“บิดาแห่งวงการจิตวิทยาคือ Wilhelm Wundt” แล้ว Wilhelm Wundt คือใคร?

หากลองให้คุณลองพูดชื่อนักจิตวิทยาชื่อดังมาสักคน หรือหากถามถึงว่าใครเป็นบิดาของวงการจิตวิทยา หลาย ๆ คนน่าจะนึกถึงชื่อหนึ่งที่คุ้นหูกันเป็นอย่างดีมาอย่างยาวนาน นั่นก็คือ “ซิกมุนด์ ฟรอยด์” แต่รู้หรือไม่ว่า แท้จริงแล้ว ฟรอยด์ไม่ใช่นักจิตวิทยาแต่เป็นจิตแพทย์ และฟรอยด์ก็ไม่ใช่บิดาแห่งวงการจิตวิทยาอีกด้วย! หากแต่เป็น “Wilhelm Wundt” นักจิตวิทยาผู้ทำการทดลองทางด้านจิตวิทยาและทำให้จิตวิทยาเป็นเรื่องที่จับต้องได้มากขึ้นผ่านการทดลองนั่นเอง ซึ่งวันนี้เราจะไปทำความรู้จัก Wilhelm Wund ให้มากขึ้นกัน

Wilhelm Wundt คือใคร และประวัติโดยย่อ

Wilhelm Wundt มีชื่อเต็มว่า Wilhelm Maximilian Wundt เกิดที่ประเทศเยอรมนี ในช่วงปี ค.ศ. 1832 โดย Wundt เป็นลูกชายคนที่สี่ของครอบครัวชนชั้นกลางที่เต็มไปด้วยปัญญาชน สมาชิกครอบครัวของเขามีทั้งนักวิทยาศาสตร์ บาทหลวง เจ้าหน้าที่รัฐ แพทย์ และอาจารย์ 

Wundt จบการศึกษาทางด้านการแพทย์มาจาก University of Heidelberg และที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้นี่เอง เขาได้เริ่มทำงานเป็นผู้ช่วยให้กับนักสรีรวิทยาในช่วงปี ค.ศ. 1851-1856 จนในปี ค.ศ. 1863 Wundt ได้ทำการเปิดสอนวิชาทางด้านจิตวิทยา แต่ในขณะนั้นยังไม่มีแขนงวิชาจิตวิทยาและอาชีพนักจิตวิทยายังไม่ได้เกิดขึ้น ในปีถัดมา Wundt จึงได้รับเลื่อนขั้นให้เป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านสรีรวิทยาแทนที่สาขาจิตวิทยาไปก่อน

จนในปี ค.ศ. 1874 Wundt ได้ตีพิมพ์หนังสือว่าด้วยหลักการทางสรีรจิตวิทยา (Principles of Physiological Psychology) ที่พาผู้อ่านไปสำรวจประสบการณ์ของมนุษย์ การตระหนักรู้ ความรู้สึก การสัมผัส อารมณ์ และความรู้สึกของมนุษย์ในแง่มุมที่มีความเป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้น เป็นรูปธรรมมากขึ้น ต่อมาในปี ค.ศ. 1875 Wundt ได้ตำแหน่งงานที่ University of Leipzig จนสี่ปีถัดมาในปี ค.ศ. 1879 Wundt ได้ทำการทดลองทางด้านจิตวิทยาภายใต้ห้องแล็บสำหรับการทำการทดลองทางจิตวิทยาเป็นครั้งแรกของโลก ซึ่งการศึกษาภายในห้องแล็บนี้เองที่ช่วยทำให้การศึกษาเกี่ยวกับจิตวิทยากลายเป็นวิชาที่ได้ความรู้เป็นรูปธรรม พิสูจน์ได้ จับต้องได้ และวัดผลทางวิทยาศาสตร์ได้เพิ่มมากขึ้น จนจิตวิทยากลายเป็นแขนงหนึ่งทางวิทยาศาสตร์นั่นเอง

อิทธิพลของ Wilhelm Wundt ต่อวงการจิตวิทยา

ก่อนที่ Wundt  จะจากโลกนี้ไปด้วยวัย 88 ปี เขาได้ฝากผลงานการตีพิมพ์หนังสือกว่า 20 เล่ม รวมถึงได้ส่งต่อความรู้ให้แก่ลูกศิษย์ในบทบาทของอาจารย์มหาวิทยาลัย ซึ่งลูกศิษย์หลาย ๆ คนของเขาต่างก็เป็นนักจิตวิทยาที่ได้นำความรู้จากการเรียนไปพัฒนาวงการจิตวิทยาต่อไปอีกด้วย

  • จิตวิทยาการทดลอง (Experimental Psychology)

