เมื่ออากาศหนาว (ที่ไม่แน่ใจว่าเรียกว่าหนาวได้ไหม) เวียนกลับมาอีกครั้ง นอกเหนือจากบรรยากาศเย็น ๆ ที่ชวนให้เราหยิบเสื้อกันหนาวออกมาจากตู้ ปัดฝุ่นมันสักนิดและหยิบมาใส่อีกครั้ง ถึงแม้ว่าจะได้ใส่มันไม่นานนัก แต่ฤดูหนาวหรืออากาศหนาวเพียงไม่กี่วันต่อปี ก็ได้ฝากลมหนาวให้เราได้จดจำและมีความสุขในช่วงระยะเวลาหนึ่ง แต่ในขณะเดียวกัน สำหรับบางคน ฤดูหนาวแบบนี้ได้นำบางสิ่งบางอย่างที่ทำให้เรารู้สึกไม่ดีมาด้วย นั่นก็คือ ภาวะซึมเศร้าตามฤดูกาล หรือ SAD (Seasonal Affective Disorder)
ภาวะซึมเศร้าตามฤดูกาล คืออะไร?
ภาวะซึมเศร้าตามฤดูกาล หรือ SAD (Seasonal Affective Disorder) เป็นภาวะเศร้าที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล มักเกิดขึ้นในช่วงเปลี่ยนผ่านของฤดู โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่เริ่มเข้าหน้าหนาว และมีอากาศเย็นลง ในต่างประเทศจะรวมถึงช่วงฤดูใบไม้ผลิอีกด้วย ฤดูอื่นก็สามารถพบภาวะซึมเศร้าตามฤดูกาลนี้ได้ แต่พบได้ไม่บ่อยนัก อย่างภาวะซึมเศร้าในช่วงฤดูร้อนก็มีเช่นกัน
สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าตามฤดูกาลยังคงเป็นที่ถกเถียงในหมู่นักวิจัย แต่จากการศึกษาพบว่า ในช่วงฤดูหนาว สมองของผู้ป่วยมีการผลิตฮอร์โมนเซโรโทนิน (Serotonin) ลดน้อยลง ซึ่งฮอร์โมนตัวนี้มีส่วนช่วยในการควบคุมอารมณ์ ส่งผลให้เรามีปัญหากับอารมณ์นั่นเอง ทั้งนี้ทั้งนั้น การออกไปรับแสงแดดจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการผลิตฮอร์โมนเซโรโทนินเพิ่มมากขึ้นได้ นอกจากนี้ ยังมีการพูดถึงการขาดวิตามิน D อีกด้วย ซึ่งอาจเกิดจากการขาดสารอาหาร หรือเกิดจากการที่รับแสงแดดจากธรรมชาติไม่พอ ซึ่งสัมพันธ์กับฤดูหนาวในต่างประเทศที่มีเมฆครึ้ม ทำให้การรับแสงแดดในช่วงฤดูหนาวเป็นเรื่องที่ยากเอาการเลยทีเดียว
อีกหนึ่งสาเหตุที่มีการพูดถึงคือภาวะฮอร์โมนเมลาโทนิน (Melatonin) ไม่สมดุล ฮอร์โมนตัวนี้มีส่วนสำคัญในการนอนหลับ เพราะมันช่วยในการรักษาวงจรการนอน (Sleep Cycle) ของเราให้เป็นปกติ การที่เรานอนเป็นเวลาและตื่นเป็นเวลาเนี่ยเป็นเพราะฮอร์โมนตัวนี้เลย แต่ในฤดูเปลี่ยนจะส่งผลให้ฮอร์โมนเมลาโทนินไม่สมดุล ทำให้ในช่วงฤดูหนาวเราจะรู้สึกอยากนอนมากกว่าปกตินั่นเอง
5 อาการ ภาวะซึมเศร้าตามฤดูกาล
- รู้สึกแย่ ว่างเปล่า กังวล เครียด เป็นระยะเวลากว่า 2 สัปดาห์
- รู้สึกไม่อยากทำอะไรเลย มีความคิดอยากทำร้ายตัวเอง
- นอนหลับมากเกินไป
- กินอาหารมากเกินไป โดยเฉพาะอาหารจำพวกแป้ง
- มีภาวะจำศีล ตัดขาดจากสังคม
วิธีรักษาภาวะซึมเศร้าตามฤดูกาล
1. ดูแลร่างกายให้แข็งแรง
หากอาการที่เกิดขึ้นยังไม่ได้รุนแรงมากนัก และคุณรู้ตัวทัน ลองให้ความสนใจไปที่การดูแลตัวเองเพิ่มมากขึ้น เช่น ทานอาหารที่มีวิตามิน D พาตัวเองออกไปรับแสงอาทิตย์ ออกกำลังกายเพิ่มความกระปรี้กระเปร่า ออกไปพบปะผู้คน พูดคุยกับเพื่อน
2. พบบุคลากรทางการแพทย์เพื่อรับคำปรึกษา
หากเริ่มรู้สึกว่าความเศร้าที่เกิดขึ้นเริ่มหนักเกินจะรับไหวแล้ว เราแนะนำให้คุณไปพบนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยอาการที่เกิดขึ้น บ้างอาจจำเป็นต้องได้รับการบำบัดในช่วงระยะเวลาหนึ่ง บ้างอาจจำเป็นต้องทานยาต้านเศร้าเพื่อปรับสารสื่อประสาทในสมอง ทั้งนี้ แต่ละเคสจะแตกต่างกันออกไปตามแต่ความรุนแรงที่เกิดขึ้น
3. บำบัดด้วยการรับแสง (Light Therapy)
ในต่างประเทศที่มีแสงสว่างในช่วงฤดูหนาวน้อย มีการบำบัดด้วยการรับแสง (Light Therapy) ซึ่งคือการบำบัดที่ทำโดยการให้เราไปอยู่ในกล่องที่มีแสงที่จำเป็นต่อการรักษาภาวะซึมเศร้าตามฤดูกาล เป็นระยะเวลากว่า 30 นาที เพื่อให้ร่างกายได้รับแสงแดดที่จำเป็นต่อการสร้างฮอร์โมนเซโรโทนินและเมลาโทนินนั่นเอง
ถึงแม้ว่าภาวะซึมเศร้าตามฤดูกาลอาจฟังดูไม่ได้ร้ายแรงมากนัก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น หากมีอาการของภาวะซึมเศร้าตามฤดูกาลเกิดขึ้น ก็ไม่ควรเพิกเฉยต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ดูแลตัวเองให้ดีนะ อากาศหนาวอยู่กับเราไม่นานหรอก
อ้างอิง
Seasonal Affective Disorder. (n.d.). National Institute of Mental Health (NIMH).