อกหัก สูญเสียคนรัก คนในครอบครัวจากไป ไม่ว่าจะเราจะเผชิญหน้าสถานการณ์การสูญเสียแบบไหนมาก็ตาม สิ่งที่เราทุกคนหนีไม่พ้นคือความรู้สึกโศกเศร้า ถึงแม้ว่าสุดท้ายแล้วเราจะรู้ว่าปลายทางของความโศกเศร้านี้จะมีแสงสว่างที่จะพาเราไปในจุดที่ยอมรับทุกสิ่งทุกอย่างโดยไม่รู้สึกเจ็บปวดทรมานใจอีกต่อไป แต่กว่าเราจะฝ่าฟันความโศกเศร้าทั้งหลายเพื่อไปถึงตรงนั้นได้อย่างไร้บาดแผลนั้นไม่ใช่เรื่องที่ง่ายดายเท่าไรนัก
การทำใจกับความสูญเสียเป็นเรื่องที่ใช้ทั้งแรงกาย แรงใจ และเป็นเรื่องที่ใช้เวลาอีกด้วย การฟื้นฟูเยียวยาใจของแต่ละคนแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับความสามารถในการฟื้นตัวของแต่ละคน เพราะเราแต่ละคนต่างประสบพบเจอกับเรื่องราวความสูญเสียมาในระดับที่แตกต่างกัน แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่น่าแตกต่างกันเท่าไรนัก นั่นก็คือ 5 ระยะของความสูญเสีย หรือ 5 Stages of Grief ซึ่งเป็นระยะของการปรับตัวหลังจากเผชิญหน้ากับความสูญเสีย วันนี้เราจะไปทำความรู้จักกับ 5 ระยะของความสูญเสีย หรือ 5 Stages of Grief ให้มากขึ้นกัน
5 ระยะของความสูญเสีย หรือ 5 Stages of Grief คืออะไร?
5 ระยะของความสูญเสีย (5 Stages of Grief) เป็นแนวคิดของ Elisabeth Kübler-Ross จิตแพทย์ชาวสวิส-อเมริกัน ในตอนแรกเธอเรียกมันว่า 5 Stages of Death ต่อมาแนวคิดนี้ได้ถูกนำไปปรับใช้กับการสูญเสียอื่น ๆ ที่ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงเรื่องของความตาย จึงเรียกว่าเป็น 5 Stages of Grief อย่างที่เราเรียกกันในทุกวันนี้แทน
5 ระยะของความสูญเสีย หรือ 5 Stages of Grief มีอะไรบ้าง?
1️. Denial : การปฏิเสธความจริง
ช่วงแรกเมื่อการสูญเสียเพิ่งเกิดขึ้นอย่างไม่ทันตั้งตัว เรามักจะไม่ยอมรับความจริงว่าเราได้สูญเสียบางอย่างไปแล้ว เช่น เรายังคงรู้สึกสับสนหลังจากถูกบอกเลิก คิดว่ามันไม่ใช่เรื่องจริง นี่ต้องเป็นเรื่องล้อเล่นกันแน่ ๆ หรือเกิดความรู้ด้านชาอยู่ภายในใจและไม่สามารถจัดการกับทุกความรู้สึกที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ เหมือนกับทั้งร่างกายของเราอยู่ในโหมดโดนฟรีซ ไม่สามารถทำอะไรได้เลย
2. Anger : ความโกรธ
เมื่อความสูญเสียประจันหน้ากับเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราจะเริ่มรู้สึกถึงความเป็นจริงที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล เราได้สูญเสียคนบางคนและภาพฝันที่เคยวาดไว้ไปแล้ว เนื่องด้วยมันเป็นความรู้สึกที่เกิดจากแผลสด ความรู้สึกไม่สบายใจที่เกิดจากความเปลี่ยนแปลงนี้จึงมาในรูปของความโกรธแทน ในกรณีคนที่เลิกกับแฟน บางคนอาจจะรู้สึกโกรธแฟนหรือโกรธตัวเองที่ทำให้ความสัมพันธ์นี้จบลง บางคนอาจจะรู้สึกโกรธมากเสียจนรู้สึกควบคุมตัวเองไม่ได้ บางคนอาจรู้สึกโกรธจนอับอาย และอาจมีความคิดในการแก้แค้นเกิดขึ้น
3️. Bargaining : การต่อรอง
