“ลูกผู้ชายห้ามร้องไห้” ค่านิยมที่กดทับผู้ชายและกดน้ำตาไม่ให้ไหล

“เป็นลูกผู้ชาย ต้องไม่ร้องไห้”

เชื่อว่า หลาย ๆ คนน่าจะเคยได้ยินประโยคนี้ผ่านหูผ่านตากันมาบ้าง และประโยคนี้อาจเป็นสิ่งที่ลูกผู้ชายหลาย ๆ คนถูกปลูกฝังให้จำขึ้นใจ แต่พอเวลาผ่านไป เมื่อเราโตขึ้น ต่อให้ไม่ว่าคุณจะเป็นเพศใดก็ตาม ไม่ว่าใครต่างมีปัญหาชีวิตและต้องการจัดการปัญหาเหล่านั้น รวมถึงจัดการอารมณ์ความรู้สึกให้ดีขึ้นอีกด้วย ซึ่งการร้องไห้ถือเป็นพฤติกรรมที่ช่วยปลดปล่อยอารมณ์และสร้างความผ่อนคลายได้ในรูปแบบหนึ่ง แต่การร้องไห้ก็ยังถือเป็นเรื่องยากสำหรับพวกเขาอยู่ดี

โดยเฉพาะเพศชายมักถูกคาดหวังให้ “ไม่ร้องไห้” เนื่องจากค่านิยมทางสังคมมองว่า การร้องไห้คือการแสดงถึงความอ่อนแอทางด้านจิตใจ ซึ่งความเป็นจริงแล้ว การร้องไห้เป็นเรื่องที่ปกติมาก มันเป็นการแสดงออกและการจัดการอารมณ์รูปแบบหนึ่งที่ “มนุษย์ทุกคนพึงมี” ด้วยค่านิยมที่เลวร้ายนี้เอง ส่งผลให้ผู้ชายหลาย ๆ คนกลายเป็นคนเก็บกด เก็บอารมณ์ ไม่แสดงอารมณ์ออกมา เมื่อถึงเวลาที่ร้องไห้ได้ อย่างเช่น รู้สึกเศร้า รู้สึกกดดัน แต่พวกเขากลับร้องไห้ไม่ออกเพราะมีการเก็บกดอารมณ์ลงลึกเข้าไปข้างในจิตใจ ทำให้ไม่สามารถร้องไห้ได้ตามปกติ ซึ่งค่านิยมที่กดทับความอ่อนไหวของลูกผู้ชายนี้มีชื่อเรียกว่า Toxic Masculinity หรือ ภาวะความเป็นชายที่ท็อกซิก Toxic หรือไม่พึงประสงค์

นอกเหนือจากผู้ชายหลาย ๆ คนต้องประสบกับปัญหาเหล่านี้แล้ว สถานะทางสังคมหรือบทบาทบางบทบาทอาจได้รับความคาดหวังมากเกินไปจนทำให้การร้องไห้เป็นเรื่องที่ไม่ดี เช่น เป็นหัวหน้านำทีม เป็นลูกคนโตของที่บ้าน ค่านิยมการห้ามร้องไห้ก็ส่งต่อมายังคนเหล่านี้เช่นกัน จนทำให้การร้องไห้ไม่ออกเป็นปัญหาที่ไม่ได้พบเจอเพียงในผู้ชายเท่านั้น

ยิ่งไปกว่านี้ ค่านิยมที่ห้ามผู้ชายร้องไห้ยังเป็นค่านิยมที่วกกลับมาทำร้ายผู้หญิงอีกด้วย ซึ่งค่านิยมนี้สะท้อนพฤติกรรมการร้องไห้ว่าเป็นพฤติกรรมที่มีความอ่อนไหว เช่นเดียวกับเพศหญิงที่มีความอ่อนไหว อ่อนแอ หรือไม่สามารถจัดการความรู้สึกตัวเองได้ ซึ่งชุดค่านิยมเหล่านี้เป็นความคิดที่ล้าหลังและสะท้อนการดูถูกดูแคลนเพศหญิงอีกด้วย ทั้ง ๆ ที่การร้องไห้เป็นเรื่องปกติสามัญของมนุษย์ทุกคนอย่างปฏิเสธไม่ได้ และเป็นพฤติกรรมที่ส่งผลดีต่อสุขภาพจิตใจเราได้อีกด้วย

