ว่าด้วยโรค Anorexia โรคคลั่งผอม เมื่อความกลัวอ้วนไม่ใช่เรื่องน่าขำสำหรับผู้ป่วย

คุณเป็นคนหนึ่งที่กินอะไรแล้วก็รู้สึกกลัวน้ำหนักขึ้นอยู่เป็นประจำหรือเปล่า? การมีน้ำหนักเพิ่มมากขึ้นหรือการอ้วนขึ้นอาจฟังดูเป็นเรื่องธรรมดาทั่วไป แต่สำหรับบางคนหรือสำหรับผู้ป่วยโรคคลั่งผอมอย่างโรค Anorexia แล้วนั้น การมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นถือเป็นเรื่องที่ชวนเครียดและน่าวิตกกังวลมาก เพราะผู้ป่วยมีความรู้สึกและความคิดต่อเรื่องน้ำหนักในระดับที่จริงจังมากกว่าคนทั่วไป หรือเรียกได้ว่ามีมุมมองที่ค่อนข้างบั่นทอนต่อร่างกายของตัวเองมากไปเสียหน่อย 

วันนี้เราจะไปทำความรู้จักกับโรคคลั่งผอม หรือ โรค Anorexia นี้กัน

โรค Anorexia โรคคลั่งผอม คืออะไร?

Anorexia Nervosa หรือ โรค Anorexia หรือชื่อเล่นในภาษาไทยที่เรียกว่า โรคคลั่งผอม เป็นโรคจิตเวชโรคหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มการมีพฤติกรรมทานอาหารที่ผิดปกติ (Eating Disorder) พบได้มากในช่วงวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ตอนต้น โดยผู้ป่วยจะมีพฤติกรรมการลดน้ำหนักที่สุดขั้ว อย่างเช่น อดอาหารเป็นวัน ทานข้าวแค่คำเดียว พยายามอาเจียนนำอาหารออกมา มีการนับแคลอาหารทุกชนิดก่อนกินอย่างเข้มงวด มีการใช้ยาลดน้ำหนักอย่างเป็นประจำ เป็นต้น 

เช่นเดียวกับโรคอื่น ๆ ในกลุ่ม Eating Disorder สาเหตุของโรค Anorexia ไม่ได้มีแค่ความรู้สึกกลัวอ้วนหรือมีภาพลักษณ์ที่ไม่ดี แต่ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็นกรรมพันธุ์ก็ตาม หรือสภาพจิตใจที่มีความอ่อนไหวต่อภาพลักษณ์ก็ตาม รวมไปถึงปัจจัยอื่น ๆ อย่างปัจจัยทางด้านสังคม ค่านิยมทางสังคม มาตรฐานความงามที่บิดเบี้ยว บาดแผลทางด้านจิตใจ ไปจนถึงแรงกดดันทางสังคม เพราะเราปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ค่านิยมและมาตรฐานความงามในปัจจุบันยังคงให้คุณค่ากับความผอมอยู่มาก จึงทำให้ผู้คนในสังคมให้การยอมรับคนที่มีรูปร่างผอมมากกว่า แย่ไปกว่านั้นอาจมีการเลือกปฏิบัติอีกด้วย

นอกจากนี้ ผู้ป่วยในกลุ่มโรคนี้มักมีศนคติต่อรูปร่างของตัวเอง (Self-Image) ที่บิดเบี้ยว ถึงแม้ว่าพวกเขาจะมีรูปร่างที่ผอมกว่ามาตรฐานแล้ว แต่พวกเขาก็ยังย้ำเตือนกับตัวเองอยู่เสมอว่า “ต้องผอมมากกว่านี้” จึงทำให้เกิดเป็นความคิดที่หมกมุ่นอยู่กับความผอมอยู่เรื่อย ๆ นั่นเอง แต่ก็ใช่ว่าผู้ป่วยโรค Anorexia จะมีแต่คนที่ซูบผอม คนรูปร่างอื่น ๆ ก็สามารถป่วยเป็นโรค Anorexia ได้เช่นกัน

