เคล็ดลับในการทำงานอย่างลื่นไหล ด้วย Flow State

ปัญหาใหญ่ของมนุษย์วัยทำงานที่ต้องใช้ความคิดในการแก้ปัญหาเรื่องงาน ทำยังไงให้ลูกค้าอนุมัติผ่าน หรือจะทำอย่างไรให้เพื่อนร่วมงานทำงานได้ง่าย ปัญหาต่างมีไว้ให้แก้ แต่บางทีมันก็คิดไม่ออกจริง ๆ เนื่องด้วยปัจจัยหลายอย่าง เช่น ปัญหามีข้อจำกัดเยอะ จำเป็นต้องยอมลดหรือยอมเพิ่มบางสิ่งบางอย่างจนเสียสมดุล เช่น ต้องเบิกเงินเพิ่มเกินความจำเป็น หรือบังเอิญคนในทีมป่วยจึงต้องเร่งคนที่เหลือให้ทำงานแทน หรือปัญหานี้อาจเกิดจากข้อจำกัดง่าย ๆ นั่นก็คือ “คุณแค่คิดไม่ออก” อาจไม่ได้อยู่ในภาวะที่เหมาะกับการทำงาน เช่น เหนื่อยล้า มีภาระเยอะเกินไป หรืออยู่สภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะกับการทำงาน 

ต่อให้คุณประสบกับปัญหาอะไรอยู่ก็ตาม วันนี้เราจะชวนมารู้จักกับ “Flow State” หรือ สภาวะลื่นไหล ที่จะช่วยทำให้คุณคิดงานออกโดยไม่มีอุปสรรคใดมาขวางกั้นได้

Flow State คืออะไร?

Flow State หรือเรียกกันในอีกชื่อว่า State of Flow แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า สภาวะไหลลื่น หรือ ภาวะการทำงานอย่างลื่นไหล ซึ่งเป็นภาวะหนึ่งที่มีความพอดีจนทำให้เรารู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับสิ่งที่ทำอยู่ ทำให้เรารู้สึกเพลิดเพลินมากเสียจนไม่รู้สึกถึงสิ่งรอบตัวที่เกิดขึ้น เป็นภาวะที่ทำให้เราเกิดสมาธิ ทำงานหรือทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้อย่างต่อเนื่อง ไม่มีข้อจำกัดทางด้านความคิด และไม่มีความสนใจถึงการมีอยู่ของเวลา ยกตัวอย่าง เช่น หลาย ๆ คนน่าจะเคยทำอะไรสักอย่างเพลินจนลืมสิ่งรอบข้างและลืมเวลาไปโดยสิ้นเชิง อาทิ การอ่านหนังสือนิยายจบทั้งเล่มภายในวันเดียว ดูซีรีส์จบทั้งซีซั่นภายในไม่กี่ชั่วโมง เดินเล่นได้ทั้งวัน หรือแม้แต่ทำงานได้ทั้งวันและไม่มีงานค้างเลยก็ได้เช่นกัน ซึ่งภาวะนี้ขึ้นชื่อว่าเป็น ภาวะที่ทำให้เรา Productive ได้มากที่สุด นั่นเอง แต่ Flow State ก็ไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกกิจกรรมที่เราทำ แต่กิจกรรมที่มักทำให้เราเกิด Flow State มักเป็นกิจกรรมที่เราชอบทำ มีแพสชั่น (Passion) ที่อยากจะทำ หรือเป็นกิจกรรมที่เราใส่ใจและตั้งใจอยากทำมากเป็นพิเศษ ว่าง่าย ๆ ก็คือต้องเป็นกิจกรรมที่เราอยากทำมาจากใจจริง ๆ ด้วย

ผู้คิดค้นและรวบรวมแนวคิด Flow State นี้คือ Mihaly Csikszentmihalyi นักจิตวิทยาชาวฮังกาเรียน-อเมริกัน Csikszentmihalyi เรียกมันว่า The Flow Model ซึ่งการจะทำให้เกิด Flow State ได้นั้นต้องสามารถสร้างภาวะที่มีความท้าทายในระดับที่พอดีและต้องสัมพันธ์กันกับความสามารถของตัวเราเองได้ด้วย ตามแผนภาพข้างล่างนี้ 

cr. https://siobhankukolic.com/flow-theory/

นอกจากนี้ Csikszentmihalyi ยังได้ระบุไว้ด้วยว่า ปัจจัย 3 อย่างดังต่อไปนี้ สามารถส่งผลต่อการเข้าสู่ Flow State ของแต่ละคนได้ ซึ่งทั้ง 3 อย่างนี้ประกอบไปด้วย

