เคยสงสัยไหมว่า ทำไมเรามักทำอะไรเดิม ๆ ในทุก ๆ วัน เช่น ตื่นนอนในเวลาเดิม เข้านอนในเวลาเดิม ทำกิจกรรมในช่วงเวลาเดิมซ้ำ ๆ ในทุก ๆ วันได้อย่างเป็นประจำ แน่นอนว่าส่วนหนึ่งการทำอะไรเดิม ๆ เกิดจากพฤติกรรมการเลือกทำซ้ำ ๆ ของเรา แต่ยังมีอีกปัจจัยหนึ่งที่ร่างกายเราทำซ้ำ ๆ อยู่เป็นประจำโดยไม่รู้ตัว โดยร่างกายของเรามีนาฬิกาประจำตัว นั่นก็คือ นาฬิกาชีวภาพ หรือ Circadian Rhythm นั่นเอง และเราจะไปทำความรู้จักนาฬิกาชีวภาพให้มากขึ้นกัน
นาฬิกาชีวภาพ หรือ Circadian Rhythm คืออะไร
นาฬิกาชีวภาพ นาฬิกาชีวิต หรือบางทีก็เรียกว่า นาฬิการ่างกาย เป็นที่รู้จักในภาษาอังกฤษว่า Circadian Rhythm เป็นระบบการทำงานของร่างกายเราในตลอดช่วง 1 วันหรือทั้ง 24 ชั่วโมง โดยร่างกายของเราจะตื่นนอนและเข้านอนตามนาฬิกาชีวภาพ เมื่อได้รับการกระตุ้นจาก “แสงแดด” ในแต่ละวัน ถ้ามีแดดเพิ่มมากขึ้น เราก็จะรู้สึกตื่นตัวพร้อมใช้ชีวิต ในขณะเดียวกัน หากแสงค่อย ๆ ลดน้อยลง เราจะเริ่มรู้สึกง่วงและเข้านอนในท้ายที่สุด
ซึ่งนาฬิกาชีวภาพนี้เป็นส่วนหนึ่งที่เราทุกคนได้รับมาจากวิวัฒนาการของ Homo Sapiens หรือสายพันธุ์มนุษย์ในปัจจุบัน เนื่องจากนาฬิกาชีวภาพช่วยทำให้ร่างกายของเรามีการพัฒนาเพื่อรับแสงและอุณหภูมิในการเอาชีวิตรอด โดยในช่วงที่มีแสงแดดคือช่วงกลางวันที่มนุษย์สามารถมองเห็นสิ่งรอบตัวและทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างสะดวก ซึ่งรวมถึงช่วงที่มีแสงแดดคือช่วงเวลาหาอาหารของมนุษย์เช่นกัน แต่ในช่วงที่แสงลับตาลงไป ช่วงกลางคืนจะกลายเป็นช่วงที่มนุษย์จะต้องเข้าถ้ำเพื่อเอาชีวิตรอดจากสัตว์ร้ายและเพื่อรักษาอุณหภูมิร่างกายให้อบอุ่นนั่นเอง จึงทำให้ในปัจจุบัน ช่วงกลางวันกลายเป็นช่วงเวลาที่เราออกมาใช้ชีวิต และช่วงกลางคืนเป็นช่วงที่เราพักผ่อน แต่ก็มีกรรมพันธุ์ของคนบางกลุ่มเช่นกันที่มักตื่นตัวในช่วงเวลากลางคืนมากกว่า และรู้สึกง่วงในช่วงกลางวันมากกว่า ซึ่งเกิดจากความต้องการและการตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมภายนอกที่แตกต่างกันของร่างกายนั่นเอง
อย่างไรก็ดี การนอนถือเป็นกิจกรรมที่สำคัญต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตของพวกเราทุกคนอย่างมาก ถ้าเราไม่ได้พักผ่อนอย่างเหมาะสม นอนไม่พอ มีแสงหรือเสียงรบกวน หรืออดหลับอดนอน จะทำให้ร่างกายของเราไม่ได้รับการพักผ่อนอย่างที่ควรจะเป็น ซึ่งรวมถึงสมองของเราด้วย เมื่อสมองเราไม่ได้พัก ก็จะพลอยทำให้การคิด วิเคราะห์ รวมถึงภาวะอารมณ์ของเราไม่คงที่ ทำให้คิดช้ากว่าปกติ ตัดสินใจได้ไม่ดีนัก ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้ และส่งผลเสียต่อสุขภาพจิต ซึ่งถ้าหากปล่อยทิ้งไว้เป็นเวลานนานโดยไม่แก้ไขก็อาจส่งผลให้ตัวเราทรุดโทรมจากอาการป่วยทางกายรวมถึงอาการป่วยทางจิตได้อีกด้วย