เมื่อเราเผชิญหน้ากับความสูญเสียได้แล้ว ถึงแม้ว่าจะดูคล้ายว่าเรายอมรับความจริงได้แล้ว แต่จริง ๆ แล้ว เรายังรอบมันได้ไม่เต็มร้อย ในหัวของเราจึงเริ่มมี “การต่อรอง” ขึ้นมา เป็นความคิดที่ว่าเรายังมีทางเลือกในการแก้ไขให้ไม่เกิดความสูญเสียนี้อยู่ คิดว่าเราสามารถแก้ไขอดีตได้ อย่างเช่น เราอาจหมกมุ่นอยู่กับความคิดที่ว่า ถ้าเราทำแบบนี้ ความสูญเสียจะไม่เกิดขึ้น อาจมีการอ้อนวอนต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ใครบางคนกลับมาอยู่กับเรา ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ในระยะนี้เราจะมีความคิดที่อาจไม่ตรงกับความเป็นจริงเพื่อทำให้ทุกอย่างกลับมาเป็นเหมือนเดิม
4️. Depression : ความเศร้าโศก
พายุแห่งอารมณ์ทั้งหลายเริ่มสงบลง เราไม่อาจเปลี่ยนแปลงความเป็นจริงเกี่ยวกับความสูญเสียนี้ได้ นี่จึงเป็นเวลาที่ความเศร้าเริ่มมาเกาะกินหัวใจ นี่เป็นระยะที่เรารู้สึกถึงความสูญเสียมากที่สุด และมันเริ่มทำให้เรารู้สึกเศร้าอยู่แทบจะตลอดเวลา ปลีกตัวจากสังคม และมองหาแหล่งซัพพอร์ตหรือที่พึ่งทางใจที่จะช่วยให้เราผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ไปได้ แต่ถ้าบางคนไม่มีแหล่งซัพพอร์ตอาจส่งผลให้เกิดการเก็บกดและการเก็บตัว ซึ่งอาจทำให้มีปัญหาทางสุขภาพใจต่อมาได้ในอนาคต จำเป็นต้องพึงระวังไว้
5️. Acceptance : การยอมรับความจริง
เมื่อเราฝ่าฟันระยะของความสูญเสียอื่น ๆ มาได้แล้ว ระยะนี้เป็นระยะที่เราจะได้ปลดเปลื้องตัวเองออกจากความเศร้าทั้งหลาย และเป็นการก้าวข้ามความโศกเศร้าเสียใจ ยอมรับความสูญเสียและอยู่กับมันได้อย่างเป็นปกติสุข ทำให้เกิดทั้งความภาคภูมิใจและความเห็นอกเห็นใจต่อตัวเอง แต่ความรู้สึกที่ได้สูญเสียคนบางคนหรือบางสิ่งบางอย่างจะไม่หายไปไหน มันจะในใจและประสบการณ์ของเราไปตลอด เพียงแต่เปลี่ยนรูปร่างจากความโศกเศร้าที่ได้นึกถึงไปเป็นสิ่งที่นึกถึงทีไรก็อุ่นใจทุกที
โดยใน 1-4 ระยะแรกสามารถเกิดขึ้นสลับกันได้ หรือในบางคนอาจเกิดไม่ครบทั้ง 5 ระยะก็ได้ แล้วแต่คน แล้วแต่กรณีกันไป เพราะคนเราต่างมีประสบการณ์และวิธีรับมือกับความสูญเสียแตกต่างกันไปนั่นเอง
การสูญเสียเป็นเรื่องที่ต้องเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ถึงแม้ว่าเราจะได้เตรียมตัวรับมือกับมันมาอย่างดีแล้ว แต่เมื่อถึงเวลาที่เราต้องเผชิญหน้ากับมันจริง ๆ ไม่แปลกเลยถ้าเราจะรับมือกับมันไม่ไหว และรู้สึกว่าจิตใจอ่อนแอกว่าที่คิดเอาไว้ ซึ่งไม่เป็นไรเลย เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องปกติธรรมดาของมนุษย์ รู้สึกให้เต็มที่ เสียใจให้เต็มที่ ก้าวข้ามระยะความสูญเสียทั้งหมดนี้ไปให้ได้ และเชื่อมั่นว่าสักวันหนึ่งเราจะต้องผ่านมันไปให้ได้ เราไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว เรายังมีคนรอบข้างที่คอยให้การช่วยเหลือ และมีกาลเวลาที่คอยช่วยเราอยู่ห่าง ๆ อีกด้วย
อ้างอิง
Casabianca, S. S. (2021, February 11). Mourning and the 5 Stages of Grief. Psych Central.
Understanding the five stages of grief. (2023, September 26). Cruse Bereavement Support.