นักจิตวิทยาคลินิก คือใครกันแน่? มาหาคำตอบกัน

เคยสงสัยกันไหมว่า นักจิตวิทยาที่เรามักได้ไปเจอที่โรงพยาบาล หรือเวลาเข้ารับการรักษา หรือการทำบำบัดต่าง ๆ นั้นเป็นนักจิตวิทยาในรูปแบบไหน? จริง ๆ แล้วนักจิตวิทยาที่ทำงานในโรงพยาบาลนับว่าเป็นหมอรูปแบบหนึ่งหรือเปล่า? จิตแพทย์กับนักจิตวิทยาที่ทำงานในโรงพยาบาลมีความแตกต่างกันอย่างไร? วันนี้เราจะไปทำความรู้จักกับ “นักจิตวิทยาคลินิก” นักจิตวิทยาที่ทำงานใกล้ชิดกับจิตแพทย์และมีบทบาทหน้าที่สำคัญมากในการรักษาโรคทางใจและ Mental Health สุขภาพจิตของเราให้มากขึ้นกัน

นักจิตวิทยาคลินิกคือใคร?

นักจิตวิทยาคลินิก (Clinical Psychologist) เป็นนักจิตวิทยาที่ทำงานเกี่ยวกับสุขภาพจิตโดยตรง โดยมีหน้าที่ในการสังเกตและเก็บข้อมูลทางด้านสุขภาพจิต ความคิด อารมณ์ และพฤติกรรมของผู้ป่วยเพื่อใช้ในการรักษา วินิจฉัยอาการของผู้ป่วย ประเมินและวัดผลแบบทดสอบทางสุขภาพจิตร่วมกับผู้ป่วย ให้คำปรึกษา ไปจนถึงให้การบำบัดแก่ผู้ป่วยร่วมกับสหวิชาชีพ ส่วนใหญ่มักพบนักจิตวิทยาคลินิกทำงานตามสถานพยาบาลต่าง ๆ ในแผนกจิตเวชร่วมกับจิตแพทย์ นอกจากนี้ ยังมีนักจิตวิทยาที่ทำงานคลินิกเฉพาะทางอีกด้วย อีกทั้งนักจิตวิทยาคลินิกยังมีบทบาทสำคัญในองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร (NGOs) ในการดูแลและให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วยที่เข้าถึงการรักษาทางการแพทย์ได้ยากอีกด้วย อาทิ ผู้ลี้ภัย ผู้อพยพ ผู้ด้อยโอกาส ผู้ประสบภัย และประชาชนกลุ่มเปราะบาง

แต่กว่าจะเป็นนักจิตวิทยาคลินิกได้นั้น พวกเขาต้องผ่านการฝึกฝน ทั้งการเรียนจิตวิทยาคลินิกเฉพาะทาง การฝึกงานในระดับมหาวิทยาลัย การสอบใบประกอบโรคศิลปะสำหรับนักจิตวิทยาคลินิกตามระเบียบของสมาคมนักจิตวิทยาคลินิกไทย การฝึกฝนเป็นอินเทิร์น และบรรจุเข้าเป็นนักจิตวิทยาคลินิกในระบบ ซึ่งในระหว่างนี้จำเป็นต้องมีการอัปเดตความรู้ทางจิตวิทยาคลินิกด้วยการอ่านงานวิจัยต่าง ๆ และเข้าร่วมการสัมมนาอยู่เป็นประจำอีกด้วย ดังนั้น กว่าที่นักศึกษาหรือนิสิตคนหนึ่งจะมาเป็นนักจิตวิทยาคลินิกสำหรับรักษาผู้ป่วยได้นั้นมีความท้าทายไม่แพ้สายงานทางด้านการแพทย์อื่น ๆ เลย

 หน้าที่ของนักจิตวิทยาคลินิก

  • วินิจฉัยโรคทางจิตเวชได้จากการสังเกตและเก็บข้อมูลเกี่ยวกับผู้ป่วยผ่านการทำแบบทดสอบทางจิตวิทยา โดยจำเป็นต้องมีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับโรคทางจิตเวชชนิดต่าง ๆ ตาม DSM-V หรือ คู่มือวินิจฉัยอาการผิดปกติทางจิตฉบับที่ 5 เป็นอย่างดี 
  • ประเมินและวัดผลแบบทดสอบทางสุขภาพจิตชนิดต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี เช่น Rorschach, TAT, MMPI, แบบทดสอบทางด้านบุคลิกภาพ แบบทดสอบความเครียด แบบทดสอบโรคซึมเศร้า แบบทดสอบ IQ เป็นต้น
  • มีการอัปเดตความรู้และความเข้าใจทางด้านจิตวิทยาคลินิก ข้อกำหนดของ DSM แบบทดสอบสุขภาพจิต และความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรมของผู้ป่วยอย่างสม่ำเสมอ
  • ให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับคำปรึกษา โดยใช้กระบวนการการปรึกษาทางจิตวิทยาชนิดต่าง ๆ ที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วย เช่น เทคนิค CBT, Satir, Person-centered เป็นต้น
  • ให้การบำบัดแก่ผู้ป่วยด้วยกระบวนการบำบัดทางจิตวิทยาประเภทต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับผู้ป่วย เช่น การบำบัดแบบ CBT, DBT, ACT เป็นต้น
  • ทำงานร่วมกับทำงานร่วมกับสหวิชาชีพ เช่น จิตแพทย์ นักกิจกรรมบำบัด พยาบาล และนักสังคมสงเคราะห์ เพื่อให้การรักษาที่เหมาะสมที่สุดแก่ผู้ป่วยเพื่อให้การรักษาที่เหมาะสมที่สุดแก่ผู้ป่วย

