ในช่วงเวลาที่ปัญหาสุขภาพจิต Mental Health ได้เป็นเรื่องที่สังคมไทยให้ความสนใจมากขึ้น เราทุกคนน่าจะได้ยินชื่ออาชีพหนึ่งพ่วงมาในเรื่องสุขภาพจิต นั่นก็คือ “นักจิตวิทยา” แต่นักจิตวิทยาก็ไม่ได้มีเพียงอย่างเดียว หากแต่มีหลากหลายประเภทแตกต่างกันไปตามหน้าที่และสายงานที่ทำ ด้วยความที่อาชีพนักจิตวิทยาเป็นอาชีพที่มีความต้องการเพิ่มมากขึ้น ทำให้น้อง ๆ หลาย ๆ คนมีความฝันที่อยากจะเป็นนักจิตวิทยาเพื่อช่วยรักษาและดูแลสุขภาพจิตของผู้คนมากขึ้น บทความในวันนี้เราจึงนำเรื่องนักจิตวิทยาอย่างจัดเต็มมาให้ทุกคนได้อ่านกัน
นักจิตวิทยาคือใคร?
นักจิตวิทยาคือคนที่ทำอาชีพที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาและสังเกตเกี่ยวกับมนุษย์ ในด้านของความคิด อารมณ์ พฤติกรรม การแสดงออก สุขภาพ สรีระของมนุษย์ เรียกได้ว่านักจิตวิทยาต้องทำศึกษาแทบทุกมิติของความเป็นมนุษย์เลยทีเดียว นอกจากนี้ ยังมีในเรื่องของการวิจัยเกี่ยวกับมนุษย์ในด้านต่าง ๆ เพื่อให้เราเข้าใจมนุษย์มากขึ้น รวมถึงอิทธิพลภายในและภายนอกที่มีผลต่อตัวเรา และที่พูดถึงคงไม่ได้ นั่นก็คือในส่วนหน้าที่ทั่วไปของนักจิตวิทยาที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี นั่นก็คือการให้คำปรึกษาตามกระบวนการทางจิตวิทยา รวมถึงการทำจิตบำบัดอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ความรู้ทางด้านจิตวิทยาไม่ได้มีเพียงนักจิตวิทยาเท่านั้นที่นำไปปรับใช้ได้ ยังมีในส่วนของจิตวิทยาประยุกต์ที่มีการนำความรู้ทางด้านจิตวิทยาไปใช้ในด้านอื่น ๆ เช่น การออกแบบ การกีฬา การแพทย์ การศึกษา เป็นต้น
สรุปหน้าที่ของนักจิตวิทยา
- ให้คำปรึกษาตามกระบวนการทางจิตวิทยา
- ทำจิตบำบัด
- ศึกษาและสังเกตเกี่ยวกับมนุษย์
- ทำวิจัยเพื่อให้เข้าใจมนุษย์มากขึ้น
- ปรับใช้ความรู้ทางจิตวิทยาในการช่วยเหลือมนุษย์
นักจิตวิทยาต้องเรียนอะไร?
