Caregiver Burden ปัญหาสุขภาพจิตของ “ผู้ดูแล Caregiver” เพราะผู้ดูแลก็ต้องได้รับการดูแลเช่นเดียวกัน

ในครอบครัวเอเชีย ซึ่งรวมถึงครอบครัวคนไทยด้วย ส่วนใหญ่แล้วเราคุ้นเคยกับธรรมเนียมที่คนอายุน้อยกว่าต้องดูแลผู้สูงอายุในครอบครัวตนเอง เนื่องด้วยค่านิยมเรื่องความกตัญญูต่อบุพการีที่ส่งต่อมาจากคนรุ่นก่อน เราจึงมีสังคมและครอบครัวที่ให้ความสำคัญกับการดูแลผู้สูงอายุเป็นอย่างมาก

แต่เมื่อพูดถึงครอบครัวแล้ว ใช่ว่าทุกครอบครัวจะมีความอบอุ่น เข้าใจกันดี และเป็นกันเองอย่างที่ควรจะเป็น กลับกันครอบครัวกลายเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยความทุกข์ ความขมขื่น และความอึดอัดแทน สำหรับบางครอบครัวแล้ว ผู้สูงอายุในบ้านไม่ใช่คนน่ารักเท่าไหร่ และถ้าหากมีปัจจัยเรื่องความเปลี่ยนแปลงทางด้านกายภาพและด้านจิตใจเข้ามาที่อาจส่งผลให้พวกเขาเป็นคนที่รับมือยากและสร้างความลำบากใจได้มากขึ้น ซึ่งนั่นจะสร้างปัญหาให้กับ “ผู้ดูแล” หรือ Caregiver 

วันนี้เราจะมาดูกันว่า ผู้ดูแล หรือ Caregiver ผู้อยู่เบื้องหลังทุกข์สุขของการดูแลผู้อื่น ว่าพวกเขามีปัญหาอะไรบ้างซุกซ่อนอยู่บ้าง และมีประเด็นสุขภาพจิตอะไรบ้างที่น่าเป็นห่วงบ้าง

นิยามของ ผู้ดูแล Caregiver

ตามคำนิยามที่ APA (American Psychological Association) หรือ องค์การนักจิตวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกาได้ระบุไว้ว่า ผู้ดูแล หรือ Caregiver หมายถึง ผู้ที่ให้การช่วยเหลือแก่บุคคลที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ อาทิ ผู้พิการ ผู้ป่วย หรือผู้มีโรคประจำตัวบางอย่าง ซึ่งผู้ดูแลนี้สามารถเรียกอีกชื่อได้ว่า Primary Caregiver 

ในส่วนของ Caregiver Burden ได้ให้ความหมายไว้ว่า เป็นภาวะเครียดหรือประสบการณ์ความเครียดที่คนในครอบครัวได้รับจากการดูแลผู้ป่วยในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นมีผู้พิการที่มีปัญหาทางด้านสภาพร่างกายหรือสภาพจิตใจ หรือผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวต่าง ๆ 

จากความหมายที่ระบุไว้ข้างต้น ทำให้เราเห็นภาพชัดเจนขึ้นว่า ผู้ดูแล หรือ Caregiver มักหมายถึงคนในครอบครัวมากกว่าผู้ทำอาชีพในการเป็น Caregiver และชี้ให้เห็นว่า การดูแลผู้ป่วยในครอบครัวที่มีปัญหาทางสภาพร่างกายและจิตใจนั้นสามารถสร้างความลำบากทางกายและทางใจให้กับผู้ดูแลได้ไม่น้อยเลยทีเดียว

ปัญหาสุขภาพจิตของ ผู้ดูแล Caregiver

  • ด้านร่างกาย

ในวัน ๆ หนึ่งผู้ดูแลมีหน้าที่ต้องดูแลผู้ป่วยในเวลาที่เรียกได้ว่า แทบจะตลอดเวลา เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่จำเป็นต้องดูแลคือผู้ป่วยที่ช่วยเหลือตัวเองได้น้อยมาก เมื่อความสามารถในการดูแลตัวเองน้อยลง จึงเป็นหน้าที่ของผู้ดูแลในการรับผิดชอบชีวิตส่วนใหญ่ของพวกเขา ตั้งแต่ตื่นนอนไปจนถึงเข้านอน ด้วยความที่การดูแลกินเวลาค่อนช้างมาก จึงอาจทำให้ผู้ดูแลเหนื่อยล้าได้ง่าย โดยเฉพาะในช่วงที่ผู้ป่วยมีอาการไม่คงที่ อาจทำให้ผู้ดูแลเกิดความเครียดจนส่งผลกระทบต่อการนอนหลับ ทำให้นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอได้ ซึ่งการนอนไม่พอก็ส่งผลโดยตรงกับการมีร่างกายเหนื่อยล้าและทำให้ร่างกายไม่แข็งแรง แถมป่วยได้ง่ายอีกด้วย