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ประโยชน์ของการร้องไห้ 

แต่เรื่องนี้สามารถแก้ไขได้ เพียงอาจต้องใช้เวลาสักหน่อย อย่างแรกต้องเริ่มจากสลัดค่านิยมการห้ามร้องไห้ออกไปจากตัวเราก่อน เราต้องมีการปรับความคิดว่า การร้องไห้เป็นเรื่องธรรมดา และคนธรรมดาอย่างเราสามารถร้องไห้ได้เหมือนกัน เมื่อเรายอมรับเรื่องนี้กับตัวเองได้แล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการหาพื้นที่ที่เรารู้สึกปลอดภัยในการปลดปล่อยน้ำตาให้ไหลรินออกมา เพราะคนเราต้องมีสถานที่สักที่หนึ่งที่ทำให้รู้สึกปลอดภัยและเป็นตัวของตัวเองได้อย่างเต็มที่ ซึ่งพื้นที่ปลอดภัยนี้จะช่วยทำให้เรารู้สึกสบายใจที่จะแสดงความรู้สึกได้มากขึ้น และขั้นสุดท้ายคือการอนุญาตให้ตัวเองได้รู้สึกถึงความรู้สึกของเราอย่างเต็มที่และอย่างแท้จริง ใช้เวลากับความรู้สึกที่เกิดขึ้น ไม่ห้ามความรู้สึกตัวเอง ปล่อยให้ความรู้สึกเกิดขึ้นไปเลย ถ้ารู้สึกเศร้าก็จงรู้สึกเศร้าอย่างเต็มที่ ถ้ารู้สึกสูญเสียก็ปล่อยให้ตัวเองรู้สึกอย่างเต็มที่ การที่เรารู้สึกอะไรสักอย่างได้อย่างเต็มที่จะช่วยทำให้การร้องไห้เกิดขึ้นได้อย่างเป็นธรรมชาติมากขึ้น  

แต่ถ้าหากลองร้องไห้ด้วยวิธีที่หลากหลายแล้วแต่ก็ยังร้องไห้ไม่ออกอยู่ดี การขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญอาจเป็นทางออกที่เหมาะสม เนื่องจากเราอาจมีปัญหาทางใจที่อาจฝังรากลึงลงในจิตใจของเรามานานจนมันส่งผลให้การปลดปล่อยความรู้สึกของตัวเองกลายเป็นเรื่องยากขึ้นมาก การทำบำบัดชนิดต่าง ๆ หรือการเข้ารับคำปรึกษาจากนักจิตวิทยาและนักบำบัด จะช่วยให้เราแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุดมากขึ้นนั่นเอง

สรุปวิธีการทำให้ตัวเองร้องไห้ได้ง่ายขึ้น

  • สลัดค่านิยมการห้ามร้องไห้
  • มองหาพื้นที่ที่ปลอดภัยที่ทำให้ร้องได้อย่างเต็มที่
  • อนุญาตให้ตัวเองได้รู้สึก ได้ร้องไห้ และได้ปลดปล่อยอารมณ์ออกมา
  • เข้ารับการช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญหรือนักจิตวิทยา

เพราะการร้องไห้เป็นเรื่องที่ปกติ ธรรมดา และสามัญสำหรับมนุษย์ทุกคนอย่างแท้จริง และเป็นเรื่องที่ส่งผลต่อสภาพจิตใจและอารมณ์ของเราได้โดยตรง ดังนั้น อย่ากลัวหรือละอายใจที่จะปลดปล่อยน้ำตาที่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์เลย