ด้วยความที่นักจิตวิทยาต้องทำงานที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์โดยตรง พอพูดถึงเรื่องความเป็นมนุษย์แล้ว มันอาจฟังดูนามธรรมมากเสียจนเราไม่รู้ว่านักจิตวิทยาเขาเรียนอะไรกันบ้าง จากการรวบรวมตัวอย่างคณะและสาขาจิตวิทยาในมหาวิทยาลัยไทย จึงสรุปสิ่งที่นักจิตวิทยาจำเป็นต้องเรียนได้ ดังนี้
- วิชาชีววิทยา
เนื่องจากพื้นฐานของจิตวิทยาส่วนหนึ่งมีความเกี่ยวข้องชีววิทยาโดยตรง เพราะการเข้าใจว่า ร่างกายของเราทำงานอย่างไร จะช่วยทำให้เราเข้าใจกลไกการทำงานของร่างกายได้มากขึ้น อีกทั้งเป็นการปูพื้นฐานให้กับวิชาจิตวิทยาอื่น ๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับกลไกการทำงานของร่างกายอีกด้วย
- วิชาสรีรจิตวิทยา
เป็นวิชาที่เจาะลึกไปที่การทำงานของร่างกายที่เกี่ยวข้องกับจิตวิทยา เช่น การทำงานของสมอง การทำงานของสารสื่อประสาทในร่างกายชนิดต่าง ๆ การทำงานของฮอร์โมนต่าง ๆ ซึ่งช่วยทำให้เราเห็นความเชื่อมโยงระหว่างร่างกายมนุษย์และการทำงานของร่างกายที่เกี่ยวข้องกับอาการป่วยทางจิตเวชได้มากขึ้น ซึ่งวิชานี้จะช่วยทำให้นักจิตวิทยาเข้าใจเกี่ยวกับความผิดปกติทางร่างกายที่ส่งผลต่อสภาวะจิตใจได้ดีมากขึ้นด้วย
- วิชาจิตวิทยาทั่วไป
วิชาพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับนักศึกษาและนิสิตจิตวิทยาทุกคน เพราะวิชานี้จะช่วยปูพื้นฐานเนื้อหาจิตวิทยาแขนงต่าง ๆ ให้ผู้เรียนเข้าใจจิตวิทยาเบื้องต้นเช่น จิตวิทยาคืออะไร ประวัติความเป็นมาของจิตวิทยา นักจิตวิทยาชื่อดังที่สำคัญต่อวงการจิตวิทยา จิตวิทยาการเรียนรู้ การสัมผัสและการรับรู้ ทฤษฎีทางจิตวิทยาหรือแนวคิดที่น่ารู้ เป็นต้น
- วิชาจิตวิทยาอื่น ๆ
รายวิชาจิตวิทยาอื่น ๆ จะมีการแบ่งแยกออกไปหลากหลายแขนงตามจิตวิทยาแขนงหลัก ๆ ตามที่นักศึกษาและนิสิตแต่ละคนสนใจ เช่น วิชาจิตวิทยาคลินิก จิตวิทยาการปรึกษา วิชาจิตวิทยาสังคม วิชาจิตวิทยาพัฒนาการ เป็นต้น
- วิชาสถิติ
จิตวิทยาเป็นวิชาที่จำเป็นต้องมีการใช้สถิติ ทั้งในแง่ของการเก็บข้อมูลและการแปลงข้อมูลในการคำนวณเพื่อให้ได้ข้อมูลที่มีการวัดผลตามหลักการทางสถิติที่มีความน่าเชื่อถือและมีความคาดเคลื่อนน้อยเพื่อให้ได้ข้อมูลที่สามารถปรับใช้กับประชากรส่วนใหญ่ของโลกได้
- วิชาระเบียบวิธีวิจัย
เพราะจิตวิทยาคือการศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับมนุษย์อยู่แล้ว เพื่อให้เราเข้าใจพฤติกรรมมนุษย์ได้มากขึ้น จึงมีการเรียนวิจัยเช่นกัน
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ นักจิตวิทยาเรียนอะไรกันบ้าง ได้ที่นี่
นักจิตวิทยาทำงานแบบไหนกันบ้าง?
