จิตวิทยาเป็นศาสตร์หนึ่งที่มีการผนวกความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์เข้ากับความรู้ทางด้านสังคมศาสตร์เข้าด้วยกัน ด้วยความที่ศาสตร์ทั้ง 2 นี้ต่างก็มีแขนงย่อยมากมาย แน่นอนว่านั่นทำให้จิตวิทยาก็มีหลากหลายรูปแบบและหลากหลายแขนงด้วยกัน หนึ่งในนั้นคือ “จิตวิทยาการปรึกษา” ที่เป็นทั้งสาขา วิธีการและกระบวนการทางจิตวิทยาที่ช่วยทำให้ผู้เข้ารับการรักษามีอาการที่ดีขึ้นได้ รวมถึงเป็นหนึ่งในวิธีการรักษาที่ใช้กันอย่างแพร่หลายมากที่สุดวิธีการหนึ่งด้วย วันนี้เราจะไปทำความรู้จักกับ “จิตวิทยาการปรึกษา” ให้มากขึ้นกัน
จิตวิทยาการปรึกษา Counseling Psychology คืออะไร?
หลาย ๆ คนน่าจะคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีว่า กระบวนการรักษาทางจิตวิทยานั้นน่าจะใช้สำหรับผู้ป่วยที่มีความผิดปกติทางด้านจิตใจหรือผู้ป่วยที่มีปัญหาทางด้านสุขภาพจิตเป็นหลัก ซึ่งเป็นเรื่องที่จริงแท้แน่นอนว่ากระบวนการทางจิตวิทยาก็ต้องใช้รักษาผู้ที่มีปัญหาทางสุขภาพจิต แต่นั่นไม่ได้แปลว่า คนทั่วไปที่มีปัญหาทางสุขภาพจิตที่ไม่ถึงขั้นเป็นโรคจะไม่ได้ใช้กระบวนการทางจิตวิทยาเหล่านี้เช่นกัน ซึ่งหมายความว่า กระบวนการทางจิตวิทยาก็มีการใช้ในการช่วยดูแลรักษาสุขภาพจิตเบื้องต้นกับคนทั่วไปเช่นกัน ซึ่งนั่นคือหน้าที่ของ “จิตวิทยาการปรึกษา” นั่นเอง
จิตวิทยาการปรึกษาเป็นจิตวิทยาแขนงหนึ่งที่ให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์ และเพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพจิตรุนแรงในอนาคต โดยมีการคำนึงถึงความแตกต่างของมนุษย์ทางด้าน สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม ผ่านการพูดคุยให้คำปรึกษาร่วมกับนักจิตวิทยาการปรึกษา ผู้ซึ่งมีความรู้และประสบการณ์ด้านจิตวิทยาการให้คำปรึกษามาเป็นอย่างดี
กระบวนการของจิตวิทยาการปรึกษานั้นสามารถทำได้โดยการพูดคุยให้คำปรึกษาด้วยเทคนิคและกระบวนการทางจิตวิทยา เช่น Active Listening การฟังอย่างตั้งใจ การจับใจความ การสะท้อนความให้กับผู้เข้ารับการรักษา การพูดทวนคำ เป็นต้น ซึ่งเทคนิคทางด้านการให้คำปรึกษามีอีกมากมายหลายเทคนิค ซึ่งนักจิตวิทยาการปรึกษาสามารถนำเทคนิคมาปรับใช้เพื่อให้เหมาะสมกับแต่ละเคส และทำให้ผู้เข้ารับการรักษาสามารถเข้าใจตัวเองได้มากขึ้นได้เป็นไปตามขั้นตอนของกระบวนการของจิตวิทยาการปรึกษานั่นเอง
รูปแบบของจิตวิทยาการปรึกษา
จิตวิทยาการปรึกษามีวิธีการแบ่งที่หลากหลาย มีการจำแนกตั้งแต่จำนวนคนที่แตกต่างกัน ไปจนถึงทฤษฎีของจิตวิทยาการปรึกษา
- แบ่งตามจำนวนคน
- Individul Counseling : การปรึกษาอย่างเป็นส่วนตัว ซึ่งก็คือการเข้ารับการให้คำปรึกษาด้วยตัวคนเดียว
- Couple Counseling : เป็นการเข้ารับคำปรึกษาเป็นคู่ ซึ่งมักเป็นการให้คำปรึกษาระหว่างคู่รักหรือคน 2 คนที่มีปัญหากัน อาจเป็นเพื่อน หรือคนในครอบครัวก็ได้เช่นกัน
- Family Counseling : เป็นการเข้ารับคำปรึกษาแบบเป็นครอบครัวเพื่อรักษาและซ่อมแซมความสัมพันธ์ภายในครอบครัว
- Group Counseling : การเข้าปรึกษาเป็นกลุ่มที่มีคนเข้าร่วม 6-12 คน โดยคนที่มาเข้าร่วมการปรึกษาแบบกลุ่มนี้มักมีความต้องการหรือปัญหาที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งจะช่วยให้สามารถรู้สึกไม่โดดเดี่ยวและได้รับกำลังใจจากคนอื่น ๆ ที่มาเข้าร่วมการเข้ารับคำปรึกษาได้อีกด้วย
- แบ่งตามทฤษฎีของจิตวิทยาการปรึกษา