  • Goal : เป้าหมาย

เป้าหมายที่เราวางไว้จะช่วยทำให้เรากำหนดทิศทางของกิจกรรมที่เราจะทำได้ และทำให้เรารู้ว่าเราต้องทำอะไร อย่างไร และเพื่ออะไร 

  • Balance : ความสมดุล

กิจกรรมที่เราจะทำต้องมีความสมดุลระหว่างความท้าทายและความสามารถของเรา เพราะถ้ามันง่ายเกินไป ก็ไม่เกิดความท้าทายที่ทำให้เราอยากก้าวข้ามผ่านไปได้ ในขณะเดียวกัน ถ้ามันยากเกินไปก็ส่งผลให้เราไม่อยากทำมันขึ้นมาดื้อ ๆ ก็เป็นได้

  • Feedback : ผลตอบรับที่ได้

ฟีดแบ็กเป็นสิ่งที่จำเป็นอีกหนึ่งอย่าง เพราะมันจะช่วยทำให้เรารู้ได้ว่า ตอนนี้เราอยู่ในระดับไหน เราทำกิจกรรมเหล่านั้นได้ดีพอหรือไม่ มีอะไรที่เราควรทำเพิ่มไหม การรับฟังฟีดแบ็กจะช่วยผลักดันให้เราทำมากขึ้นกว่าเดิมได้นั่นเอง 

  

ประโยชน์ของ Flow State

  • ได้ฝึกการโฟกัสและฝึกสมาธิในการทำกิจกรรมอย่างเต็มที่
  • ปลดปล่อยความต้องการและแรงบันดาลใจอย่างแรงกล้าที่อยากทำกิจกรรมนั้น ๆ 
  • ได้ฝึกฝนความสามารถในการทำกิจกรรมนั้น ๆ เช่น ทำงานศิลปะ ออกแบบสิ่งต่าง ๆ 
  • เป็นการจัดการอารมณ์รูปแบบหนึ่ง เมื่อเราอยากทำอะไรมาก ๆ และเมื่อได้อยู่ในจุดที่เกิด Flow State ก็จะทำให้ได้จัดการอารมณ์ที่เป็นความอยากทำกิจกรรมนั้น ๆ ขึ้นมา
  • มีความสุขจากการได้ทำกิจกรรมที่อยากทำ

วิธีการสร้าง Flow State ของตัวเอง

1. เตรียมความพร้อมทางด้านร่างกายและจิตใจ

เพื่อให้ทำกิจกรรมที่เราต้องการได้อย่างลื่นไหลและไร้อุปสรรค การมีความพร้อมทางด้านร่างกายและด้านจิตใจเป็นสิ่งสำคัญ เพราะถ้าหากเรานอนไม่พอหรือรู้สึกขี้เกียจไม่อยากทำอะไรเลย สิ่งเหล่านี้ก็อาจเป็นปัจจัยที่มาขวางกั้นการสร้าง Flow State ของเราได้ง่าย ดังนั้น เราจึงควรมีการเตรียมความพร้อมทางด้านร่างกายและจิตใจมาก่อน เช่น นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ กินอาหารให้อิ่ม เคลียร์ปัญหาทางด้านจิตใจที่เกิดขึ้นอย่างเรียบร้อย เพียงเท่านี้ก็จะไม่มีอุปสรรคใด ๆ มาขวางกั้นเราแล้ว 

2. เลือกกิจกรรมที่จะทำ

บนโลกใบนี้มีกิจกรรมที่น่าทำอยู่มากมาย ไม่แปลกเลยถ้าเรารู้สึกอยากทำอะไรหลายอย่าง แต่ถ้าเราอยากเข้าสู่ Flow State ให้ได้ เราต้องเลือกทำกิจกรรมเป็นอย่าง ๆ ไป และต้องโฟกัสกับกิจกรรมเดียวเท่านั้น เราจึงควรมีการเลือกและตัดสินใจให้ดีก่อนว่าเราอยากใช้แรงกายแรงใจของเราลงทุนไปกับกิจกรรมแบบไหนให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับตัวเรา เช่น เราอาจเลือกที่จะทำงาน เพราะอยากเคลียร์งานให้เสร็จก่อน วันต่อมาเลือกที่จะดูซีรีส์ให้จบทีเดียว 5 ซีซันเพื่อเป็นการพักผ่อนจากการโหมทำงานหนัก เป็นต้น ให้เลือกทำสิ่งที่จำเป็นและสำคัญที่สุดก่อน แล้วจึงทำสิ่งที่สำคัญรองลงมาตามการจัดลำดับความสำคัญของเรา

3. จัดการสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม

นอกจากความพร้อมทางด้านร่างกายและจิตใจ รวมถึงกิจกรรมที่เราเลือกทำยังสำคัญต่อการเข้าสู่ Flow State แล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน นั่นก็คือ สภาพแวดล้อม โดยสภาพแวดล้อมในที่นี้หมายถึงสิ่งรอบ ๆ ตัวเราว่าเอื้ออำนวยให้เราทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ลื่นไหลไร้อุปสรรคได้หรือไม่ มีเสียงดังไหม ร้อนไปหรือหนาวไปไหม มีใครสามารถมารบกวนเราได้ไหม มีกลิ่นอาหารมายั่วยวนใจเราไหม เป็นต้น ถ้าหากเราอยู่ในพื้นที่ที่มีสิ่งล่อตาล่อใจเราจะเสียสมาธิได้ง่าย ทำให้ไม่สามารถไปถึง Flow State ได้อย่างที่หวังไว้นั่นเอง

4. ตั้งเป้าหมาย เพิ่มความท้าทาย

การไปถึงเป้าหมายเป็นสิ่งที่สำคัญก็จริง แต่คุณเคยสงสัยไหมว่า เราไปไกลกว่านี้ได้ไหม? หากคุณเข้าสู่ Flow State ได้ มันจะเป็นภาวะที่ช่วยให้เราไปได้ไกลกว่าลิมิตของตัวเองได้ นอกจากจะลองตั้งเป้าหมายในการทำกิจกรรมให้สำเร็จแล้ว ลองคิดถึงสิ่งที่เราอยากลองทำให้ได้เพิ่มลงไปด้วย เช่น เราอยากฝึกเล่นกีตาร์ให้ได้ครบทุกคอร์ดเป็นเป้าหมายหลัก เป้าหมายเสริมคือการลองเล่นเป็นเพลงให้ได้สัก 1 ท่อน หรือเล่นจนจบ 1 เพลงเลยก็ได้ เมื่อใจเรารู้สึกเพลินแล้ว ร่างกายจะพาเราไปถึงเป้าหมายเสริมได้แน่นอน ต้องลองดูสักตั้ง

5. ฝึกฝนการทำสมาธิ ฝึก Mindfulness

Flow State เป็นภาวะที่เกี่ยวข้องกับการจดจ่อโดยตรง ถ้าหากเรามีสมาธิที่ดีเป็นทุนเดิมก็จะช่วยให้เราเข้าสู่ Flow State ได้อย่างลื่นไหลและง่ายดายมากขึ้น ซึ่งการมีสมาธิที่ดีเป็นสิ่งที่ฝึกกันได้ และฝึกได้ผ่านการทำสมาธิ หรือทำ Mindfulness เช่น การนั่งสมาธิ การทำโยคะ การทำ Body Scanning การใช้เวลากับตัวเองด้วยวิธีต่าง ๆ อาทิ การจดบันทึก การเดินเล่นท่ามกลางธรรมชาติ เป็นต้น กิจกรรมการฝึก Mindfulness เหล่านี้จะสามารถช่วยให้เราโฟกัสได้ดีขึ้นและจดจ่อกับเวลาในปัจจุบันได้ดีขึ้น 

Flow State ไม่ใช่เคล็ดลับที่ใช้กับชีวิตการทำงานได้เท่านั้น แต่มันยังปรับใช้กับกิจกรรมอื่น ๆ ที่เราอยากทำได้ตามต้องการ ไม่ว่าจะเป็นการเล่นกีฬา การทำงานอดิเรก การทำงานศิลปะหรืองานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์อื่น ๆ แต่ก็ใช่ว่ามันจะเป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้ง่ายตามที่ต้องการ การใส่แรงกายและแรงใจก็เป็นเรื่องที่สำคัญเหมือนกัน ดังนั้น ถ้าหากคุณรู้สึกว่า ทำไมเราเข้า Flow State ไม่ได้สักที? ขอให้รับรู้ว่าเรื่องแบบนี้มันไม่ง่ายแต่ฝึกฝนกันได้ ขอให้รักษามาตรฐานให้อยู่ในระดับที่คงที่เข้าไว้ และค่อย ๆ ผลักตัวเองให้ไปไกลกว่าเดิมด้วยสเตปเล็ก ๆ ก็ได้ ถึงแม้ว่ามันจะเป็นก้าวเล็ก ๆ แต่ก็ถือเป็นการวิธีการพัฒนาตัวเองเพื่อเป็นตัวเองที่เก่งขึ้นในอีกรูปแบบหนึ่งเช่นเดียวกัน

อ้างอิง

MSEd, K. C. (2023, March 28). How to Achieve a State of Flow. Verywell Mind.

What Is a Flow State and What Are Its Benefits? – Headspace. (n.d.). Headspace.