่เรารู้สึก และมีความสามารถในการจัดการกับอารมณ์ของตัวเองได้อย่างเหมาะสม เข้าใจว่าสิ่งที่เราต้องการคืออะไร รวมถึงมีความรู้ความเข้าใจในจุดแข็งและจุดด้อยของตัวเองเป็นอย่างดี
- การจัดการอารมณ์ตัวเอง (Self-Regulation)
การจัดการอารมณ์ของตัวเองไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมันเป็นทักษะที่ต้องใช้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับตัวเองเป็นอย่างมาก รวมถึงต้องเข้าใจอีกด้วยว่า เราต้องทำอะไรเพื่อให้อารมณ์ของเราอยูในสภาวะที่เหมาะสม ซึ่งทักษะนี้มักพบในการจัดการเรื่องอื่น ๆ ด้วย เช่น การจัดการความเครียด การจัดการปัญหา การรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในชีวิต เป็นต้น
- แรงจูงใจ (Motivation)
แรงจูงใจคือส่ิงที่คอยผลักดันให้เราแสดงพฤติกรรมต่าง ๆ ถ้าเรามีแรงจูงใจภายในที่เหมาะสมและช่วยให้เราพัฒนาและเติบโตไปเป็นคนที่เก่งและดีกว่าเดิมได้นั้นจะช่วยให้เราเป็นคนที่มีพัฒนาการทางอารมณ์ที่ดีนั่นเอง
- ความเข้าอกเข้าใจ (Empathy)
เพราะการเข้าใจผู้อื่นก็สำคัญไม่แพ้การเข้าใจตัวเราเอง การเข้าอกเข้าใจผู้อื่นคือการทำความเข้าใจผู้อื่นผ่านมุมมองของพวกเขา โดยไม่เอาความคิดเห็นของเราไปตัดสินสิ่งที่พวกเขาพบเจอ หรือเรียกง่าย ๆ ตามสำนวนภาษาอังกฤษก็คือการ Put youself in someone’s shoes นั่นเอง
- ทักษะการเข้าสังคม (Social Skills)
ท่ามกลางโลกกว้างใหญ่ใบนี้ เราไม่ได้อยู่ได้ด้วยตัวคนเดียว เราต่างต้องใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นั่นจึงทำให้ทักษะการเข้าสังคมจึงเป็นเรื่องสำคัญ ทักษะที่สำคัญ อาทิ การสื่อสาร การแสดงออกอย่างเหมาะสม การสบตา การต่อรอง การไกล่เกลี่ย เป็นต้น
ความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence) มีประโยชน์อย่างไรบ้าง?
จากองค์ประกอบทั้ง 5 อย่างของความฉลาดทางอารมณ์ หรือ EQ ทำให้เราเข้าใจมากขึ้นว่า ความฉลาดทางอารมณ์มีทั้งในส่วนที่เป็นการทำความเข้าใจตัวเราเอง รวมถึงผู้อื่นและสังคมอีกด้วย ซึ่งมันจะช่วยให้เราสามารถใช้ชีวิตได้เป็นปกติสุข ดังนี้
ประโยชน์ต่อตัวเอง
- เข้าใจตัวเองมากขึ้น
- ทำให้เราจัดการอารมณ์ได้ดี
- ช่วยให้เราพัฒนาตัวเองต่อไปได้
- ช่วยรักษาความสัมพันธ์กับผู้อื่น
- ทำให้เราค้นพบสังคมที่เหมาะกับเรา
ประโยชน์ต่อผู้อื่น
- ช่วยให้เราเข้าใจผู้อื่น
- ช่วยให้เราปฏิบัติกับผู้อื่นได้อย่างเหมาะสม
- ช่วยในการรักษาความสัมพันธ์ระหว่างกันได้ดี
- มีการซัพพอร์ตและสนับสนุนระหว่างกัน
ประโยชน์ต่อสังคม
- ช่วยให้อยู่ร่วมกันด้วยความเข้าใจมากขึ้น
- ช่วยสนับสนุนและผลักดันกันให้เติบโตในทางที่ดี
- เป็นสังคมน่าอยู่
นอกจากนี้ ความฉลาดทางอารมณ์ หรือ EQ ยังมีประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตท่ามกลางวงสังคมต่าง ๆ อาทิ ชีวิตการทำงาน กลุ่มเพื่อนต่าง ๆ กลุ่มคนที่ชอบอะไรเหมือน ๆ กัน เป็นต้น
วิธีขัดเกลาความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence)
- ทบทวนตัวเอง