ก่อนที่วิชาจิตวิทยาจะมีการทดลองให้เห็นเป็นรูปธรรมอย่างในทุกวันนี้ ในสมัยก่อนวิชาจิตวิทยานั้นแตกแขนงมาจากวิชาปรัชญา ซึ่งความรู้ทางจิตวิทยาในสมัยก่อนนั้นมาจากการขบคิดหรือการทำ Introspection ที่เป็นการขบคิด มองย้อนไปในตัวเอง และให้การทบทวนสิ่งต่าง ๆ มากกว่าที่จะให้ความสำคัญกับสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ผนวกกับวิชาสรีรวิทยาที่ว่าด้วยการศึกษาร่างกายมนุษย์ เพื่อให้จิตวิทยามีหลักฐานที่เป็นรูปธรรมและเห็นได้ชัดมากขึ้น Wundt จึงได้สร้างห้องทดลองเพื่อใช้ในการทดลอง สำรวจ และสังเกตพฤติกรรมมนุษย์ เพื่อให้ได้องค์ความรู้ทางจิตวิทยาที่จับต้องได้มากขึ้นนั่นเอง

  • Structuralism

แนวคิด Structuralism หรือ โครงสร้างนิยม เป็นแนวคิดทางด้านจิตวิทยารูปแบบหนึ่งในการแบ่งความคิดของเราออกไปให้ได้มากที่สุด เพื่อให้มีความละเอียดมากที่สุด โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เราได้ทำความเข้าใจตัวเองผ่านความคิดก้อนเล็ก ๆ เหล่านั้น จากนั้นนำมันมามองเป็นภาพรวมใหญ่อีกทีหนึ่ง เพื่อให้เราเข้าใจภาพรวมของความคิดเราอีกที ซึ่ง Wundt เป็นคนสอนแนวคิดนี้ให้กับลูกศิษย์นักจิตวิทยาอีกหลาย ๆ คนของเขา แต่ Wundt ไม่ได้ตั้งชื่อให้กับแนวคิดนี้ หากแต่เป็นลูกศิษย์นักจิตวิทยาชาวอังกฤษของเขาอย่าง Edward B. Titchener ต่างหากที่ได้นำแนวคิดของเขามาต่อยอด จนได้ชื่อว่าเป็นแนวคิด  Structuralism หรือ โครงสร้างนิยม

  • Introspection

การทำ Introspection คือการมองย้อนไปในตัวของเราเองเพื่อขบคิดและทบทวนสิ่งต่าง ๆ เป็นวิธีการสำรวจตัวเองรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมีการใช้มาอย่างยาวนาน และเป็นวิธีที่ Wundt มองว่าช่วยทำให้เราเข้าใจจิตวิทยาเพิ่มมากขึ้น อาทิ เรื่องของอารมณ์ ความรู้สึก ความคิด และพฤติกรรม Wundt จึงมีการทำการทดลองร่วมกับผู้เข้าร่วมการทดลองที่มีการฝึกฝนการทำ Introspection แต่การทดลองนี้ก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จอย่างที่ควรจะเป็น เนื่องจากอารมณ์ ความรู้สึก ความคิด และพฤติกรรมที่เกิดขึ้นในการทดลองนั้นเป็นสิ่งที่มีความเฉพาะตัวมากกว่าที่จะเป็นตัวแทนของกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่นั่นเอง

  • อิทธิพลทางด้านวัฒนธรรม

หนึ่งในผลงานที่โดดเด่นที่สุดของ Wundt คือหนังสือ Folk Psychology ที่ว่าด้วยอิทธิพลทางด้านวัฒนธรรมและสังคมในแต่ละวัฒนธรรมที่มีความแตกต่างกันนั้นสามารถส่งผลต่อตัวตนและความเป็นปัจเจกของมนุษย์แต่ละคนได้ จึงทำให้การศึกษาจิตวิทยานั้นต้องมีการศึกษาวัฒนธรรมและสังคมร่วมด้วย เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องตามบริบทของแต่ละวัฒนธรรมและสังคมนั่นเอง

  • บทบาทการเป็นอาจารย์ และการเขียนหนังสือ

Wundt มีลูกศิษย์ลูกหาอยู่มากมาย ทั้ง Edward B. Titchener นักจิตวิทยาชาวอังฤษผู้ที่ได้ไปสร้างห้องทดลองทางจิตวิทยาแห่งแรกของสหรัฐอเมริกาที่ Cornell University หรือ James McKeen Cattell อาจารย์ด้านจิตวิทยาคนแรกของสหรัฐอเมริกา ซึ่งแน่นอนว่าพวกเขาต่างเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้วงการจิตวิทยาเฟื่องฟูในสหรัฐอเมริกาเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ยังมี Hugo Munsterberg นักจิตวิทยาชาวเยอรมัน-อเมริกันบิดาแห่งจิตวิทยาอุตสาหการ และผู้เบิกทางสู่แขนงวิชาจิตวิทยาประยุกต์ G. Stanley Hall นักจิตวิทยาเชื้อสายอเมริกันคนแรก ๆ ของสหรัฐอเมริกาและบิดาแห่งจิตวิทยาเด็ก และลูกศิษย์อีกมากมายหลายคนที่ส่งผลต่อวงการจิตวิทยามาจนถึงทุกวันนี้ และการตีพิมพ์หนังสือกว่าอีก 20 เล่มอันเป็นความรู้ทางด้านจิตวิทยาเล่มแรก ๆ ที่ส่งผลต่อวงการจิตวิทยามาถึงทุกวันนี้เช่นเดียวกัน

อ้างอิง

MSEd, K. C. (2023, March 16). Wilhelm Wundt: Pioneer of Psychology. Verywell Mind.

Wilhelm Wundt – New World Encyclopedia. (n.d.).