หนึ่งในความฝันของมนุษย์เงินเดือนวัยทำงานหลาย ๆ คน นอกจากจะได้เงินเดือนค่าตอบแทนที่สมน้ำสมเนื้อกับที่ได้ลงแรงทำงานไปแล้ว อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้พนักงานหลายคนมีความสุขคือการที่ได้ทำงานในองค์กรที่มีวัฒนธรรมองค์กรที่ดีและเหมาะสมต่อการเติบโตในหน้าที่การงาน มีความเป็น Happy Workplace และอีกหนึ่งความฝันคือได้ทำงานที่มี Work-life Balance ที่อาจฟังดูเป็นเรื่องลี้ลับที่ทำได้ยากในวัยทำงาน แต่หากองค์กรสนับสนุนตรงนี้ได้ พนักงานก็จะสามารถทำงานได้อย่างมีความสุขได้อย่างแท้จริง
แต่ปัจจัยที่ว่าไปนั้นก็ไม่ใช่เพียงปัจจัยหลัก ๆ ที่ทำให้องค์กรเป็น Happy Workplace หรือมีวัฒนธรรมที่เฮลตี้และมีความสุข ยังมีอีกหลากหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อวัฒนธรรมองค์กรที่ดี วันนี้เราจะนำแง่มุมที่น่าสนใจในการสร้าง Happy Workplace วัฒนธรรมองค์กรที่ดี มาให้ได้อ่านกัน
Happy Workplace อยากสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ดี ควรเริ่มจากอะไร?
เมื่อพูดถึง Happy Workplace ที่หมายถึงชีวิตการทำงานที่เป็นสุข คุณนึกถึงอะไร?
การสร้างความสุขในการทำงานเป็นประเด็นที่ฟังดูกว้างมาก แต่จาก APA (American Psychological Association) ได้รวบรวมประเด็นที่ช่วยสร้างความสุขในที่ทำงาน ไว้ดังนี้
- การมีส่วนร่วมของพนักงาน (Employee Involvement)
- การเติบโตและโอกาสในหน้าที่การงาน (Growth and Development Opportunities)
- ความปลอดภัยในการทำงาน (Health and Safety initiatives)
- ความสมดุลของชีวิตทำงานและความยืดหยุ่นในการใช้ชีวิต (Work-life balance and Flexibility)
- การมีตัวตนในที่ทำงาน (Employee Recognition)
- การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพภายในองค์กร (Effective two-way communication in an organization)
การจะสร้าง Happy Workplace ให้เกิดขึ้นกับพนักงานทุกคนภายในองค์กรนั้น สามารถเริ่มได้จากประเด็นทั้ง 6 ข้อ โดยอาจเริ่มจากการศึกษาและทำความเข้าใจผ่านบทบาทหน้าที่ของนักทรัพยากรบุคคล (HR) จากนั้นจึงส่งเสริมประเด็นเหล่านี้ให้ทำได้จริงร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ภายในองค์กร รวมไปถึงผลักดันให้เป็นนโยบายของทางองค์กรต่อไปเพื่อให้พนักงานได้มีชีวิตการทำงานที่มีความสุขสมกับเป็น Happy Workplace อย่างแท้จริงนั่นเอง
ลงมือเปลี่ยนแปลง เพื่อสร้าง Happy Workplace ที่แท้จริง
เมื่อเรารู้แล้วว่า การสร้าง Happy Workplace เพื่อให้พนักงานมีชีวิตในการทำงานที่มีความสุขนั้นต้องคำนึงถึงประเด็นใดบ้าง ส่วนต่อมาคือการลงมือทำเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง เราจะทำอย่างไรเพื่อให้ความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงนั้นกลายมาเป็นรูปธรรม? จาก WHO (World Health Organization) ได้แนะนำถึงการลงมือเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างองค์กรที่ดีต่อสุขภาพจิตเป็น Happy Workplace ไว้ดังนี้
- ป้องกันความเสี่ยงด้านสุขภาพจิตที่เกิดจากการทำงาน
สิ่งที่ทำได้ง่ายที่สุดคือการจัดการเงื่อนไขและสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดีและเหมาะสม มีนโยบายที่ช่วยดูแลสุขภาพจิตโดยตรง ไม่ทำให้พนักงานต้องแลกวิญญาณกับการทำงาน
- ให้ความสำคัญและสร้างความตระหนักรู้ด้านสุขภาพจิตในที่ทำงาน