นอกจากอาชีพนักจิตวิทยากระแสหลักที่เรามักพบได้ตามสถานพยาบาลทั่วไปแล้ว ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ยังมีนักจิตวิทยาแฝงตัวและมีองค์ความรู้ทางด้านจิตวิทยาที่ได้มีการประยุกต์ใช้กับศาสตร์อื่น ๆ อยู่แทบทุกตารางนิ้วในทุกอุตสาหกรรมเลยทีเดียว จะมีอะไรบ้าง ลองไปดูกันเลย
- นักจิตวิทยาคลินิก
เรียกได้ว่าเป็นนักจิตวิทยาที่เราเจอได้ง่ายและบ่อยที่สุดเนื่องจากนักจิตวิทยาคลินิกทำงานในโรงพยาบาลและสถานพยาบาลต่าง ๆ นั่นเอง โดยนักจิตวิทยากลุ่มนี้ทำงานร่วมกับจิตแพทย์ในการช่วยดูแลผู้ป่วยตามกระบวนการทางจิตวิทยา ประเมินผลแบบทดสอบทางจิตวิทยา ให้คำปรึกษา รวมถึงให้การบำบัดได้อีกด้วย
- นักจิตวิทยาการปรึกษา
เป็นนักจิตวิทยาอีกกลุ่มที่เราเจอได้บ่อย เนื่องจากนักจิตวิทยากลุ่มนี้ทำงานด้านการให้คำปรึกษาตามสถานพยาบาลต่าง ๆ หรือเปิดบริการให้การปรึกษาอย่างอิสระก็มีเช่นกัน หรืออาจทำงานตามองค์กรเอกชนต่าง ๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่พนักงาน
- นักจิตวิทยาอุตสาหกรรม หรือ นักจิตวิทยาองค์กร
นักจิตวิทยากลุ่มนี้ทำงานเกี่ยวกับภายในองค์กรโดยตรง ตั้งแต่การคัดเลือกคนเข้าทำงาน การพัฒนาบุคลากร การดูแลพนักงาน รวมถึงการออกแบบนโยบายที่ส่งเสริมสุขภาพจิตที่ดีให้กับพนักงานนั่นเอง
- นักจิตวิทยาสังคม
นักจิตวิทยากลุ่มนี้เป็นสายวิจัย มักทำงานผ่านการลงพื้นที่ ศึกษา สังเกต และวิจัยมนุษย์ในมิติทางด้านสังคมและวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ รวมถึงอิทธิพลจากมิติอื่น ๆ ที่มีต่อมนุษย์ด้วย
- นักจิตวิทยาชุมชน
ชุมชนถือว่าเป็นหน่วยหนึ่งทางด้านสังคมที่สำคัญไม่แพ้กับกลุ่มสังคมใหญ่ นักจิตวิทยาชุมชนจะมีหน้าที่ช่วยป้องกันความเสี่ยงในการเกิดปัญหาด้านสุขภาพจิตในระดับชุมชน รวมถึงมีการสร้างความตระหนักรู้ด้านการดูแลสุขภาพจิตให้กับชุมชนอีกด้วย คล้าย ๆ กับแพทย์ประจำตำบลนั่นเอง
- นักจิตวิทยาผู้บริโภค
นักจิตวิทยากลุ่มนี้มีความเกี่ยวข้องกับการตลาด โดยจะมีการสำรวจพฤติกรรมของผู้บริโภค สำรวจตลาดต่าง ๆ เพื่อดูว่าผู้บริโภคมีการตัดสินใจซื้อของอย่างไรบ้าง และจะสร้างกลยุทธ์ทางการตลาดอย่างไรที่ทำให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อได้บ้าง
- นักจิตวิทยาการศึกษา
การศึกษามีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ดังนั้น เพื่อให้ผู้คนในแต่ละวัยสามารถเรียนรู้ได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด นั่นเป็นหน้าที่ของนักจิตวิทยาการศึกษาในการทำความเข้าใจและศึกษาเกี่ยวกับการเรียนของมนุษย์ ว่าการเรียนการสอนแบบไหนที่ดีต่อการศึกษามากที่สุด เป็นต้น
- นักจิตวิทยาเด็กและวัยรุ่น
นักจิตวิทยากลุ่มนี้มีทั้งที่ทำงานเฉพาะทางตามสถาบันด้านเด็กและวัยรุ่นต่าง ๆ รวมถึงทำงานภายในโรงเรียนในร่างของครูแนะแนวได้อีกด้วย โดยมีหน้าที่ในการช่วยให้คำแนะนำแก่เด็ก ๆ ที่หลงทางกับการเติบโตได้เข้าใจชีวิตมากขึ้น รวมถึงให้การช่วยเหลือด้านการใช้ชีวิตในโรงเรียนอีกด้วย