  • ด้านสภาพจิตใจ

เมื่อความเหนื่อยล้าทางกายเกิดขึ้น ความเหนื่อยล้าทางใจก็ปรากฏมาให้เห็นเช่นเดียวกัน การดูแลผู้ป่วยเป็นเรื่องที่สร้างความตึงเครียดได้ง่ายเลยทีเดียว เพราะการดูแลผู้ป่วยก็คือการรับผิดชอบดูแลชีวิตของคนคนหนึ่ง จึงสามารถทำให้เกิดความกดดันและความกังวลขึ้นได้ง่ายหากผู้ป่วยมีอาการที่ผิดปกติออกไป รวมถึงความตึงเครียดนี้ยังทำให้ผู้ดูแลจำเป็นต้องจดจ่อกับผู้ป่วยมากเกินไปจนไม่ได้สนใจความเป็นอยู่ของตัวเอง เพิกเฉยสุขภาพกายและสุขภาพใจของตัวเองในการทุ่มเทดูแลผู้ป่วยจนลืมดูแลตัวเอง ไม่มีเวลาไปผ่อนคลายหรือไปทำกิจกรรมที่ชอบ ในบางกรณีอาจทำให้เกิดความแปรปรวนทางด้านอารมณ์และเกิดความรู้สึกสิ้นหวังในชีวิตขึ้นมาได้ เพราะการดูแลผู้ป่วยทำให้ผู้ดูแลแทบจะไม่มีชีวิตเป็นของตัวเองเลย

  • ด้านสังคม

เนื่องจากการดูแลผู้ป่วยนั้นคือการดูแลแทบจะตลอดเวลา ทำให้ผู้ดูแลไม่สามารถออกไปใช้ชีวิตได้อย่างเคย ทำให้ขาดการติดต่อกับกลุ่มสังคมของตัวเอง เช่น อาจตัดขาดกับกลุ่มเพื่อน อาจได้ใช้เวลากับคนรักน้อยลง ได้ดูแลลูกน้อยลง ได้ออกไปเที่ยวน้อยลง ซึ่งการขาดการติดต่อกับกลุ่มคนของตัวเองนี้อาจส่งผลให้เกิดความเครียดได้ง่าย เพราะขาดความช่วยเหลือจากกลุ่มคนของตัวเองหรือสังคมของตัวเอง

วิธีดูแลสุขภาพจิตของ ผู้ดูแล Caregiver 

1. หาเวลาดูแลตัวเอง

การหาเวลาดูแลเองเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับทุกคน โดยเฉพาะคนที่มีเวลาดูแลตัวเองไม่มากนักอย่างผู้ดูแล ถึงแม้ว่าภาระหน้าที่ในการดูแลผู้ป่วยจะเป็นสิ่งที่สำคัญมาก แต่อย่าลืมว่าตัวคุณเองก็สำคัญเช่นกัน ดังนั้น ลองหาแนวทาง ลองจัดสรรเวลาในการดูแลตัวเอง เริ่มจากสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ได้เช่นกัน อาทิ ดื่มน้ำให้มากขึ้น ทานข้าวให้ครบ 3 มื้อ ออกกำลังกายวันละ 10 นาที สิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้นี่แหละที่จะช่วยให้เรากลับมามีความสุขกับตัวเองได้บ้างไม่มากก็น้อย

2. มองหาตัวช่วย

หากครอบครัวของคุณเป็นครอบครัวใหญ่ ลองขอความช่วยเหลือจากญาติคนอื่น ๆ ให้มาร่วมแรงร่วมใจดูแลผู้ป่วยในบ้านไปด้วยกัน เพราะหน้าที่ในการดูแลผู้ป่วยเป็นสิ่งที่ตึงเครียดและเหนื่อยมาก อีกทั้งนยังเป็นหน้าที่ที่สร้างความแตกแยกให้กับครอบครัวมานักต่อนัก ส่วนหนึ่งเกิดจากการไม่พูดคุยสื่อสารกัน ลองคุยกันเพื่อแบ่งเบาภาระให้มากขึ้น และช่วยเหลือเกื้อกูลกันให้มากขึ้นอาจช่วยลดความตึงเครียดลงไปได้

แต่ถ้าหากเป็นครอบครัวเล็ก อาจเลือกที่จะจ้างผู้ดูแลเพิ่มหรือขอความช่วยเหลือจากคนที่ไว้ใจได้หรือสถานพยาบาลใกล้เคียง เพื่อให้คุณได้พักหายใจสักเล็กน้อย อย่าลืมว่าตัวคุณเองก็สำคัญเช่นกัน

3. ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ

บางครั้งการดูแลผู้ป่วยอาจสร้างบาดแผลทางใจได้มากกว่าที่คิด และอาจส่งผลให้เรากลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้ยาก ปัญหานี้สามารถจัดการได้ด้วยการปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับการรักษาทาจิตวิทยาต่อไป เช่นอาจต้องเข้ารับการบำบัด หรือเข้ารับการปรึกษากับนักจิตวิทยาเป็นระยะเวลาหนึ่ง เป็นต้น ซึ่งการรับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้สามารถช่วยให้มีอาการที่ดีขึ้นได้ 

การเป็นผู้ดูแล หรือ Caregiver ไม่ใช่เรื่องง่าย นอกจากจะต้องดูแลผู้ป่วยแล้ว ผู้ดูแลยังต้องแบกรับความเป็นอยู่ของตัวเองดีกด้วย หากรู้สึกว่าการดูแลผู้ป่วยเริ่มทำให้เราเริ่มเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีไม่ดีนั้น ขอให้หันมาดูแลตัวเองให้มากขึ้น และมองหาความช่วยเหลือที่ไว้ใจได้เพื่อแบ่งเบาภาระให้มีความตึงเครียดน้อยลงนั่นเอง

อ้างอิง

Professional, C. C. M. (n.d.). Caregiver Burnout. Cleveland Clinic.