ความสำคัญของ นาฬิกาชีวภาพ หรือ Circadian Rhythm
- ช่วยให้เราตื่นและเข้านอนเป็นเวลา
- ทำให้เราจัดการชีวิตประจำวันของเราได้
- ทำให้ร่างกายของเราทำงานเป็นปกติ
- ช่วยให้ร่างกายตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างเหมาะสม
- ทำให้ร่างกายของเราได้พักผ่อนอย่างเหมาะสม
และเมือสุขภาพกายของเราดี สุขภาพจิตของเราก็จะดีตามไปด้วย
ทำ 3 ข้อนี้เพื่อให้ นาฬิกาชีวภาพ หรือ Circadian Rhythm ของเรากลับมาสมดุล
- ทำกิจวัตรประจำวันให้มีความสม่ำเสมอ
ตื่นนอนให้เป็นเวลา กินข้าวให้เป็นเวลา และนอนหลับให้เป็นเวลา ถึงแม้ว่าการทำตามกิจวัตรประจำวันจะเป็นเรื่องที่น่าเบื่ออยู่สักหน่อย แต่ความน่าเบื่อนี่แหละที่จะทำให้เรารักษาสุขภาพกายและสุขภาพจิตในระยะยาวได้ ถ้าเราทำกิจวัตรประจำวันเหล่านี้ให้เป็นเวลา ร่างกายจะจดจำ และทำให้เราใช้ชีวิตได้อย่างมีแบบแผนมากขึ้น จัดการชีวิตตัวเองในส่วนอื่น ๆ ของวันได้ง่ายขึ้น
- ออกกำลังกายอย่างเป็นประจำ
เคยสังเกตไหมว่า เวลาออกกำลังกายทีไร จะรู้สึกนอนหลับได้ง่ายและนอนหลับสบายมากกว่าวันที่ไม่ได้ออกกำลังกาย ความเหนื่อยล้าของร่างกายที่เกิดจากการออกกำลังกายจะช่วยให้เราเข้านอนได้ไว ทำให้เราไม่นอนดึก อีกทั้งยังทำให้เราหลับลึกอีกด้วย ซึ่งการนอนหลับพักผ่อนที่ดีนี้จะช่วยให้ร่างกายของเราได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ รวมถึงส่งผลดีต่อภาวะสุขภาพจิตของเราได้อีกด้วย
- ออกไปรับแสงแดดจากธรรมชาติบ้าง
เพราะร่างกายของเราตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมโดยตรง ซึ่งแสงแดดก็เป็นสิ่งเร้าภายนอกที่กระตุ้นร่างกายเราให้ตื่นตัวได้โดยตรง การรับแสงแดดจากธรรมชาติอย่างเป็นประจำจะช่วยให้เรารู้สึกตื่นตัวในช่วงเช้า แต่ในขณะเดียวกัน ช่วงเย็นหรือช่วงกลางคืนควรงดรับแสง ไม่ว่าจะเป็นแสงไฟหรือแสงจากอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ ก็ตาม เพราะแสงจากอุปกรณ์เหล่านี้จะทำให้เราตื่นตัวและนอนไม่หลับ ส่งผลให้การนอนหลับของเราไม่มีประสิทธิภาพที่ดีเท่าที่ควร
ถึงแม้ว่า นาฬิกาชีวภาพ หรือ Circadian Rhythm จะไม่ได้ถูกพูดถึงในวงกว้างมากนัก แต่ความสำคัญของมันที่มีต่อร่างกายและสุขภาพจิตของเราถือว่าไม่น้อยเลยทีเดียว อีกทั้งยังเป็นส่วนสำคัญในการทำให้กลไกการตื่นและนอนหลับของเราราบรื่นอีกด้วย ซึ่งการนอนหลับนี้เอง ถือเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เราทุกคนสามารถดำเนินชีวิตในทุก ๆ วันได้เป็นอย่างดี ฉะนั้น อย่าลืมดูแลสุขภาพกายและสุขภาพจิตให้ดีนะ เพราะถ้าสุขภาพกายและสุขภาพจิตดี นาฬิกาชีวภาพของเราก็จะดีตามไปด้วย
อ้างอิง