- นักจิตวิทยาพัฒนาการ
ไม่ว่าจะเป็นเด็กที่เติบโตไม่เป็นไปตามพัฒนาการ หรือผู้ใหญ่ที่มีการปรับตัวเข้ากับช่วงวัยชราได้ยากก็ตาม เป็นหน้าที่ของนักจิตวิทยาพัฒนาการที่จะช่วยทำให้พวกเขาปรับตัวให้เป็นไปตามพัฒนาการและตามช่วงวัยได้อย่างเป็นธรรมชาติ
- นักจิตวิทยาการกีฬา
วงการกีฬาเป็นวงการที่ใช้แรงกายและแรงใจสูง จึงจำเป็นที่จะต้องมีนักจิตวิทยาการกีฬาที่คอยดูแลสภาพจิตใจ ดูแลการฝึกซ้อม รวมถึงผลักดันให้นักกีฬาทำได้ตามเป้าหมายให้ได้นั่นเอง
- นักนิติจิตวิทยา
นักนิติจิตวิทยาคือส่วนผสมระหว่างศาสตร์ทางด้านจิตวิทยาและด้านกฎหมาย โดยนักจิตวิทยากลุ่มนี้มีหน้าที่ในการเป็นที่ปรึกษาของคดีต่าง ๆ ดูแลเด็กและวัยรุ่นที่มีความเกี่ยวข้องกับคดี รวมถึงมีการทำจิตบำบัดให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องกับคดีอีกด้วย
- นักจิตวิทยาวิศวกรรม
เพื่อให้มนุษย์ได้ทุ่นแรงและทำงานได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เป็นหน้าที่ของนักจิตวิทยาวิศวกรรมที่จะมาร่วมออกแบบสิ่งต่าง ๆ อย่างเช่น เครื่องจักร อุปกรณ์ใช้สอยต่าง ๆ ที่เอื้อต่อการทำงานของมนุษย์ รวมถึงประหยัดพลังงานของมนุษย์ให้ได้มากที่สุดนั่นเอง
- นักจิตวิทยาสิ่งแวดล้อม
เพราะสภาพแวดล้อมรอบข้างส่งผลต่อมนุษย์อย่างปฏิเสธไม่ได้ จึงเป็นหน้าที่ของนักจิตวิทยาสิ่งแวดล้อมในการช่วยดูแลและออกแบบพื้นที่ที่เหมะาสมกับมนุษย์ รวมถึงมีส่วนร่วมในการช่วยดูแลสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่จำเป็นต่อการอยู่อาศัยของมนุษย์อีกด้วย
- นักจิตวิทยาทางการทหาร
ในกองทัพและเหล่าทัพต่าง ๆ ถือเป็นสถานที่หนี่งที่แตกต่างจากสังคมทั่วไปโดยสิ้นเชิง ภายในมีทั้งความกดดันและความสามารถในการควบคุมเหนือมนุษย์ต่าง ๆ จึงทำให้บรรยากาศภายในเกิดความเครียดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงเป็นหน้าที่ของนักจิตวิทยาทางการทหารที่จะเข้าไปดูแลสุขภาพจิตของเหล่าทหารภายใน รวมถึงช่วยส่งเสริมทักษะที่จำเป็นต่อด้านการทหารได้อีกด้วย
แน่นอนว่า ในอนาคต นักจิตวิทยาจะเข้ามามีบทบาทในหลาย ๆ วงการและหลาย ๆ อุตสาหกรรมมากขึ้น เนื่องจากการเข้าใจมนุษย์ถือเป็นหัวใจสำคัญที่ช่วยทำเติมเต็มการทำงานให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น และมีความเข้าใจมนุษย์มากขึ้น รวมถึงในประเทศไทยของเราด้วยเอง ที่มีการขยับขยายความสำคัญของนักจิตวิทยาและวงการจิตเวชให้เป็นที่รู้จักและตระหนักถึงความสำคัญในวงกว้างมากขึ้นอีกด้วย
อ่านบทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับนักจิตวิทยา
นักจิตวิทยาคลินิก คือใครกันแน่? มาหาคำตอบกัน
นักจิตวิทยาการปรึกษา Counselor คือใคร ที่ไปปรึกษาด้วยคือนักจิตคนนี้หรือเปล่า?
I/O Psychologist นักจิตวิทยาองค์กร คืออะไร? ในไทยมีไหม?
นักจิตวิทยา Psychologist และ จิตแพทย์ Psychiatrist คือใคร? เหมือนหรือต่างกันไหม?