อาการของโรค Anorexia โรคคลั่งผอม

ข้อสังเกตทางด้านร่างกาย

  • น้ำหนักลดในช่วงหลายสัปดาห์หรือหลายเดือนที่ผ่านมา
  • มีน้ำหนักที่ไม่สัมพันธ์กับลักษณะทางกายอื่น ๆ อาทิ ความสูง อายุ เพศ 
  • เวียนหัวง่าย เหนื่อยง่าย
  • ไร้เรี่ยวแรง กล้ามเนื้อไม่แข็งแรง
  • เกิดรอยฟกช้ำตามตัวได้ง่าย
  • ความดันต่ำ หัวใจเต้นช้ากว่าปกติ
  • รู้สึกหนาวอยู่ตลอดเวลา
  • มีอาการท้องอืด หรือปวดท้อง
  • ประจำเดือนมาไม่ปกติ

ข้อสังเกตทางด้านสุขภาพจิต

  • รู้สึกกลัวหรือวิตกกังวลเมื่อน้ำหนักขึ้น
  • มีความหมกมุ่นในเรื่องอาหารและการลดน้ำหนัก
  • มีทัศนคติที่ไม่ดีต่อรูปร่างของตัวเอง เช่น มองว่าตัวเองอ้วนเกินไป
  • ชอบวิจารณ์รูปร่างตัวเอง
  • เข้มงวดกับตัวเองในการทานอาหารแต่ละมื้อ
  • มีอาการวิตกกังวลและซึมเศร้าร่วมด้วย

ข้อสังเกตทางด้านพฤติกรรม

  • พฤติกรรมการทานอาหารเปลี่ยนแปลงไป มีการเลือกทานมากขึ้น 
  • พยายามทำให้ตัวเองอาเจียน
  • ใช้ยาลดความอ้วน
  • ยังลดน้ำหนักต่อไปแม้จะส่งผลกระทบต่อด้านร่างกายและสภาพจิตใจ
  • ปลีกตัวจากกลุ่มสังคมหรือกลุ่มเพื่อน

การรักษาโรค Anorexia โรคคลั่งผอม 

ในส่วนของการรักษาโรค Anorexia นั้น อย่างแรกจำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยทางการแพทย์ว่าเป็นผู้ป่วยโรค Anorexia อย่างแท้จริง จากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการรักษา โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้มีพฤติกรรมการทานอาหารที่ดีขึ้น มีน้ำหนักตัวที่คงที่ มีการทานอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วนและเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย รวมถึงมีการปรับเปลี่ยนมุมมองและทัศนคติต่อเรื่องรูปร่างควบคู่ไปด้วย ทั้งนี้ตลอดการรักษาจะอยู่ภายใต้การดูแลของทั้งจิตแพทย์ นักจิตวิทยา รวมถึงนักโภชนาการอีกด้วย 

ในส่วนของกระบวนการทางจิตวิทยา อาจมีการทำจิตบำบัดร่วมด้วย เช่น การทำจิตบำบัดแบบ CBT (Cognitive-Behavioral Therapy) ซึ่งเป็นการบำบัดที่เน้นปรับควมคิดและพฤติกรรมของผู้ป่วยให้มีมุมมองต่อร่างกายของตัวเองอย่างเหมาะสม มีมุมมองที่ดีต่อการทานอาหาร และกลับมาทานอาหารได้อย่าเป็นปกตินั่นเอง

ความรู้สึกกลัวอ้วนอาจฟังเป็นเรื่องธรรมดาทั่วไปในสังคมนี้ก็จริง แต่ถ้าหากว่าความกลัวนี้เริ่มส่งผลให้เรามีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป ทานข้าวน้อยลง น้ำหนักลดลงมากเกินไป รวมถึงส่งผลให้รู้สึกไม่ดีต่อร่างกายตัวเอง นั่นเป็นสัญญาณที่คุณควรปรึกษานักจิตวิทยาและจิตแพทย์แล้ว หากปล่อยให้ความกลัวนี้ส่งผลต่อร่างกายและสภาพจิตใจของเราในระยะยาว มันอาจส่งผลให้เราเกิดโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ 

อ้างอิง

Professional, C. C. M. (n.d.). Anorexia Nervosa. Cleveland Clinic.