PERMA Model แนวทางสร้างความสุขตามแบบฉบับจิตวิทยาเชิงบวก Positive Psychology 

สำหรับคุณแล้ว ความสุขในการใช้ชีวิตมาจากไหน?

การค้นหาความสุขอย่างแท้จริงของตัวเองไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะนิยามความสุขของแต่ละคนมีความแตกต่างกัน วิธีการสร้างความสุขสำหรับทุกคนก็น่าจะมีความแตกต่างกันตามไปด้วย แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีหนทางเสียทีเดียว วันนี้เราจะชวนมาทำความรู้จักกับ PERMA Model โมเดลที่จะพาเราไปค้นหาความสุขในการใช้ชีวิต

PERMA Model คืออะไร?

PERMA Model เป็นแนวคิดที่มาจากจิตวิทยาแขนงหนึ่งที่เรียกว่า Positive Psychology หรือ จิตวิทยาเชิงบวก โดยมีจุดเริ่มต้นมาจาก Martin Seligman นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน โดยในปี ค.ศ. 1998 เขาได้เป็นประธานของสมาคมนักจิตวิทยาอเมริกัน (American Psychological Association : APA) และได้ริเริ่มก่อตั้งสาขาจิตวิทยาเชิงบวก หรือ Positive Psychology โดยเป็นจิตวิทยาแขนงที่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้ทุก ๆ คนได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขอย่างรอบด้าน ไม่ใช่เพียงในด้านสุขภาพจิตเท่านั้น แต่ยังรวมถึงในด้านร่างกาย สังคม ความสัมพันธ์ รวมไปถึงด้านอื่น ๆ อย่างเช่นการมีจุดมุ่งหมายในการใช้ชีวิตอีกด้วย

โดย PERMA Model มีที่มาจากองค์ประกอบ 5 อย่าง ดังนี้

5 องค์ประกอบของ PERMA Model 

Positive Emotion

หนทางสู่การมีอารมณ์เชิงบวกอย่างการมีความสุข ความสบายใจ ความปลอดภัย ความภาคภูมิใจ ความสงบสุข และอื่น ๆ อีกมากมายคือการทำให้ชีวิตของเรามีความสุข ซึ่งอารมณ์เชิงบวกสามารถเกิดขึ้นได้จากการมีทัศนคติที่ดีต่อประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับเราด้วย เช่น การทบทวนเหตุการณ์ในอดีตช่วยให้เราได้เรียนรู้จากความผิดพลาด ได้เรียนรู้การให้อภัย และมีความรู้สึกขอบคุณต่อสิ่งที่เกิดขึ้น หรือการมีสติอยู่กับปัจจุบันโดยมุ่งเน้นให้เราได้ใช้ชีวิตอย่างเต็มที่มากที่สุด หรือการมีความหวังและมีทัศนคติเชิบวกต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เป็นต้น 

Engagement

คือประสบการณ์การมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมบางอย่างที่ทำให้เราตั้งใจอยากทำขึ้นมาเอง ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ทำให้เราได้ใช้ทักษะของตัวเองและได้ขัดเกลาทักษะของตัวเองไปในตัว รวมถึงเป็นกิจกรรมที่มีไม่ได้ง่ายแต่ก็ไม่ได้ยากเกินความสามารถของเรา ซึ่งกิจกรรมใดก็ตามที่เป็นแบบนี้จะทำให้เราอยู่ในภาวะที่เรียกว่า Flow หรือ Flow State of Mind ซึ่งเป็นภาวะที่เราจดจ่อกับการทำกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งมาก ๆ จนมันนำพาเราให้ทำกิจกรรมนั้นสำเร็จตามเป้าหมายที่เราตั้งไว้ รวมถึงเราได้ใช้ทักษะตัวเองในการแก้ไขปัญหา และทำให้เรารู้สึกภูมิใจจนอยากทำอีกครั้งด้วย

Relationship

การมีความสัมพันธ์และปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่นสามารถนำมาซึ่งความสุขให้กับเราได้เช่นกัน หากเรามีคนรอบข้าง (Support System) ที่ดี มีผู้คนที่คอยสนับสนุนซัพพอร์ต ให้กำลังใจ เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กัน และทำให้เรารู้สึกเป็นส่วนหนึ่ง (Belongingness) ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นองค์ประกอบสนับสนุนที่ทำให้เรามีสังคมที่ดีและมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น แต่ในขณะที่ผู้อื่นดีกับเรา เราก็ควรพึงระลึกว่าเราต้องเป็นกัลยาณมิตรที่ดีให้กับผู้อื่นด้วยเช่นกัน

Meaning

การรู้สึกถึงความหมายของชีวิตของตัวเราเอง เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นเมื่อเรายึดโยงตัวเองเข้ากับสิ่งที่มีความหมายกับเรา ไม่ว่าจะเป็นความฝันของเราเอง คนรอบข้าง ครอบครัว สังคม ศาสนา อุดมการณ์ทางการเมือง หรือวิสัยทัศน์ในเรื่องต่าง ๆ ซึ่งความรู้สึกนี้จะผลักดันให้เรามองภาพที่กว้างขึ้นและมีความรู้สึกอยากเป็นส่วนหนึ่งของบางสิ่งบางอย่างที่ใหญ่กว่าตัวเรา เช่น เรามีความสนใจในเรื่องสังคมอย่างมาก เราจึงพัฒนาตัวเองและเป็นพลเมืองดีเพื่อให้สังคมดีขึ้น เป็นต้น   


Accomplishment

การที่เราตัดสินใจทำอะไรสักอย่าง เราทุกคนมีจุดมุ่งหมายอยู่ในใจอยู่แล้ว แน่นอนว่าเราต้องการให้สิ่งที่เราทำประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นหน้าที่การงาน การเรียน การสร้างครอบครัวที่มีความสุข การพัฒนาสังคมให้ดีขึ้น การเป็นคนดีของสังคม หรือไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดก็ตาม การที่เราได้พาตัวเองไปสู่จุดที่ประสบความสำเร็จนั้นคือการเดินทางรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมันช่วยเติมเต็มชีวิตของเราให้มีเรื่องราวที่มีความเฉพาะตัวนั่นเอง

โดย PERMA Model สามารถนำไปปรับใช้ได้กับทุกด้านของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการงาน การเรียน ความสัมพันธ์ สังคม หรือด้านใดก็ตาม โดยปรับใช้ได้จากการยึดถือองค์ประกอบทั้ง 5 อย่างในสิ่งที่ทำ เช่น ทำงานให้มีความสุขนับเป็นความรู้สึกเชิงบวก (Positive Emotion) ได้ทำงานที่ตัวเองอยากทำจริง ๆ คือการมีส่วนร่วม (Engagement) การมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับคนที่ทำงาน นับว่าเป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์ (Relationship) การได้ทำงานที่ชอบที่สามารถช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตคนได้ คือการส่งเสริมความหมายของชีวิต (Meaning) และการที่เราทำงานได้สำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้หรือตรงตามมาตรฐานงานคือการที่เราสร้างความสำเร็จ (Accomplishment) ให้กับตัวเอง นั่นเอง

อ้างอิง 

PERMATM Theory of Well-Being and PERMATM Workshops | Positive Psychology Center. (n.d.).