ทาง WHO ได้แนะนำให้มี 3 รูปแบบ ดังนี้
- หัวหน้างาน : ให้หัวหน้างานได้เรียนรู้และมีความเข้าใจในปัญหาสุขภาพจิต ฝึกสังเกตอาการด้านสุขภาพจิตในพนักงาน รวมถึงมีสามารถให้คำปรึกษาเบื้องต้นให้กับพนักงานได้
- พนักงาน : มีการสร้างความตระหนักรู้ด้านสุขภาพจิตในที่ทำงาน เช่น มีการให้ความรู้ด้านสุขภาพจิต รวมถึงมีการส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เปิดกว้างให้มีการพูดคุยถึงปัญหาสุขภาพจิตได้
- ทั่วไป : มีการจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมต่อการมีสุขภาพจิตที่ดีให้กับพนักงานภายในองค์กร เช่น การจัดการความเครียด การป้องกันปัญหาสุขภาพจิต เป็นต้น
- ส่งเสริมและช่วยเหลือพนักงานที่มีปัญหาสุขภาพจิต
ปัญหาสุขภาพจิตนั้นสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน และมันไม่มีการเลือกที่เกิด ไม่ว่าใครก็มีความเสี่ยงต่อการมีปัญหาสุขภาพจิตได้ ยิ่งในชีวิตการทำงานที่เต็มไปด้วยความตึงเครียดด้วยแล้ว ความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพจิตก็สามารถเกิดกับทุกคนได้ง่ายขึ้น ทาง WHO จึงแนะนำ 3 วิธีในการส่งเสริมพนักงานที่มีปัญหาสุขภาพจิตไว้ดังนี้
- สร้างทางเลือก : เช่น มีการยืดหยุ่นเวลาเข้า-ออกงาน ให้ชั่วโมงการทำงานที่มีความยืดหยุ่นกับสุขภาพจิต มีการให้การพูดคุยปรึกษากับกลุ่มซัพพอร์ตภายในองค์กร
- โปรแกรมพักงาน-กลับเข้าทำงาน : ให้พนักงานที่มีปัญหาสุขภาพจิตได้พักงานหรือลางานตามความเหมาะสมและตามอาการป่วยของพนักงานเมื่อมีความจำเป็นต้องพักงาน
- ให้ความช่วยเหลือ : มีการซัพพอร์ตทางด้านการเงิน รวมถึงให้พนักงานสามารถเข้าถึงการรักษาตามกระบวนการจิตวิทยาได้ง่ายขึ้น เป็นต้น
- สภาพแวดล้อมการทำงานที่ดี
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า สภาพแวดล้อมในที่ทำงานส่งผลต่อสุขภาพจิตและความสุขของพนักงานได้โดยตรง ซึ่งแต่ละองค์กรก็จะมีรายละเอียดในการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการทำงานได้แตกต่างกันไป แต่สิ่งที่ควรคำนึงถึงคือสุขภาพจิตของพนักงานและความแตกต่างภายในองค์กร รวมถึงมีการผลักดันในการส่งเสริมศักยภาพของพนักงานตามความเหมาะสมต่อไป
ลองปรับเปลี่ยนเพียงเท่านี้ องค์กรก็สามารถมี Happy Workplace และวัฒนธรรมองค์กรที่ดีให้กับพนักงานได้แล้ว
นอกจากนี้ ยังมีแนวคิด Happy Workplace จาก สสส. ในการช่วยส่งเสริมวัฒนธรรมองค์กรที่เหมาะสมแก่พนักงาน ประกอบด้วย 8 ข้อด้วยกัน
1. Happy Body มีสุขภาพดี
2. Happy Heart มีนำ้ใจงาม
3. Happy Relax มีเวลาพักผ่อน
4. Happy Brain มีการพัฒนาตัวเอง
5. Happy Soul มีคุณธรรมในการดำเนินชีวิต
6. Happy Money บริหารเงินเป็น
7. Happy Family มีครอบครัวเข้มแข็ง
8. Happy Society สร้างสังคมที่ดี
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Happy Workplace ได้ที่นี่
เพราะสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ของพนักงานเป็นเรื่องสำคัญลำดับต้น ๆ ที่องค์กรต้องให้ความสนใจ การมีวัฒธรรมองค์กรที่ดี และมีความเป็น Happy Workplace ที่ได้ทำให้พนักงานมีความสุขในการทำงานนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก เพื่อให้องค์กรสามารถรักษาพนักงานให้อยู่กับองค์กรได้อย่างยาวนานและเติบโตไปในฐานะองค์กรและฐานะพื้นที่ที่ได้ทำให้พนักงานเติบโตไปด้วยกับองค์กรนั่นเอง