- CBT (Cognitive-Behavioral Therapy) : CBT เป็นการบำบัดที่เป็นที่แพร่หลาย โดยมีการใช้จิตวิทยาการปรึกษาผนวกกับเทคนิคในการมุ่งเน้นไปที่การปรับปรุงความคิดและแก้ไขพฤติกรรมเพื่อให้ผู้เข้ารับคำปรึกษามีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดีขึ้น
- Person-Centered Therapy : เป็นการบำบัดรูปแบบหนึ่งที่มุ่งเน้นให้ผู้เข้ารับคำปรึกษามองเห็นศักยภาพและการเติบโตที่มีความเฉพาะตัวของตนเอง ทำให้เห็นความพิเศษในการเป็นตัวของตัวเอง และการเข้าใจตัวเองที่มีความแตกต่างจากผู้อื่น โดยมุ่งเน้นให้ผู้เข้ารับคำปรึกษามองเห็นตัวเองได้เด่นชัดขึ้นและพัฒนาตนเองให้เติบโตมากขึ้น
- DBT (Dialectical Behavior Therapy) : DBT เป็นการบำบัดรูปแบบหนึ่งที่แยกย่อยมาจาก CBT โดยมีส่วนที่เพิ่มเติมมาคือการจัดการอารมณ์และจัดการความเครียดของตัวเองให้ได้ โดยที่เราจำเป็นต้องรู้ทันตัวเองและจัดการภาวะที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพนั่นเอง
ความแตกต่างระหว่าง นักจิตวิทยาการปรึกษา และ นักจิตวิทยาคลินิก
ด้วยความที่นักจิตวิทยามีหลากหลายสาขาอาชีพแยกย่อยกันไป ซึ่งแต่ละสาขาต่างก็มีความแตกต่างและความคล้ายคลึงกันไม่มากก็น้อย เราจึงยกข้อเปรียบเทียบระหว่าง นักจิตวิทยาการปรึกษา และ นักจิตวิทยาคลินิก มาให้เข้าใจได้ความแตกต่างได้ชัดมากยิ่งขึ้น ดังนี้
อาชีพความแตกต่าง | นักจิตวิทยาการปรึกษา Counselor | นักจิตวิทยาคลินิก Clinical Psychologist |
ความรู้เฉพาะทาง | จิตวิทยาการปรึกษา : มีความเชี่ยวชาญและมีความรู้ด้านการให้คำปรึกษาผ่านเทคนิคและกระบวนการให้คำปรึกษาทางจิตวิทยาแก่ผู้ใช้บริการโดยเฉพาะ | จิตเวชคลินิก : วินิจฉัยอาการ วัดผลและประเมินผลแบบทดสอบทางสุขภาพจิต ให้การบำบัด วางแผนการรักษา รวมถึงอาจมีการให้คำปรึกษาร่วมด้วย |
วุฒิการศึกษา | วท.บ. (B.Sc.) วิทยาศาสตรบัณฑิต ศศ.บ. (B.A.) ศิลปศาสตรบัณฑิต | วท.บ. (B.Sc.) วิทยาศาสตรบัณฑิต |
สถานที่ให้บริการ | สังกัดอยู่ตามโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาล องค์กรผู้ให้บริการด้านสุขภาพจิต รวมถึงการเปิดให้บริการโดยตรงจากนักจิตวิทยาการปรึกษาเอง | สังกัดอยู่ตามโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลต่าง ๆ รวมถึงในบริษัทเอกชน และองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร (NGOs) |
คลิกเพื่ออ่านบทความเพิ่มเติมเกี่ยวกับ นักจิตวิทยาการปรึกษา เพิ่มเติม
ประโยชน์ของการเข้ารับคำปรึกษา
- เป็นการเข้ารับคำปรึกษาเพื่อหาทางออกให้กับปัญหาที่เราเผชิญหน้าอยู่
- คลายความเครียด คลายความกังวล
- ได้พูดคุยกับนักจิตวิทยาการปรึกษาที่เป็นผู้เชี่ยวชาญ
- ได้เข้าใจตัวเองมากขึ้น
- กระบวนการของจิตวิทยาการปรึกษาจะผลักดันให้เราหาคำตอบของปัญหาด้วยตัวของเราเอง
จิตวิทยาการปรึกษาเป็นวิธีการและกระบวนการทางจิตวิทยาที่มีการใช้ทั้งในกรณีผู้ป่วยทางด้านสุขภาพจิตและในกรณีของคนทั่วไปที่ต้องการเข้ารับคำปรึกษา ต่อให้สุดท้ายแล้วคุณจะป่วยหรือไม่ป่วยหรือมีความผิดปกติอย่างไรก็แล้วแต่ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ปัญหาทางใจหรือความผิดปกติทางสุขภาพจิตนั้นสามารถเกิดขึ้นกับทุกคนได้ ไม่ว่าคุณจะเป็นใครก็ตาม หรือมีอาการเล็กน้อยจนเรามองข้ามขนาดไหนก็ตาม หากรับรู้ได้ว่าสภาวะทางจิตใจมีความผิดปกติขึ้น ขอให้นึกถึงการเข้ารับคำปรึกษาเป็นอย่างแรก ยิ่งรู้ตัวไว ยิ่งทำให้เราห่างไกลปัญหาทางสุขภาพจิตเรื้อรังได้มากขึ้น
อ้างอิง