ความแตกต่างของ นักจิตวิทยาคลินิก และ จิตแพทย์

อาชีพความแตกต่างนักจิตวิทยาคลินิก
Clinical Psychologist
จิตแพทย์
Psychiatrist
แนวทางที่ใช้ในการรักษาจิตวิทยา (Psychology)ศึกษาและสังเกตพฤติกรรมมนุษย์ ให้คำปรึกษา ให้การบำบัด แก่ผู้ใช้บริการจิตเวช (Psychiatry)ศึกษา วินิจฉัย และให้การรักษาแก่ผู้ใช้บริการที่มีความผิดปกติทางสมอง 
วุฒิการศึกษาวท.บ. (B.Sc.) วิทยาศาสตร์บัณฑิต พ.บ. (M.D.) แพทยศาสตรบัณฑิต
การให้บริการวางแผนการรักษา ทำแบบทดสอบ ทำการบำบัดและให้คำปรึกษา โดยขึ้นอยู่กับอาการของผู้ใช้บริการ
ไม่สามารถจ่ายยาให้แก่ผู้ใช้บริการได้
ให้การวินิจฉัย ประเมินอาการ วางแผนการรักษา และจ่ายยาให้แก่ผู้ใช้บริการ

อ่านบทความฉบับเต็มเกี่ยวกับ ความเหมือนและความแตกต่างของนักจิตวิทยาและจิตแพทย์  

เส้นทางสู่การเป็นนักจิตวิทยาคลินิกในไทย

กว่าจะมาเป็นนักจิตวิทยาคลินิกได้ ผู้ที่สนใจจำเป็นต้องเข้ารับการศึกษาทางด้านจิตวิทยาคลินิก (Clinical Psychology) ในระดับปริญญาตรีหรือโทขึ้นไป ซึ่งมหาวิทยาลัยแต่ละที่จะมีรายละเอียดของวิชาที่มีได้มีการจัดแจงและจัดสรรว่าเป็นวิชาที่จำเป็นสำรับจิตวิทยาคลินิกตามหลักสูตรที่สมาคมนักจิตวิทยาคลินิกไทยได้ระบุไว้ เช่น วิชาปรับพฤติกรรม วิชาทฤษฎีการบำบัดต่าง ๆ วิชาการประเมินและวัดผลแบบทดสอบทางจิตวิทยา เป็นต้น

เมื่อเรียนวิชาที่จำเป็นครบแล้ว ในช่วงปีท้าย ๆ ของการเรียนจะต้องไปฝึกงานตามที่หลักสูตรกำหนดไว้ ปกติแล้วจะฝึกงานกันเป็นระยะเวลา 1 เทอมการศึกษา โดยนักศึกษาหรือนิสิตจะได้ไปฝึกงานตามโรงพยาบาลต่าง ๆ โดยในแต่ละปี แต่ละโรงพยาบาลแต่ละที่จะมีเกณฑ์การรับนักศึกษาฝึกงานที่แตกต่างกันไปตามที่บุคลากรของโรงพยาบาลเห็นสมควร ซึ่งการฝึกงานในสถานที่ทำงานจริงจะช่วยให้นักศึกษาหรือนิสิตเข้าใจและได้ฝึนฝนการปฏิบัติงานจริงร่วมกับผู้ป่วย โดยมีบุคลากรในสังกัดคอยให้คำแนะนำตลอดการฝึกงาน

เมื่อฝึกงานครบและเรียนวิชาจิตวิทยาคลินิกครบตามหลักสูตรแล้ว ขั้นต่อไปคือการสอบใบประกอบโรคศิลปะ ซึ่งถือว่าเป็นใบประกอบวิชาชีพของนักจิตวิทยาคลินิก เมื่อผ่านพ้นการสอบไปแล้ว จะต้องไปฝึกงานในระดับวิชาชีพอีกครั้งในฐานะอินเทิร์น เมื่อครบเวลาตามที่กำหนดแล้ว จะมีการเปิดรับสมัครนักจิตวิทยาคลินิกตามโรงพยาบาลต่าง ๆ ทั่วประเทศใด ซึ่งจะมีการสอบและการเข้ารับบรรจุเป็นบุคลากรทางการแพทย์ประจำโรงพยาบาลต่อไป โดยเงินเดือนเริ่มต้นของนักจิตวิทยาคลินิกถือว่าเป็นไปตามมาตรฐานของข้าราชการไทยคือโดยเฉลี่ยที่ประมาณ 15,000 บาทขึ้นไปและเพิ่มขึ้นตามระยะเวลาของอายุงานนั่นเอง นอกจากนี้ นักจิตวิทยาคลินิกที่สังกัดตามโรงพยาบาลต่าง ๆ สามารถรับงานข้างนอกเพิ่มเติมได้ตามความต้องการและความเหมาะสมอีกด้วย

ในภาพรวมแล้ว จำนวนนักจิตวิทยาคลินิกในไทยตอนนี้ยังนับถือว่าค่อนข้างขาดแคลน และมีจำนวนน้อยกว่าความต้องการในปัจจุบัน ยิ่งในปัจจุบันมีจำนวนผู้ป่วยโรคทางใจหรือโรคทางจิตเวชมีเพิ่มมากขึ้นในทุก ๆ ปี เช่น ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า หรือผู้ป่วยโรคเสพติดชนิดต่าง ๆ อาทิ เสพติดแอลกอฮอล์ เสพติดสารเสพติด จึงทำให้นักจิตวิทยาคลินิกยังถือว่าเป็นอาชีพที่ต้องการคนอีกมากเพื่อเข้ามาให้การดูแลตรงนี้