การทบทวนตัวเองเป็นสิ่งที่จะช่วยทำให้เราเข้าใจตัวเองมากขึ้น เราอาจทบทวนตัวเองผ่านการจดบันทึก (Journal) การทบทวนเรื่องราวที่ผ่านมา การรับฟังความคิดเห็นจากผู้อื่นและเปรียบเทียบกับสิ่งที่เราคิด การทำความเข้าใจพฤติกรรมของตัวเราเองผ่านสถานการณ์ต่าง ๆ เป็นต้น ส่ิงเหล่านี้จะช่วยให้เรามองเห็นตัวเองและเข้าใจตัวเองในมุมที่ลึกขึ้น
- การฝึกสติ หรือ Mindfulness
การฝึกสติ หรือ Mindfulness เป็นกิจกรรมที่มุ่งเน้นให้เราได้อยู่กับตัวเองและอยู่กับปัจจุบัน ซึ่งช่วยให้เราโฟกัสกับสิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้าได้ง่ายขึ้น และทำให้เราไม่พะวงอยู่กับอดีตและปัจจุบัน ถือเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ช่วยให้เราไม่คิดมากได้เป็นอย่างดี ซึ่งการฝึกสติทำได้หลากหลายรูปแบบ อาทิ การนั่งสมาธิ การจดบันทึก การฝึกหายใจ เป็นต้น
- ตั้งเป้าหมายให้เป็น
การใช้ชีวิตจะสนุกขึ้นเมื่อเรามีเป้าหมายให้เดินตาม เช่นเดียวกับการเล่นเกมที่มีเควสต์ต่าง ๆ ให้เราได้ลองทำเล่น โดยเราสามารถลองตั้งเป้าหมายแบบใดก็ได้ตามที่เราต้องการ อาจเป็นเป้าหมายระยะสั้น เป็น To-do list ของวันนี้ หรือเป็นเป้าหมายการลดน้ำหนักรายสัปดาห์ เป้าหมายการออกกำลังกายรายเดือน หรืออาจเป็นเป้าหมายชีวิตในระยะยาว เช่น เป้าหมายทางหน้าที่การงาน เป้าหมายการสร้างครอบครัว เป็นต้น
- ฝึกทักษะการฟัง
ไม่มีใครชอบคนที่ฟังไม่เป็น และไม่มีใครไม่ชอบคนที่พูดอย่างเดียว ในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น ทักษะการฟังเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก เพราะมันจะช่วยให้เราเข้าใจผู้อื่น อยู่ร่วมกันกับพวกเขาได้ดีขึ้น และช่วยให้เราปรับตัวให้เหมาะสมตามสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ ทักษะการฟังที่ควรฝึก อาทิ การไม่พูดแทรก การรับฟังโดยไม่ตัดสินผู้อื่น การแสดงภาษากายที่เหมาะสม การใช้โทนเสียง การใช้คำพูดต่าง ๆ เป็นต้น
- ใช้เวลากับผู้อื่นบ้าง
เพราะเราไม่ได้ใช้ชีวิตคนเดียวเสมอไป เราอาศัยอยู่ในสังคมและเราต้องพึ่งพาสังคม ดังนั้น เราจึงควรปรับตัวให้อยู่ร่วมในสังคมได้ ซึ่งทักษะการเข้าสังคมนี้ฝึกได้จากการเริ่มต้นเข้าสังคมใกล้ตัวของเรา เช่น ครอบครัว เพื่อน เพื่อนที่ทำงาน คนรู้จักที่ชอบอะไรเหมือนกัน ๆ กลุ่มคนเหล่านี้จะช่วยให้เราได้ขัดเกลาทักษะการเข้าสังคม และสอนให้เรารู้จักมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นอย่างเหมาะสมต่อไปนั่นเอง
ดังนั้นแล้ว ความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence : EI หรือ Emotional Quotient : EQ) จึงเป็นทักษะความสามารถอย่างหนึ่งที่เราควรมีติดตัวไว้และควรมีการขัดเกลาอยู่เสมอ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อตัวเราเองและผู้อื่นต่อไปในระยะยาว และเพื่อให้สังคมของเราน่าอยู่มากขึ้นนั่นเอง
อ้างอิง
Lebow, H. I. (2021, June 7). How Can I Improve Emotional Intelligence (EQ)? Psych Central.